รายงานการคาดการณ์ด้านบริการทั่วโลก (Global Services Forecast: GSF) ฉบับล่าสุดของแอร์บัสได้ระบุว่า มูลค่าของตลาดบริการเครื่องบินพาณิชย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตมากกว่าสองเท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยมูลค่าจะเพิ่มขึ้นจาก 52,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน เป็น 129,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2586
การเติบโตของตลาดบริการเครื่องบินพาณิชย์ในการคาดการณ์นั้นขับเคลื่อนโดยความต้องการเครื่องบินใหม่จำนวนประมาณ 19,500 ลำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสนับสนุนด้วยการเติบโตของปริมาณการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศในภูมิภาค ซึ่งมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate: CAGR) อยู่ที่ 4.81 เปอร์เซ็นต์
การเพิ่มขึ้นของปริมาณการจราจรทางอากาศในแต่ละปี ประกอบกับการขยายตัวของฝูงบิน และความต้องการเครื่องบินที่สามารถเชื่อมต่อและใช้งานแบบดิจิทัลมากขึ้น เป็นแรงผลักดันให้ความต้องการบริการในอุตสาหกรรมการบินเติบโตสูงขึ้น ความต้องการนี้ที่เพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตของเครื่องบิน ตั้งแต่การส่งมอบจนถึงการสิ้นสุดอายุการใช้งาน และรวมไปถึงบริการด้านต่าง ๆ เช่น การบำรุงรักษาฝูงบิน การปรับปรุงเครื่องบินให้ทันสมัย และการฝึกอบรม
ในภาคส่วนต่าง ๆ ของธุรกิจบริการเครื่องบินในเอเชียและแปซิฟิก แอร์บัสคาดการณ์ว่าตลาดด้านการบำรุงรักษาจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า โดยเติบโตจาก 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 109,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2586 (คิดเป็นอัตราการเติบโต CAGR ที่ 5.0 เปอร์เซ็นต์) ในภาคส่วนด้านการปรับปรุงเพิ่มเติมและปรับปรุงให้ทันสมัยจะมีการเติบโตเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจาก 5,100 ล้านเหรียญสหรัฐเป็น 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2586 (คิดเป็นอัตราการเติบโต CAGR ที่ 5.1 เปอร์เซ็นต์) ในภาคส่วนด้านการฝึกอบรมและการปฏิบัติการจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากมูลค่า 4,100 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 เป็น 7,600 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2586 (คิดเป็นอัตราการเติบโต CAGR ที่ 3.3 เปอร์เซ็นต์)
แอร์บัสยังคาดการณ์ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้นใหม่จำนวน 999,000 คนในอีก 20 ปีข้างหน้า (คิดเป็นเกือบ 45 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการแรงงานด้านการบินทั่วโลก) แรงงานดังกล่าวจะประกอบด้วย นักบินใหม่ 268,000 คน ช่างเทคนิคใหม่ 298,000 คน และลูกเรือใหม่ 433,000 คน
คุณคริสตินา อากีลาร์ กรีเดอร์ รองประธานอาวุโสฝ่ายบริการลูกค้าของแอร์บัส กล่าวว่า “ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีการเติบโตและกิจกรรมด้านบริการหลังการขายในระดับสูงที่สุด และจะมีโอกาสมากมายสำหรับทั้งด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพ การลดความซับซ้อนของกระบวนการ และการส่งเสริมการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบในภาคการบิน แอร์บัสจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้สายการบินและอุตสาหกรรมการบินโดยรวมสามาถใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้ ด้วยการให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง”