ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกปี 2566 มีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 10,252 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 4,022 ล้านบาท และ EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 161,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,947 ล้านบาท หรือ 7.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการลงทุน 119,018 ล้านบาท
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศทั้งสิ้น 60,759 ล้านบาท โดยจำแนกเป็นสินเชื่อคงค้างในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และ New Frontiers ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่ EXIM BANK ให้การสนับสนุน จำนวน 50,182 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 31% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด
นอกเหนือจากการให้สินเชื่อแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน EXIM BANK ยังเร่งเสริมสร้างความมั่นใจและภูมิคุ้มกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยผ่านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 50,342 ล้านบาท
จากการมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งด้านสินเชื่อและประกัน ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 EXIM BANK มีจำนวนลูกค้า 6,191 ราย เพิ่มขึ้นถึง 23.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นลูกค้า SMEs มากถึง 83.91% สะท้อนการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนและอยู่เคียงข้าง SMEs ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดย EXIM BANK ร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดตัว “สินเชื่อ One SMEs” เงินทุนหมุนเวียนทั้งก่อนและหลังการส่งออก เพื่อลดระยะเวลาการทำสินเชื่อ SMEs และ “คลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็ก” เพื่อตรวจสุขภาพทางการเงินและให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาธุรกิจอย่างครบวงจร โดยมีผู้เข้ารับคำปรึกษาจำนวน 670 ราย
นอกจากนี้ ยังออก “สินเชื่อ EXIM Green Start” พัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรและใส่ใจในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง EXIM BANK เป็นธนาคารแรกที่ได้เริ่มปรับใช้ Thailand Taxonomy กับสินเชื่อ โดยใช้ความเชี่ยวชาญของธนาคารในด้านการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุน ทั้งมิติความรู้ โอกาสทางธุรกิจ และเงินทุน เพื่อ “เติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงินทุน” ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างมั่นคงและเติบโตในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคมของปี 2566 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการประมาณ 24,000 ราย ด้วยวงเงินรวมกว่า 91,200 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน EXIM BANK ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 5,168 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 เท่ากับ 3.20% และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 13,151 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 254.45% ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 EXIM BANK มีกำไรก่อนสำรอง 678 ล้านบาท และกำไรสุทธิเท่ากับ 305 ล้านบาท
“ในปี 2566 EXIM BANK ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve และ BCG Economy) สอดรับกับนโยบายรัฐบาลและมาตรฐานสากล ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนต่อไป” ดร.รักษ์ กล่าว