นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ไตรมาส 4 ปี 2565 หนี้สินครัวเรือน มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% ชะลอตัวจาก 4.0% ของไตรมาสที่ผ่านมา แต่เมื่อปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้น 1.1% จากไตรมาสก่อน และมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 86.9%
ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนทรงตัว โดยสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.62% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้ยังมีความเสี่ยงในสินเชื่อรถยนต์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SMLs) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 13.7%
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนที่เป็นหนี้เสียที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ยังมีมูลค่าสูงและมีบัญชีหนี้เสียเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านบัญชี มูลค่า 3.4 แสนล้านบาท ลดลง 4% แต่ ถึงหนี้เสียที่มาจากสินเชื่อส่วนบุคคลยังมีมูลค่าสูง 7.6 หมื่นล้านบาท และมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านบัญชี
ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการเร่งรัดแก้ไขปัญหา