ภารกิจ 4 ปี บนภาวะวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง

Date:

สรุปสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบต่อเนื่องจากการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม(LPG) นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด กองทุนน้ำมันฯ ได้ตรึงราคาก๊าซ LPG หลังจากมีวัคซีนป้องกันโควิดได้ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

ในปี 2564 แต่ก็เกิดวิกฤตสงครามการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนปี 2565 และความไม่แน่นอนของราคาพลังงานในปี 2566 และการกลับมาตรึงราคาดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร เข้าสู่สถานะปัจจุบัน 2567 ที่แม้จะขยับเพดานราคาดีเซลขึ้นมาที่ 33 บาท/ลิตรแล้ว แต่ก็ยังเกิดวิกฤตจากสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเอง จนทำให้ปัจจุบันติดลบระดับกว่า 1 แสนล้านบาทอีกระลอก หลังจากที่เคยออกกฎหมายให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เป็นหนี้ถึง 105,333 ล้านบาท ซึ่งต้องทยอยจ่ายคืนเงินต้นให้สถาบันการเงินในช่วงปลายปี 2567 นี้

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้เข้ามารับตำแหน่งช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2563 สถานการณ์พลังงานในขณะนั้นอยู่ในภาวะชะลอตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กิจกรรมด้านเศรษฐกิจมีความเคลื่อนไหวน้อยทำให้การบริโภคพลังงานลดลงตามไปด้วย ซึ่งในขณะนั้นฐานะกองทุนน้ำมันฯ เป็นบวกประมาณ 30,000 ล้านบาท เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายการบริโภคน้ำมันกลับมามีอัตราเติบโตทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น กองทุนน้ำมันฯ เริ่มชดเชยก๊าซ LPG ตรึงอยู่ที่ 318บาท/ถังขนาด 15 กก. เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ภาคครัวเรือน

ในต้นปี 2565 เกิดสงครามสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดโลก เคยพุ่งทะลุระดับ 120 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล กองทุนน้ำมันฯ ต้องชดเชยราคาน้ำมันดีเซลในประเทศให้อยู่ที่ราคา 30 บาท/ลิตร โดยเคยชดเชยสูงสุดถึง 14 บาท/ลิตร กองทุนน้ำมันฯ ในเวลานั้นติดลบราว 130,000 ล้านบาทจำเป็นต้องปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันไดถึง 35 บาท/ลิตร จึงได้มีการแก้ไขกรอบวงเงินกู้ ตามมาตรา26 วรรคสาม 

โดย ครม.มีมติขยายกรอบเป็น 150,000 ล้านบาท และขอให้รัฐบาลอนุมัติออกพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 เพราะกฎหมายกองทุนน้ำมันฯ มีกรอบวงเงินกู้ยืมได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงิน ในการปล่อยกู้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ ในวงเงินกู้ 105,333 ล้านบาท ซึ่งกำลังจะถึงกำหนดเวลาทยอยจ่ายคืนเงินต้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้

ในช่วงต้นปี 2566 สถานการณ์ราคาน้ำมันเริ่มผ่อนคลาย กองทุนน้ำมันฯ ได้มีการลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงจำนวน 6 ครั้ง เหลือ 32 บาท/ลิตร ในช่วงเดือนพฤษภาคมและในช่วงเวลาที่ลดการชดเชยก็เริ่มมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จนทำให้สถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลงเหลือประมาณ 49,000 ล้านบาท ต่อมาเมื่อได้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้มีการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 30 บาท/ลิตร ขณะที่มาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่เคยเข้ามาเป็นกลไกช่วยพยุงราคาดีเซลอีกทางหนึ่งได้หมดอายุลง ทำให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นกลไกหลักเดียวในการพยุงราคาน้ำมัน 

อย่างไรก็ดี มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ได้มีมาตรการการตรึงราคาน้ำมันดีเซล กำหนดเพดานเป็นไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ไว้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ส่วนราคาก๊าซ LPG ตรึงไว้ที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 ได้ขยายมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร เป็นรอบที่สอง ออกไปอีก 3 เดือน ถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2567 โดยให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ แต่อัตราการชดเชยต้องไม่เกิน 2 บาท/ลิตร โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ติดลบ 111,663 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 64,066 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 47,597 ล้านบาท ในส่วนของประมาณการสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดมีรายรับประมาณวันละ 88.15 ล้านบาท แบ่งเป็นรายรับประเภทน้ำมันวันละ 81.76 ล้านบาท และรายรับก๊าซ LPG วันละ 6.39 ล้าน แต่กองทุนน้ำมันยังมีการชดเชยน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 0.40บาท/ลิตร คิดเป็นรายจ่ายประมาณวันละ 26.73 ล้านบาท

“ผมเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงครั้งแรกช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งขณะนั้นฐานะกองทุนน้ำมันฯ ยังเป็นบวกอยู่ถึง 3 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาส่วนใหญ่มาจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมคือราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ผันผวนก่อนสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด หลังจากมีวัคซีนโรคโควิดเริ่มผ่อนคลายลง เศรษฐกิจถูกกระตุ้นอัตราการเติบโตทำให้ราคาน้ำมันเริ่มเข้าสู่ขาขึ้นเรื่อยมาจนกระทั่งโลกต้องพบกับวิกฤตที่สั่นคลอนราคาน้ำมันครั้งใหญ่จากการสู้รบรัสเซีย-ยูเครน ในปี 2565 ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเกินระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กองทุนน้ำมันถูกใช้เป็นกลไกหลักในการพยุงราคาดีเซลในประเทศไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ควบคู่กับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตในบางช่วง และแม้ว่าในปี 2566 สถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย แต่ก็ยังมีความผันผวนด้านราคา

จากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและเศรษฐกิจที่ยังซบเซา ส่งผลให้สถานะของกองทุนน้ำมันฯ ยังคงต้องแบกรับการอุดหนุนราคาดีเซลอยู่ต่อไปจนทำให้เริ่มเกิดวิกฤตอีกรอบในปี 2567 กองทุนน้ำมันฯ ติดลบเกินกว่า 1 แสนล้านบาทอีกรอบ และครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ เองซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่วิกฤตมาจากปัจจัยภายนอก ผมกำลังจะหมดวาระผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลง ก็คงต้องให้เจ้าหน้าที่และผู้อำนวยการสำนักงานกองทุน

น้ำมันเชื้อเพลิงคนต่อไปเร่งฟื้นฟูสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ให้กระเตื้องขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าน้ำมัน ตลอดจนสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ท้ายนี้ ผมขอขอบคุณคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และพี่ๆ สื่อมวลชนทุกท่านที่ให้การสนับสนุนและความร่วมมือที่ดีมาโดยตลอด” ผู้อำนวยการ สนกช.กล่าวในท้ายที่สุด

Share post:

spot_img

Related articles

AIS เตรียมออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนครั้งแรก ในอุตฯ โทรคมนาคมไทย

AIS เตรียมออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนครั้งแรกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย เสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป ชูอันดับความน่าเชื่อถือระดับ “AAA(tha)”

บิ๊กข้าราชการเกษียณ ตั้งพรรคเจ๊งทุกราย

“เทพไท เสนพงศ์” บิ๊กข้าราชการเกษียณ ตั้งพรรคเจ๊งทุกราย

ttb analytics คาดธุรกิจโรงแรมปี 67 รายได้แตะ 3.70 แสนล้านบาท

ttb analytics มองรายได้ธุรกิจโรงแรมปี 2567 เพิ่มแตะ 3.70 แสนล้านบาท บนความเปราะบางของการเติบโตแบบไม่สมมาตร

คลังแจงพร้อมจ่ายเงินหมื่นกลุ่มเปราะบาง

คลังแจงพร้อมจ่ายเงินหมื่นกลุ่มเปราะบาง แนะแนวทางการรับเงินละเอียด 1.4 แสนล้านบาท

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427