หวั่น แรงงานพม่า 3 แสนคนหลุดจากระบบ

Date:

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้สังหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมการจัดหางานเพื่อแสดงความกังวลใจและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย กรณีเอกสารแรงงานข้ามชาติและการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยเนื้อหาบางส่วนระบุว่า    สถานการณ์ต่อเนื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผลให้เกิดการปิดด่านชายแดนไทย-พม่า และสถานการณ์การรัฐประหารในประเทศเมียนมา วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และความรุนแรงด้านการสู้รบในพื้นที่ชายแดน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การสู้รบที่จังหวัดเมียวดีเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง ส่งผลต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง

หนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรงแรงงานระบุว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เครือข่ายประชากรข้ามชาติ  ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนจัดหางานจังหวัดตาก ตัวแทนแรงงาน ภาคประชาสังคม  ได้มีเวทีแลกเปลี่ยน เพื่อในการจัดทำข้อเสนอระบบการจ้างงานภายใต้การทบทวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยมีข้อกังวลใจดังนี้ 1.แรงงานข้ามชาติจำนวนมากกำลังหลุดออกจากระบบ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย และเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับ 

2.มีความเสี่ยงที่จะเกิดช่องว่างการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอื้อประโยชน์ให้เกิดเอกสารการคุ้มครองภายใต้ระบบการคอรัปชั่น 3.แรงงานไม่สามารถดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) ที่ศูนย์จัดทำเอกสารศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ ที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่   มติคณะรัฐมนตรีกำหนด วันที่ 31 ตุลาคม 2567 โดยศักยภาพการให้บริการศูนย์ยังมีความไม่สอดคล้องกับจำนวนแรงงานที่ยังตกค้าง 

4.เสถียรภาพในการจัดการด้านเอกสารประจำตัวแรงงานของประเทศต้นทางที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ ในขณะที่ยังมีจำนวนแรงงานที่ยังตกค้างอยู่จำนวนมาก และระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีกำหนดก่อนเวลา4 เดือน 5.อัตรากำลังแรงงานขาดแคลน ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติในธุรกิจ 6.ความเสี่ยงเรื่องการถูกหลอกจากกระบวนการจัดหางาน พบว่ามีการจ่ายเงินให้นายหน้าดำเนินการให้ แต่เมื่อกระบวนการไม่ผ่านหรือติดขัดก็ไม่ได้รับเงินคืน ไม่มีการรับรองหรือยันยันได้ว่าแรงงานจะได้เอกสารตามที่นายหน้าชี้แจงไว้ในประเทศต้นทาง บางกรณีภายหลังที่เข้ามาทำงานพบว่า ประเภทงานที่ทำไม่ตรงตามสัญญา 

เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้เสนอแนะดังนี้ 1.พิจารณาการบริหารจัดการในการขึ้นทะเบียนแรงงานรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service ) 2.พิจารณาการบริหารจัดการแรงงานฝ่ายเดียวในช่วงที่ประเทศเมียนมาอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง  เพื่อการบริหารจัดการแรงงานที่หมุนเวียนอยู่ในระบบประมาณ 3,000,000 คน โดยลดความเสี่ยงจากการหลุดออกจากระบบ 3.พิจารณาการนำเข้าแรงงานระบบMOUในช่วงที่ประเทศเมียนมาขาดเสถียรภาพในการบริหารจัดการทั้งนี้เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ด้านแรงงาน ที่จะถูกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ 

4.พิจารณาการขึ้นทะเบียนโดยบริหารจัดการด้วยบัตรสีชมพู ในช่วงระหว่างที่สถานการณ์ประเทศเมียนมา ขาดเสถียรภาพในการบริหารจัดการ โดยเป็นการเสนอสถานการณ์พิเศษ ซึ่งเคยถูกพิจารณาแล้วในปี 2558 โดยพิจารณาระยะเวลา 2 ปี เพื่อประเมินสถานการณ์ 5.ขอให้กระทรวงแรงงานมีการพิจารณาตามสถานการณ์และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากอัตรากำลังและประเภทงานที่เข้ามาทดแทนประเภทงานที่ผู้ประกอบการต้องการใช้กำลังแรงงานข้ามชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า  แรงงานพม่าที่จดทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรีร่วม 3 แสนคนเสี่ยงหลุดจากระบบภายในสิ้นตุลาคม 2567 เพราะปัญหาเรื่องการทำเอกสาร CI ของเมียนมา ส่วนหนึ่งหลุดเพราะเป็นชนกลุ่มน้อย หรือถูกสงสัยว่ามีบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงเพราะระบบการทำเอกสารมีความยุ่งยากล่าช้า ซึ่งทางการเมียนมากับกรมการจัดหางาน ได้ยุบศูนย์ CI เหลือเพียงศูนย์เดียวที่สมุทรสาคร ซึ่งต้องทำงานหนักเฉลี่ยวันละกว่า 2 พันคน ทั้งๆที่ศักยภาพการดำเนินของศูนย์ต่อวันไม่ถึงพัน

“ระเบิดเวลาลูกใหญ่อยู่ที่หลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 คนงานพม่ามากกว่า 2 ล้านจะต้องต่อใบอนุญาตทำงาน ซึ่งทิศทางของกรมการจัดหางาน อยากให้ทำ MOU แบบพิเศษที่ชายแดน แต่แรงงานพม่าส่วนใหญ่ยังกังวลใจเรื่องการเกณฑ์ทหารในพม่า พวกเขาไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยจากสถานการณ์สู้รบในพม่า และยังกังวลใจเรื่องการทำเอกสารหนังสือเดินทางที่จะต้องทำใหม่ ว่าทำได้หรือไม่ เพราะมีเรื่องการเสียภาษี 2% และบังคับโอนเงินกลับบ้านผ่านธนาคารในกำกับรัฐบาลทหารเมียนมา 25% ของค่าจ้าง และมีบทลงโทษห้ามออกนอกประเทศ และไม่ออกหนังสือเดินทางให้ ดังนั้นถ้ามาตรการของไทย ยังผลักให้แรงงานต้องมีเอกสารจากเมียนมา เดินทางกลับ มีแนวโน้มที่แรงงานจะอยู่แบบผิดกฎหมายมากขึ้น”นายอดิศร กล่าว

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

UOB TMRW คว้า 2 รางวัลจากเวที International Finance Awards 2024

UOB TMRW คว้า 2 รางวัลจากเวที International Finance Awards 2024 ด้วยฟีเจอร์สุดล้ำที่คัดสรรข้อเสนอต่างๆ ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า

CardX ครึ่งปีแรกโตต่อเนื่อง 

CardX ขานรับนโยบาย ธปท. ลดภาระ-เสริมสภาพคล่องกลุ่มเปราะบาง มุ่งตอกย้ำการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม

การใช้ น้ำมันเบนซิน รอบ 8 เดือน ลดลง

การใช้ น้ำมันเบนซิน รอบ 8 เดือน งปี 2567 ลดลง ปัจจัยสำคัญจากการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า

บสย. เสริมสภาพคล่อง SME หลังน้ำท่วม

บสย. ส่งโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind เติมทุน เสริมสภาพคล่อง ช่วย SMEs พลิกฟื้นธุรกิจ หลังน้ำท่วม