Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในช่วง 2551-2552 ที่มีจุดเริ่มต้นจากวิกฤต Subprime แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบการเงินโลกและกระทบความเชื่อมั่นของตลาดต่อธุรกิจธนาคารโดยรวม โดยเฉพาะธนาคารในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ส่งผลให้อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชีลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่ายาวนาน
แม้ว่าตลาดกลับมามีมุมมองที่ดีขึ้นต่อธุรกิจธนาคารภายหลัง
จากช่วง 2551-2555 แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างจากวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งการระบาดของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อตั้งแต่ต้นปี 2563 และปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ทำให้ตลาดมีความกังวลต่อศักยภาพของธุรกิจธนาคารอีกครั้งหนึ่ง
ตลาดมองศักยภาพของธนาคารต่างกันจากความสามารถในการทำกำไรและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีแนวโน้มที่จะให้มูลค่าที่ดีกับธนาคารที่ทำกำไรได้ดีกว่าและมีความเสี่ยงด้านความยั่งยืน (ESG Risk) ต่ำกว่า
Krungthai COMPASS มองว่าธนาคารพาณิชย์ไทยจำเป็นต้องดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง พร้อมทั้งเพิ่มมูลค่าด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้บริการที่มากกว่าการเป็นธนาคาร (Beyond Banking) รวมถึงการขับเคลื่อนธุรกิจเชิงรุกโดยยึดหลักการ ESG เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน