“พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย”

Date:

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมประจำปี 2567 เรื่อง “พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย (Geopolitical Uncertainty : Navigating the Future)” ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อให้คนไทยตระหนักและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนรวดเร็วซึ่งเป็นผลมาจากภูมิรัฐศาสตร์โลก และสามารถเล็งเห็นทางเลือกแนวทางในการเตรียมพร้อมรับมือหรือบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบด้านต่าง ๆ รวมถึงสามารถเห็นโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงนั้น และนำมาสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปได้
อย่างทันท่วงที

สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก

ในการประชุมดังกล่าว นายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำเสนอในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก : นัยต่อประเทศไทย” ประกอบด้วย 3 ส่วน สรุปได้ดังนี้

1.  สถานการณ์ในภาพรวมจากการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก เลขาธิการฯ กล่าวว่า
ภูมิรัฐศาสตร์ หมายถึง การสร้างพลังอำนาจระหว่างประเทศ โดยอาศัยปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้ง อาณาบริเวณ ประชากร ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากร และอื่น ๆ โดยนำมาใช้ในการต่อรองผลประโยชน์ของขั้วอำนาจต่าง ๆ ในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบความร่วมมือและขัดแย้ง อาทิ การทหาร ด้วยการใช้กำลังเข้ารุกรานหรือตอบโต้การรุกราน การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศหรือการคว่ำบาตรหรือการกีดกันทางการค้า การแลกเปลี่ยนหรือเข้าครอบงำอุดมการณ์ แนวคิดทางการเมือง วัฒนธรรม และความเชื่อต่าง ๆ การปกป้อง แบ่งปัน หรือแย่งชิงทรัพยากรต่าง ๆ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือปิดกั้นเทคโนโลยีจากประเทศฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น 

ทั้งนี้ World Economic Forum ได้แบ่งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ออกเป็นหลายระดับ ได้แก่ (1) ความขัดแย้ง คือ ปรากฏการณ์ที่รัฐ 2 รัฐมีข้อพิพาทหรือความเห็นที่ต่างกัน รวมถึงผลประโยชน์ที่ขัดกันในประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม (2) ความตึงเครียด คือ สภาพการณ์ที่รัฐคู่กรณีวิตกกังวลต่อพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้ามว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติตนได้ โดยประณามการกระทำอีกฝ่ายในเวทีระหว่างประเทศ หรือลดระดับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ (3) วิกฤตการณ์ คือ สภาพการณ์ที่คู่กรณีเตรียมใช้กำลังเพื่อเข้ายุติความขัดแย้ง หรือเพื่อป้องกันการใช้กำลังของอีกฝ่ายหนึ่ง และ (4) สงคราม เช่น กรณีวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลให้ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกพุ่งขึ้นสูงมากในช่วงปี 2565 เพราะทั้งสองฝ่ายมีขั้วอำนาจเป็นพันธมิตรหนุนหลัง  เกิดความกังวลว่าจะเป็นชนวนความขัดแย้งหรือเกิดสงครามที่มีมากกว่าสองประเทศ ขณะที่ในปี 2567 สงครามระหว่างอิสลาเอล-ฮามาส ก็ส่งผลทำให้ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกดังกล่าวขยับสูงขึ้น เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง

2.  การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกด้านต่าง ๆ ที่ผลต่อประเทศไทย ประกอบด้วย

(1)  สงครามการค้า เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ส่งผลให้สินค้าจีนสามารถเข้าถึงตลาดของประเทศสมาชิกได้ ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติในประเทศที่มีจำนวนมาก แรงงานที่มีค่าจ้างไม่สูง ส่งผลให้ประเทศจีนกลายเป็นโรงงานของโลกและเป็นผู้ส่งออกสำคัญของโลก ในปี 2563 เศรษฐกิจจีนก้าวขึ้นมาใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนอย่างต่อเนื่อง และขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ สหรัฐจึงเริ่มดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าต่อจีนเพื่อลดการขาดดุลทางการค้าและ
มุ่งจำกัดบทบาทของจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลก นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และ
ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการกีดกันทางการค้าโดยใช้เทคนิคและวิทยาศาสตร์ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันจีนได้ดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจตอบโต้ทางสหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มบทบาททั้งในส่วนของการค้าและการผลิตโลก รวมถึงนโยบาย Belt and Road Initiatives

(2) สงครามเทคโนโลยี สหรัฐมีมาตรการที่เฉพาะเจาะจงไปยังอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ส่งผลให้สงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ก้าวไปสู่สงครามเทคโนโลยี โดยจีนตอบโต้โดยออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสินค้าทุนและวัตถุดิบที่มีต้นทางจากประเทศจีนและพันธมิตร อาทิ ทรายซิลิคอนที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงแร่หายาก
ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตแบตเตอรี่และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 

สงครามเทคโนโลยีขยายวงกว้างไปยังเทคโนโลยีในหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น EV Digital Telecom ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ ในส่วนของสหภาพยุโรปประกาศยุทธศาสตร์ EU New Industry Strategy ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่และปกป้องอุตสาหกรรม semiconductor ใน EU ด้านญี่ปุ่นก็ประกาศนโยบาย Economic Safety Security Strategies เพื่อป้องกันผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของประเทศโดยเฉพาะ นอกจากนี้เกาหลีใต้ได้สนับสนุนเงิน 23 ล้าน USD หนุนผู้ผลิตชิปในประเทศสำหรับการลงทุน วิจัยและพัฒนา ผลจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องปรับตัวรองรับมาตรการต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงมากขึ้นจาก 2 ขั้วอำนาจ นำไปสู่การย้ายฐานการผลิตและการเร่งสร้างฐานการผลิตใหม่ การควบคุมสินค้าวัตถุดิบสำคัญ การป้องกันการถ่ายทอดเทคโนโลยี การแย่งชิงและป้องกันการเคลื่อนย้ายบุคลากร รวมถึงการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน

(3)  การแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Decoupling) ข้อจำกัดจากมาตรการ
กีดกันต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ นำมาสู่แนวนโยบายที่ส่งผลเสียต่อการค้าเสรีในหลายประเทศ เมื่อรวมกับวิกฤติโควิด-19 รวมถึงสงครามรัสเซียและยูเครน อิสราเอลและกลุ่มฮามาส ส่งผลให้แนวโน้มการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตโลกมีความเข้มข้นมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ มุ่งย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศแม่ของบริษัท หรือไปยังประเทศที่เป็นพันธมิตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิต และหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า เงินลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในระดับโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปลดลงอย่างมาก แต่เงินลงทุนจากจีนและประเทศกลุ่ม BRICS อื่น ๆ ปรับเพิ่มขึ้น ท่ามกลางเม็ดเงินลงทุนระหว่างประเทศที่ลดลง ในขณะที่มีบางกลุ่มประเทศที่ยังคงมีมูลค่า FDI เพิ่มขึ้น อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และเวียดนาม สะท้อนถึงการย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศดังกล่าว แต่ไทยเป็นประเทศที่ FDI ลดลง จึงเป็นประเด็นท้าทายสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศไทยเพื่อที่จะสามารถรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานและการย้ายฐานการผลิตดังกล่าว

(4) การแย่งชิงแรงงาน การแบ่งแยกห่วงโซ่การผลิต ทำให้เกิดการย้ายฐานอุตสาหกรรม
หลายประเทศต้องการแรงงานทักษะสูง นำไปสู่ Talent War จากรายงานข้อมูลดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลก (The Global Talent Competitiveness Index : GTCI) ปี 2566 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 79 จาก 134 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน จากผลการจัดอันดับดังกล่าวสะท้อนว่า ไทยต้องเร่งพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้นและเร่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมของระบบการพัฒนาแรงงานเพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ และยกระดับศักยภาพของแรงงานในประเทศมากขึ้น

(5)  วิกฤตผู้อพยพจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลให้มีการหลั่งไหลของผู้อพยพ
จากเมียนมาเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แม้ต่อมารัฐบาลจะมีการผลักดันผู้อพยพกลับประเทศ ทำให้จำนวนจำนวนผู้อพยพลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 84,405 คน ในปี 2566 จากจำนวน 90,940 คน ในปี 2565 การลี้ภัยของชาวเมียนมา นำมาซึ่งผลกระทบหลายด้าน อาทิ ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย
การลักขโมยและการก่ออาชญากรรมตามแนวชายแดน การลักลอบตัดไม้ โรคติดต่อ การค้ามนุษย์ ทำให้รัฐต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรและงบประมาณในด้านการควบคุมดูแลผู้หนีภัยสู้รบที่มีจำนวนมากเหล่านี้

(6)  ความมั่นคงทางอาหาร สงครามและความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งผลให้พื้นที่การเกษตร ระบบขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการกระจายสินค้าอาหารและวัตถุดิบถูกทำลาย เกิดการย้ายถิ่นของประชากร ส่งผลต่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์อาหารในพื้นที่ใหม่เป็นไปอย่างยากลำบาก ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มต้นทุนและราคาสินค้าเกษตร และอาจนำไปสู่การขาดแคลนอาหารในประเทศ ประเทศต่าง ๆ จึงอาจใช้อาหารเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ 

(7)  ความมั่นคงทางพลังงาน ภาวะสงครามและเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและหลายประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานหลายด้านถูกทำลาย รวมทั้งด้านพลังงาน อาทิ ท่อขนส่งน้ำมัน ท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ หรือการทำลายโรงไฟฟ้า ส่งผลให้มีการเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือขนส่งเชื้อเพลิงฟอสซิล  กระทบต่อการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงาน  สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกมีความผันผวน กระทบต่อประเทศไทยซึ่งพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศอย่างมาก ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านพลังงาน วางกลยุทธ์ในการหาแหล่งทรัพยากรพลังงานใหม่ ๆ ในประเทศโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย 

(8)  การแย่งชิงทรัพยากรน้ำ การบริหารจัดการพลังงานน้ำอาจกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จีนอาศัยความได้เปรียบในฐานะประเทศต้นน้ำของลุ่มแม่น้ำโขงก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ในช่วงปี 2538 – 2562 ส่งผลกระทบต่อประเทศปลายน้ำ ที่เกิดปัญหาความแห้งแล้งรุนแรง การขึ้นลงของน้ำผิดปกติ แอ่งน้ำลึกในแม่น้ำโขงตื้นเขินขึ้น ส่งผลกระทบต่อปริมาณการจับปลามากกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี รวมถึงความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในจีน อาจทำให้น้ำในเขื่อนกลายเป็น “ระเบิดน้ำ’’นำไปสู่เสียงทักท้วงจากประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างเรียกร้องให้จีนคำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศที่อยู่ปลายน้ำด้วย

3.  ความท้าทายที่ไทยต้องบริหารจัดการเพื่อรับมือความผันผวนที่เกิดขึ้น มีหลายด้าน ที่สำคัญได้แก่ (1) ด้านการค้าการลงทุนโดยตรง (FDI) ที่ไหลสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง และการไหลเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีนที่ กระทบผู้ประกอบการภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะ SMEs หรือผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ขัดแย้ง (2) เทคโนโลยี ควรให้ความสำคัญกับ Platform ให้บริการ
ที่แยกจากกัน ที่จะส่งผลให้ต้นทุนการใช้บริการสูง รวมถึงประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์ และช่องว่างทางดิจิทัล (3) แรงงานและทักษะ การพัฒนา ecosystem ที่เอื้อต่อการดึงดูดแรงงานทักษะสูงและพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับแนวโน้มทางเทคโลยีและตลาด รวมถึงการพัฒนาเมืองที่สามารถดึงดูด Talent
การรองรับแรงงานหรือผู้ย้ายถิ่นจากเมียนมา และมีความมั่นคงทางอาหาร และ (4) ความมั่นคงทางพลังงาน ไทยมีสัดส่วนนำเข้าพลังงานที่สูง แม้ยังมีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถเกิดความมั่นคงทางพลังงาน ไทยจึงต่อเร่ง สร้างความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค และการพัฒนาพลังงานสะอาด และต้องใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีและ Critical Materials ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างชาญฉลาด 

หลังจากการนำเสนอของเลขาธิการ สศช. เป็นช่วงการเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อ

“การบริหารจัดการเพื่อรับมือผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก” ซึ่งเป็นการนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับผลจากความผันผวนจากภูมิรัฐศาสตร์ในมิติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยและแนวทางการรับมือกับผลที่จะเกิดขึ้นนั้น รวมถึงแนวทางพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของประเทศ เพื่อการนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย 

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกในภาพรวมที่ส่งผลต่อโลกและประเทศไทย การวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ด้านนโยบายระหว่างประเทศที่เหมาะสมเพื่อรับมือความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อ รวมถึงการแสวงหาโอกาสจากการที่ประเทศต่างๆ พยายามหาพันธมิตร เพื่อสร้างสายสัมพันธ์และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ 

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย นำเสนอแนวทางการรับมือผลกระทบจากมาตรการทางเศรษฐกิจ การกีดกันทางการค้าระหว่างขั้วอำนาจ ซึ่งกระทบต่อการค้าการลงทุน และการส่งออกของไทย การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในตลาดโลก รวมถึงการปรับตัวของภาคเอกชนเพื่อรับมือความผันผวนจากสถานการณ์ความขัดแย้งหรือความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น 

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษาและอาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอแนวทางการสร้างความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นคงในภูมิภาค และท่าทีที่เหมาะสมของไทยในการรับมือสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจำนวนผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อไทยในหลายด้าน เช่น ปัญหาแรงงาน ปัญหาอาชญากรรม และ 

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอผลจากภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลกและของไทย และแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและยกระดับความสามารถในการผลิตทั้งด้านคุณภาพและปริมาณเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศไทยและสำหรับการแข่งขันในตลาดโลก โดยมี คุณชุติมา พึ่งความสุข เป็นผู้ดำเนินรายการ

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

เคทีซีแกร่งต่อเนื่อง ครึ่งปีแรกโชว์กำไร 3,755 ล้าน

เคทีซีแกร่งต่อเนื่อง ครึ่งปีแรกโชว์กำไร 3,755 ล้าน คล่องส่วนแบ่งตลาดโตทุกผลิตภัณฑ์

พาณิชย์” ยันเดินหน้าร่วมมือจีน ขับเคลื่อนการค้า

"พาณิชย์” ยันเดินหน้าร่วมมือจีน ขับเคลื่อนการค้า การลงทุน ความร่วมมือเศรษฐกิจ

นายกฯ บินด่วนอุบลฯ เยี่ยมให้กำลังใจทหาร

นายกฯ ควง ’บิ๊กเล็ก‘ บินด่วนอุบลฯ เยี่ยมให้กำลังใจทหาร เหยียบระเบิดช่องบก

คปภ. เดินหน้ายกระดับการกำกับดูแล

คปภ. เดินหน้ายกระดับการกำกับดูแล เสริมเกราะธุรกิจประกันภัยไทย สู่มาตรฐานสากล