KJL ยื่นไฟลิ่ง เสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 30 ล้านหุ้น

Date:

นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อประกอบการยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก ( IPO) จำนวนไม่เกิน 30,000,000 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.86% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม นับเป็นการสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจให้เติบโตตามเป้าหมาย ตลอดจนขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน และเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ร่วมเติบโตไปพร้อมกับ KJL

“KJL ประกอบธุรกิจหลักรับผลิตและจำหน่ายตู้ไฟ รางไฟ และอุปกรณ์ที่ใช้เดินสายไฟทุกชนิดมากว่า 20 ปี ทำให้ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าเป็นอย่างดี อีกทั้งยังเริ่มขยายตัวไปยังธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดการเติบโตในอนาคต” นายพายุพัด กล่าว

ด้านนายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการผลิตตู้ไฟสวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟ และงานโลหะแผ่นแปรรูปสั่งผลิตพิเศษ Sheet Metal Works ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย โดยทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มากถึง 26 ปี ในการผลิตผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า KJL รวมถึงการผลิตตามคำสั่งซื้อ (Made-to-order) จนเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าชั้นนำระดับโลก ในการให้ลิขสิทธิ์แก่ KJL ในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตู้สวิทช์บอร์ดไฟฟ้า รุ่น Prima iPM

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุน แบ่งใช้เป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย 1. ลงทุนก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักร เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อและการให้บริการในอนาคต 2. ใช้ในการลงทุนในระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงมลพิษจากการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าในองค์กรเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 3.นำไปลงทุนศูนย์นวัตกรรม (KJL Innovation Campus) เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสการได้เปรียบทางการแข่งขัน 4. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ และ 5. ชำระคืนเงินกู้ในระยะสั้น เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงินให้กับบริษัทฯ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาของบริษัทฯ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562-2564 มีรายได้จากการขาย 753.67 ล้านบาท 708.18 ล้านบาท และ 845.78 ล้านบาทตามลำดับ เติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 3.92% ส่วนกำไรสุทธิ อยู่ที่ 19.49 ล้านบาท 90.97 ล้านบาท และ 94.04 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่รายได้จากการขายในงวดไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 245.24 ล้านบาท และกำไรสุทธิ อยู่ที่ 28.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.82% จากงวดเดียวกันในปี 2564

“การเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) นับเป็นก้าวที่สำคัญในการต่อยอดศักยภาพและขยายธุรกิจให้แข็งแกร่ง พร้อมขับเคลื่อนให้ธุรกิจสามารถคว้าโอกาสใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตของบริษัทอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน” นายเกษมสันต์ กล่าว

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

อุตสาหกรรม ทูน่า สดใสคาดในปี 2025 ดีขึ้นต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC วิเคราะห์ อุตสาหกรรม ทูน่า ในปี 2025 คาดมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องจะขยายตัวที่ 6.2%

เปิดผลงานเด่น “เอกนัฏ” ปี 67

เปิดผลงานเด่น “เอกนัฏ” ปี 67 “ปลดล็อคโซลาร์รูฟ-เข้มโรงงานสีเทา-เซฟยานยนต์ไทย“

ขยายระยะเวลาให้ “เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต” เร่งแก้ไขฐานะการเงิน

บอร์ด คปภ. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลา “เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต” เร่งแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568

สรรพสามิต ปรับโครงภาษี เก็บภาษีคาร์บอน-แบตเตอรี่ 

สรรพสามิต ปรับโครงภาษี เก็บภาษีคาร์บอน-แบตเตอรี่ เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพแข่งขันของประเทศไทย