เคแบงก์ ผนึก คาราบาว พัฒนาร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน”

Date:

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารร่วมลงทุนกับ “บริษัทในกลุ่มธุรกิจ คาราบาว” พัฒนาร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้ทุกคนที่อยู่ในวงจรของ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ตั้งแต่เจ้าของร้าน คู่ค้า ชาวบ้านในชุมชน สามารถจับจ่ายใช้สอยและใช้บริการการเงินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ง่ายขึ้น สร้างรายได้หมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน

การพัฒนา “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ที่ธนาคารมีแผนดำเนินการร่วมกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่

1.ส่งเสริมศักยภาพของร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ให้เป็นร้านสะดวกซื้อชุมชนที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านและระบบการชำระเงินต่างๆ

2.เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค้าขายต่างๆ โดยธนาคารนำข้อมูลการจับจ่ายในชีวิตประจำวันมาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ประจำ หรือเจ้าของร้านค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนภายในร้าน

3.เป็นจุดให้บริการธุรกรรมการเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันกับคนในชุมชน เช่น บริการถอนเงิน จ่ายบิล เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มบริการดิจิทัลต่างๆ เช่น สแกนจ่ายด้วยคิวอาร์ โค้ด ซึ่งคนในชุมชน ส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยแล้ว เป็นผลจากนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐในช่วงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

นายพัชร กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ จะทำให้ธนาคารมีจุดบริการเคแบงก์ เซอร์วิส (KBank Service) เพิ่มขึ้นอีก 30,000 จุด จากเดิมมีจำนวนกว่า 27,000 จุด เพิ่มช่องทางการให้บริการได้ลึกถึงแหล่งชุมชนและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน ธนาคารมีช่องทางให้บริการผ่านสาขาจำนวน 830 สาขา ตู้เอทีเอ็มและตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติ รวม 11,000 ตู้ และ K PLUS ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 18 ล้านราย

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของธนาคารรวมกว่า 15,000 ล้านบาท ครอบคลุมการร่วมลงทุนผ่านตราสารการลงทุนที่ให้สิทธิลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด และเตรียมลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อให้บริการสินเชื่อเต็มรูปแบบ รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินให้กับ “บริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว”

นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่าง “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” กับธนาคารกสิกรไทย ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างกำลังซื้อให้กับชุมชน และความแข็งแกร่งให้กับ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ในการให้บริการแก่ผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของร้านซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ในปัจจุบัน และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเปิดร้านรายอื่นๆ ที่จะเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ในอนาคต ตลอดจนซัพพลายเออร์และผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ในตลาดค้าปลีกได้มากยิ่งขึ้น

ยุทธศาสตร์ของบริษัทในการพัฒนา “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” นั้น บริษัทไม่ได้มองเพียงการเข้ามาพัฒนาและปรับร้านโชห่วยให้มีความทันสมัยเท่านั้น แต่วางเป้าหมายให้ร้านถูกดีฯ เป็นเสมือน “แพลตฟอร์ม” และ “โครงข่าย” ที่เชื่อมโยงกันเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนทั่วประเทศ และเชื่อมต่อผู้ผลิต และผู้ให้บริการต่างๆ ที่คนในชุมชนเคยเข้าถึงได้ยาก อาทิ บริการทางการเงิน, เป็นจุดรับส่งสินค้าในชุมชน, บริการสินค้าทางการเกษตร ฯลฯ ปัจจุบันมีจำนวนร้านที่เปิดแล้วกว่า 5,000 ร้านค้าทั่วประเทศ

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

ออมสิน ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25%

ออมสิน ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% มีผล 1 พ.ย. 67 ตรึงดอกเบี้ยเงินฝาก ตามภารกิจส่งเสริมการออม

เร่งประชุม คกก. ไตรภาคี ถกขึ้นค่าแรง​ 400 บาท ทันที​ 

ปลัดแรงงาน​ ยัน​ เร่งประชุม คกก. ไตรภาคี​ ถกขึ้นค่าแรง​ 400 บาททันที​ หลังแต่งตั้งอธิบดีชุดใหม่จบ​ ไม่รับปากทันปี​ 67 แต่จะทำอย่างเต็มที่

“พิชัย” ถกสวิส-นอร์เวย์ เร่งปิดดีล FTA เอฟตา สิ้นปีนี้

“พิชัย” ถกสวิส-นอร์เวย์ เร่งปิดดีล FTA เอฟตา สิ้นปีนี้ เพิ่มมูลค้าการค้าไทย

รทสช. ค้านสุดตัว กม.นิรโทษกรรม ต้องไม่รวมคดีม.112

รทสช. ค้านถึงที่สุด ลั่น กม.นิรโทษกรรมต้องไม่รวมคดีม.112 ชี้ เป็นกฎหมายปกป้องสถาบันฯ ความมั่นคงของชาติไม่เกี่ยวแรงจูงใจการเมือง