Kearney (เคียร์เน่) บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์ เผยการสร้างแผนการเติบโตในระยะต่อไปผ่านแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและฉากทัศน์การพัฒนาในอนาคตที่เป็นไปได้ของเศรษฐกิจโลกที่ประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้ได้ และประเด็นแนะนำที่ภาคธุรกิจไทยสามารถทำเพื่อส่งเสริม regenerative transformation
ในอีก 5 ปีข้างหน้า เคียร์เน่ คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถแซงหน้าเศรษฐกิจโลกและก้าวข้ามผ่านผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากปี 2566 ที่ผ่านมา ประกอบกับการเติบโตของ GDP เฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงปี 2561 – 2565 นั้นมีการปรับตัวสูงขึ้นถึง 8% ซึ่งมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกอีกด้วย โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังคงเป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก และได้รับการจัดอันดับให้เป็นภูมิภาคที่มีอุตสาหกรรมการผลิตที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกในปี 2565 และคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจรวมใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ในปี 2570
ข้อมูลจาก 2023 Kearney FDI Confidence Index® เผยว่านักลงทุนต่างชาติยังคงมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยติดอยู่ใน 5 อันดับแรกสำหรับกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่เหล่านักลงทุนให้ความสนใจในปี 2565 ที่ผ่านมา
เพื่อเป็นการสร้างแผนการเติบโตในระยะต่อไปผ่านแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทางทีม Kearney แนะนำถึง 5 ปัจจัยหลักที่เป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทย จากรายงาน Global Economic Outlook 2024 – 2028 ซึ่งประกอบไปด้วย ปัญหาและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Volatility), ผลกระทบจากผลการเลือกตั้งในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก (Social Instability), การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Environmental Degradation), การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยี AI (Tech Disruption), และการบริหารจัดการทรัพยากรที่สำคัญต่าง ๆ (Resource Stress)
จากรายงานดังกล่าว เคียร์เน่ เผยถึง 4 ฉากทัศน์การพัฒนาในอนาคตที่เป็นไปได้ของเศรษฐกิจโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่ประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้ได้ ดังต่อไปนี้:
1 Age of Regeneration: ธุรกิจชั้นนำในแต่ละประเทศจะประยุกต์ใช้นวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
2 Stop-Gap Solutions: ธุรกิจชั้นนำมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นแทนที่จะแก้ไขทั้งระบบเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้เกิดการเติบโตที่ต่ำกว่าแนวโน้มที่ควรจะเป็น
3 Great Fragmentation: การผสมผสานระหว่างความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มากขึ้นและปัญหาในการรับมือและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาแทรกแซงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ช้า
4 Innovation War: การแข่งขันกันอย่างเข้มข้นของประเทศต่างๆเพื่อเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในอนาคต โดยเริ่มจาก AI และ quantum computing ทำให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นควบคู่ไปกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เคียร์เน่ ยังเผยอีกว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตของ GDP ได้ถึง 1.8-4.9% ต่อปี ขึ้นอยู่กับแนวทางและฉากทัศน์การพัฒนาประเทศ โดยเชื่อว่าหากประเทศไทยขับเคลื่อนด้วย “Age of Regeneration” ประเทศจะสามารถมีการเติบโตของ GDP ได้มากถึง 4.9% ซึ่ง Regeneration เป็นกลยุทธ์ในการมองว่าองค์กรเป็นศูนย์รวมของระบบธุรกิจและระบบโลก เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ ทาง Kearney แนะนำ 5 มาตรการที่ภาคธุรกิจไทยสามารถทำเพื่อส่งเสริม regenerative transformation ได้แก่ เตรียมพร้อมด้วยการคาดการณ์สถานการณ์ (scenario planning), ยืดหยุ่นต่อความไม่แน่นอน โดยลงทุนในโครงการใหม่ที่หลากหลาย, ส่งเสริมการนำ AI มาใช้, สร้างข้อได้เปรียบทางความสามารถของบุคลากร, และ เปิดโอกาสสำหรับ ESG ซึ่งอ้างอิงจากรายงานล่าสุดของ Kearney ในหัวข้อ “Regenerate: an Asia Pacific study on sustainability and beyond” โดยผู้นำธุรกิจส่วนมากในประเทศไทยมองว่าการสร้างความยั่งยืนทางด้าน ESG เป็นการลงทุนที่ใช้เงินและเป็นความเสี่ยง แทนที่จะมองว่าเป็นโอกาสสร้างคุณค่าให้ธุรกิจ ปัจจุบันคือช่วงเวลาที่ดีสำหรับธุรกิจในประเทศไทยที่จะเปิดรับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน