
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องกองทุนวายุภักษ์ (ฉบับที่ ๕)
ด่วนที่สุด
วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๗
เรื่อง กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย (ฉบับที่ ๕)
เรียน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
อ้างถึง หนังสือชี้ชวนกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑
ตามที่ข้าพเจ้าได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๗ (ฉบับที่ ๑) และฉบับลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๗ (ฉบับที่ ๒) ฉบับลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๗ (ฉบับที่ ๓) และฉบับลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๗ (ฉบับที่ ๔) กรณีกระทรวงการคลังประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ (กองทุนฯ) วงเงิน ๑.๕ แสนล้านบาท ในวันที่ ๑๖-๒๐ กันยายนนี้ และให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ ๑๘-๒๐ กันยายนนี้ ซึ่งข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวอาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย นั้น
ข้าพเจ้าขอเรียนข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของท่านในเรื่องนี้ ดังนี้
๑. รายละเอียดเกี่ยวกับนักลงทุนสถาบัน
ในวงเงินที่เชิญให้จองซื้อหน่วยลงทุนประเภท ก. ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาทนั้น หนังสือชี้ชวนหน้า ๑๗ ระบุว่าแบ่งเป็นผู้ลงทุนรายย่อย ๓๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ผู้ลงทุนสถาบันและนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม ๑๐๐,๐๐๐-๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท
โดยในหน้า ๑๓ ผู้ลงทุนรายย่อย หมายถึงบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่มีถิ่นที่อยู่ในไทย หรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย รวมถึงกองทุนส่วนบุคคลของผู้ลงทุนรายย่อยดังกล่าว
ส่วนผู้ลงทุนสถาบันหมายถึง
(ก) ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น สหกรณ์ออมทรัพย์หรือชุมนุมสหกรณ์ มูลนิธิเพื่อสาธารณะประโยชน์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) และกองทุนสวัสดิการของสำนักงาน คปภ.
(ข) ผู้ลงทุนสถาบันที่มีลักษณะตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน และ
(ค) กองทุนส่วนบุคคลของผู้ลงทุนตามข้อ (ก) หรือ (ข)
๒. ประเด็นที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับผู้ลงทุนสถาบัน
ข้าพเจ้าขอเรียนว่า คำว่า “เงินแผ่นดิน” ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๓ – ๔/ ๒๕๕๗ คดีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเสนอร่างพระราชบัญญัติจะกู้เงิน ๒ ล้านล้านบาทเพื่อใช้นอกระบบงบประมาณ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗ หน้า ๓๗ ซึ่งสรุปได้ว่า
“เงินแผ่นดิน” หมายถึง เงินของประชาชนทั้งชาติโดยหมายความรวมถึงบรรดาเงินทั้งปวง ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ ที่รัฐเป็นเจ้าของหรืออยู่ในความครอบครองของรัฐ
ดังนั้น ในกองทุนฯ กำไรสะสมที่มีอยู่ขณะนี้ ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาท และทรัพย์สินที่มีอยู่ขณะนี้ ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท ในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังนั้น เป็น “เงินแผ่นดิน”
ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๔๐ บัญญัติให้การจ่ายเงินแผ่นดินจะทำได้เฉพาะตามกฎหมายงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง แต่เท่าที่ข้าพเจ้าตรวจสอบ ไม่พบมีการดำเนินการดังกล่าว และข้าพเจ้าเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงหลายครั้งแต่ไม่ได้มีการชี้แจง
ทั้งนี้ ข้าพเจ้าได้แจ้งต่อท่านไว้แล้วในหนังสือ ๔ ฉบับก่อนหน้าว่ากติกาและเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนดนั้น จะเป็นการนำเงินแผ่นดินในรูปกำไรสะสม ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาท และทรัพย์สิน ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาทไปจ่ายอุดหนุนให้แก่ผู้ถือหน่วยประเภท ก. ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมเพราะเป็นการเอาทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งเป็นคนทั้งชาติ ไปจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียว
แต่ปัญหาความไม่เป็นธรรมนี้ มีความรุนแรงขึ้นในกรณีผู้ลงทุนสถาบัน ด้วยเหตุผลดังนี้
(๑) ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต และกองทุนส่วนบุคคลของผู้ลงทุนเหล่านี้ ล้วนเป็นผู้ที่มีฐานะดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีโครงการที่กระทรวงการคลังต้องจ่ายเงินแผ่นดินไปเพิ่มผลตอบแทนและประกันเงินต้นแก่ผู้ที่ร่ำรวย
(๒) ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น สหกรณ์ออมทรัพย์หรือชุมนุมสหกรณ์ มูลนิธิเพื่อสาธารณะประโยชน์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ สำนักงาน คปภ. กองทุนสวัสดิการของสำนักงาน คปภ. และกองทุนส่วนบุคคลของผู้ลงทุนเหล่านี้
บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในด้านการเงินมากพอที่จะพิจารณาเลือกความเสี่ยงในการลงทุนได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องมีโครงการประกันผลตอบแทนและประกันเงินต้น และไม่ต้องทำโครงการที่บริษัทหลักทรัพย์ทำได้เองอยู่แล้ว
(๓) การลงทุนโดยมูลนิธิเพื่อสาธารณะประโยชน์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ สำนักงาน คปภ. และกองทุนสวัสดิการของสำนักงาน คปภ. รวมไปถึงกองทุนรวมทั้งหลายซึ่งถือเป็นผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน นั้น
ล้วนมีการจ้างผู้จัดการกองทุนให้ทำหน้าที่บริหารการลงทุนโดยให้ค่าจ้างตามอัตราตลาด ซึ่งผู้จัดการกองทุนย่อมเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจที่จะพิจารณาเลือกความเสี่ยงในการลงทุนได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องมีโครงการประกันผลตอบแทนและประกันเงินต้น
ดังนั้น โครงการนี้จึงกลับมีผลเป็นการจัดสรรแจกจ่ายผลประโยชน์ให้แก่ผู้จัดการกองทุนโดยไม่ต้องออกแรงทำงาน
(๔) สำหรับมูลนิธิเพื่อสาธารณะประโยชน์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา กรณีที่รัฐบาลประสงค์จะอุดหนุนแก่องค์กรที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมนั้น ก็ควรจัดทำงบประมาณให้เงินสนับสนุนอย่างตรงไปตรงมา
ข้าพเจ้ารับทราบว่าล่าสุดจะมีการแบ่งสรรวงเงินจองให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท จึงเข้าข่ายเป็นการเอาเงินแผ่นดินของคนไทยทั้งชาติไปอุดหนุนเพิ่มพูนประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนที่มีฐานะดีร่ำรวยอยู่แล้ว และเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจตลาดเงินตลาดทุนเป็นอย่างดีไม่จำเป็นที่กระทรวงการคลังจะต้องโปรโมทโครงการจูงใจที่บิดเบือนความเสี่ยงของตลาด และเป็นการอุดหนุนเพิ่มผลงานให้แก่ผู้จัดการกองทุนทั้งหลายโดยใช้ทรัพย์สินของแผ่นดิน
๓. ขอให้แถลงจุดยืนของรัฐบาล
เนื่องจากกระทรวงการคลังได้นำเรื่องนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดก่อน ข้าพเจ้าจึงเรียกร้องให้ท่านโปรดพิจารณา และโปรดแถลงให้ประชาชนทราบว่า
รัฐบาลของท่านสนับสนุนโครงการที่จ่ายเงินแผ่นดินที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและการดำเนินการที่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นการปฏิบัติไม่สอดคล้องตามมาตรฐานจริยธรรม หรือไม่
และสนับสนุนการนำเอาทรัพย์สินของแผ่นดินไปอุดหนุนแก่กลุ่มคนที่มีฐานะดีของประเทศอยู่แล้ว หรือไม่
จึงขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง