เตือนนายกฯ อิ๊งค์ ครั้งที่ 3 กองทุนวายุภักษ์ เสี่ยงผิดกฎหมาย

Date:

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องกองทุนวายุภักษ์ ฉบับที่ ๓

ด่วนที่สุด

วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๗

เรื่อง  กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย (ฉบับที่ ๓)

เรียน  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 

อ้างถึง ข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ ๕๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖

 ตามที่ข้าพเจ้าได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๗ (ฉบับที่ ๑) และฉบับลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๗ (ฉบับที่ ๒) กรณีกระทรวงการคลังประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ (กองทุนฯ) วงเงิน ๑.๕ แสนล้านบาท ในวันที่ ๑๖-๒๐ กันยายนนี้ และให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ ๑๘-๒๐ กันยายนนี้ ซึ่งข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวอาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย นั้น 

ข้าพเจ้าขอเรียนข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของท่านในเรื่องนี้ ดังนี้

๑.   ข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ ๕๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖

ปรากฏตามข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ ๕๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร โดยร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ) 

รัฐบาลขณะนั้นมีเจตนาออกกองทุนรวมวายุภักษ์ ๒ กอง คือ กอง ๑ ที่เน้นเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ของสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ในขณะนั้น ส่วนกอง ๒ นั้น เน้นเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่จะแปรสภาพ หุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิ หรือสิทธิเรียกร้องที่กระทรวงการคลังอาจมีในอนาคต

กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ ขายแก่นักลงทุนรายย่อยและประชาชนทั่วไป โดยกำหนดผลตอบแทนที่แน่นอนไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ๑ ปีของธนาคารพาณิชย์บวกส่วนเพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑ และรับประกันเงินต้นเต็มจำนวน จึงมีลักษณะเหมือนเงินกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล

กองทุนรวมวายุภักษ์ ๒ ขายแก่นักลงทุนสถาบันลงทุนไม่ต่ำกว่า ๕ ล้านบาทและบุคคลทั่วไปที่มีฐานะลงทุนไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านบาท โดยไม่มีการประกันขั้นต่ำทั้งเงินต้นหรือผลตอบแทน 

จึงเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของกองทุนรวมวายุภักษ์ทั้ง ๒ กอง คือเพื่อสนับสนุนรัฐวิสาหกิจและกิจการของรัฐเป็นสำคัญ และถึงแม้ในกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ ภาครัฐจะมีภาระในการประกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่ผลประโยชน์ก็วนไปตกอยู่ที่การลงทุนภาครัฐ

ส่วนหนังสือชี้ชวนสำหรับกองทุนฯ ปี ๒๕๖๗ มิได้ตีกรอบแคบเพื่อสนับสนุนรัฐวิสาหกิจและกิจการของรัฐเป็นสำคัญ แต่ระบุว่าจะลงทุนในตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หุ้นใน SET๑๐๐ กองทุนภาคเอกชนต่างๆ อาทิ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 

แม้แต่หุ้นนอก SET๑๐๐ ตลอดจนถึงหลักทรัพย์ของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Unlisted Securities) หรือตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (Non – Investment Grade) และ/หรือตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Securities) ไม่เกินร้อยละ ๑๐ 

รวมถึงอาจพิจารณาลงทุนในหน่วยลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนในทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ และหน่วย Private Equity 

วัตถุประสงค์จึงมิใช่เพื่อสนับสนุนรัฐวิสาหกิจหรือการลงทุนภาครัฐ แต่เพื่อสนับสนุนการลงทุนอย่างกว้างขวางในกิจการที่บางรายอาจจะมีประโยชน์ต่อคนต่างชาติ และขยายขอบเขตไปยังกิจกรรมที่เสี่ยงสูงเป็นพิเศษ

กรณีสำหรับปี ๒๕๖๗ จึงไม่มีเหตุผลที่กระทรวงการคลังจะต้องไปอุดหนุนจุนเจือค้ำประกันผลตอบแทนและเงินต้น เพราะการสนับสนุนการลงทุนในกิจการทั่วไปในเศรษฐกิจแบบวงกว้างเช่นนี้ จะต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตลาดเงินตลาดทุนตามครรลองปกติ ส่วนรัฐไม่มีหน้าที่ไปแทรกแซง 

นอกจากนี้ รัฐไม่ควรมีหน้าที่โปรโมทการลงทุนที่เสี่ยงสูงเป็นพิเศษ เพราะภาคเอกชนสามารถทำงานนี้ได้เองอย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๕ ห้ามมิให้รัฐประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน

๒.   เงื่อนไขให้ประโยชน์เอียงฝ่ายเดียว

ข้าพเจ้าขอเรียนว่าเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวนนั้นให้ประโยชน์เอียงฝ่ายเดียว

๒.๑   ด้านผลตอบแทนประจำปี

กรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี ก็สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยอายุ ๑๐ ปีของพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาดรองที่แสดงโดย Investing.com คือร้อยละ ๒.๕๕๒ ต่อปี ส่วนการที่กำหนดเพดานอัตราสูงสุดร้อยละ ๙ ต่อปี นั้น ก็มิใช่เงื่อนไขที่จะมีผลเป็นการจำกัดวงผลตอบแทนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) เพื่อหวังจะให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ได้ผลตอบแทนส่วนที่เกินร้อยละ ๙ ต่อปีเป็นการชดเชย 

เพราะอัตราการจ่ายเงินปันผลเฉลี่ย ๓ ปีโดยบริษัทในกลุ่ม SET๑๐๐ ตามข้อมูลในเว็บไซต์ของ SET ณ วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๗ ก็อยู่ในระดับที่ต่ำเพียงร้อยละ ๑.๖๕ และถึงแม้จะเน้นไปที่กลุ่มบริษัทคุณภาพสูงเป็นพิเศษกลุ่ม SETHD ก็จ่ายปันผลเฉลี่ยร้อยละ ๘.๔๕ ดังนั้น ตามตัวเลขข้างต้น โอกาสที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) จะได้ผลตอบแทนส่วนที่เกินร้อยละ ๙ ต่อปีเป็นการชดเชย จึงเกิดขึ้นได้น้อยมาก

แต่เนื่องจากกองทุนปี ๒๕๖๗ มีแผนจะขยายขอบเขตไปในเรื่องที่อาจจะไม่มีรายได้ประจำปี ตัวอย่างเช่น การลงทุนในทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ และหน่วย Private Equity ดังนั้น ผลตอบแทนเบื้องต้นรายปีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) จะต้องถูกเบียดเบียนเอาไปชดเชย เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี จึงอาจกระทบรายได้ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) อย่างมาก

หนังสือชี้ชวนยังระบุด้วยว่า ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ กองทุนนี้มีกำไรสะสม เท่ากับ ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาท ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) อยู่ในขณะนี้ 

ซึ่งการระบุในหนังสือชี้ชวนเช่นนั้น เป็นการบ่งชี้เจตนาว่ากำไรสะสมจะถูกเอามาใช้ชดเชยเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปีได้ กรณีจึงย่อมทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐได้รับความเสียหายด้านรายได้

๒.๒   ด้านคุ้มครองเงินต้น

เนื่องจากมีการขยายขอบเขตการลงทุนอย่างกว้างขวาง ความเสี่ยงขาดทุนเงินต้นจึงย่อมสูง ในหนังสือชี้ชวนระบุว่า “ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) มีสิทธิได้รับชำระคืนเงินลงทุนจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) (Waterfall Structure) 

ในขณะที่ความผันผวนของราคาทรัพย์สินของกองทุนรวมจะถูกส่งผ่านมาให้หน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) จะรับผลขาดทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ในกรณีที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมมีมูลค่าลดลง

ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) มีสิทธิได้รับชำระคืนเงินลงทุนภายหลังจากที่ชำระคืนเงินลงทุนและผลตอบแทนตามสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) (คำนวณจนถึงวันที่มีการซื้อคืนหน่วยลงทุน) ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ครบถ้วนแล้ว”

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า การคุ้มครองเงินต้นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) น่าเชื่อว่าจะมีผลอย่างแน่นอน เหตุผลเนื่องจากกองทุนฯ มีทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) อยู่ขณะนี้มากถึง ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท ซึ่งข่าวระบุว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) 

ดังนั้น การที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะลงทุนในวงเงิน ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ไม่ว่าจะขาดทุนมีมูลค่าลดลงเพียงใด ก็สามารถที่จะเบียดเอาส่วนชดเชยจากทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาทของผู้ถือหน่วยประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ได้ทั้งสิ้น

๓.   ข้อเสนอแนะ

ในเมื่อท่านได้รับทราบปัญหาและข้อสังเกตเหล่านี้แล้ว ท่านมีหน้าที่จะต้องบริหารจัดการป้องปรามปัญหา ข้าพเจ้าขอเสนอแนะให้ท่านพิจารณาสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ที่เกี่ยวข้องทบทวนความจำเป็นเหมาะสมที่จะให้ผู้ลงทุนภาครัฐเข้าไปมีภาระประกันทั้งผลตอบแทนและเงินต้น เพราะโครงการมิใช่เพื่อสนับสนุนการลงทุนและกิจการของรัฐดังเช่นในปี ๒๕๔๖

กรณีถ้าหากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. เป็นกระทรวงการคลัง ควรสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงต่อสาธารณะว่ารัฐบาลหรือกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่ที่จะนำเอาทรัพย์ของแผ่นดินไปอุดหนุนเช่นนี้ตามกฎหมายใด

กรณีถ้าหากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. เป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกองทุนประกันสังคม ควรสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงต่อสาธารณะว่า ถ้าหากสมาชิกของกองทุนเหล่านั้นสูญเสียโอกาสหรือประโยชน์ที่พึงได้ รัฐบาลมีแผนการที่จะชดเชยเยียวยาให้เขาหรือไม่ อย่างไร

จึงขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สำเนาเรียน นายพิชัย ชุณวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

Share post:

spot_img

Related articles

AIS เตรียมออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนครั้งแรก ในอุตฯ โทรคมนาคมไทย

AIS เตรียมออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนครั้งแรกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย เสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป ชูอันดับความน่าเชื่อถือระดับ “AAA(tha)”

บิ๊กข้าราชการเกษียณ ตั้งพรรคเจ๊งทุกราย

“เทพไท เสนพงศ์” บิ๊กข้าราชการเกษียณ ตั้งพรรคเจ๊งทุกราย

ttb analytics คาดธุรกิจโรงแรมปี 67 รายได้แตะ 3.70 แสนล้านบาท

ttb analytics มองรายได้ธุรกิจโรงแรมปี 2567 เพิ่มแตะ 3.70 แสนล้านบาท บนความเปราะบางของการเติบโตแบบไม่สมมาตร

คลังแจงพร้อมจ่ายเงินหมื่นกลุ่มเปราะบาง

คลังแจงพร้อมจ่ายเงินหมื่นกลุ่มเปราะบาง แนะแนวทางการรับเงินละเอียด 1.4 แสนล้านบาท

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427