ครม.เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ การขนส่งทางราง

Date:

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยในขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์หน้า จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ทันในสมัยประชุมนี้

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า สำหรับ พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ. …. นั้น จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางรางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังช่วยส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการกิจการขนส่งทางราง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการได้รับการบริการอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางรางมีเป็นจำนวนมาก ทั้งในด้านของการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะได้รับ เช่น การกำหนดอัตราค่าโดยสาร สิ่งอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้บริการ และความปลอดภัย เป็นต้น และยังรวมถึงความล่าช้าของการเดินรถหรือการยกเลิกการเดินรถโดยไม่แจ้งให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้า รวมถึงการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

หัวใจสำคัญของการออก พ.ร.บ. การขนส่งทางราง คือ การกำกับดูแลควบคุมกิจการขนส่งทางรางอย่างรอบด้าน การเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการพัฒนาด้านการขนส่งทางราง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วประเทศ เชื่อมต่อกับการขนส่งระบบอื่น และประเทศเพื่อนบ้าน การกำกับดูแลมาตรฐานด้านความปลอดภัย การบำรุงทาง และการประกอบกิจการ โดยประโยชน์ของ พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ. …. มีดังนี้

1. การส่งเสริมให้มีการประกอบกิจการขนส่งทางรางโดยระบบอนุญาต

การประกอบกิจการขนส่งทางรางถูกกำหนดให้เป็นระบบอนุญาต เพื่อให้รัฐสามารถกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้ประกอบการขนส่งทางรางได้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการขนส่งทางรางเป็นสาธารณูปโภคที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 56 วรรคสอง ที่กำหนดให้โครงสร้างพื้นฐานของรัฐต้องอยู่ในกรรมสิทธิ์ของรัฐไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 การใช้ระบบอนุญาตนี้ยังช่วยสร้างความมั่นใจว่ามาตรฐานการดำเนินงานและความปลอดภัยของการขนส่งทางรางจะเป็นไปตามข้อกำหนดที่กรมการขนส่งทางรางออกประกาศมาตรฐานด้านต่างๆ ข้างต้น อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการพัฒนาและแข่งขันเสรีในอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง อันจะนำไปสู่การลดต้นทุนและราคาค่าโดยสาร ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน

2. การเชื่อมต่อโครงข่ายรางและการจัดสรรความจุในการเดินรถ

กรมการขนส่งทางรางเสนอให้มีการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานทางรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อดำเนินการขนส่งทางราง โดยเอกชนจะได้รับอนุญาตให้เดินรถในช่วงเวลาที่ว่างอยู่ และชำระค่าใช้รางให้ รฟท. การดำเนินการนี้จะช่วยลดต้นทุนของเอกชนและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมักมีขั้นตอนที่ซับซ้อน อาจทำให้เอกชนไม่สนใจร่วมลงทุน ดังนั้น กรมการขนส่งทางราง จึงเสนอให้เอกชนสามารถทำสัญญาใช้โครงข่ายรางกับ รฟท. ได้โดยตรงภายใต้การกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางราง เพื่อให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากที่สุด

3. การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

อีกหนึ่งในบทบาทสำคัญสำหรับการยกระดับมาตรฐานระบบรางคือการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวดและครอบคลุม เพื่อรองรับการเชื่อมต่อการขนส่งทางรางกับประเทศเพื่อนบ้านและการขยายตัวของการขนส่งระบบรางในอนาคต กรมการขนส่งทางรางจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมการบิน ที่มีการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยอย่างครบถ้วน ซึ่งมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางรางกำหนด ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางจะต้องดำเนินการมาตรฐานนั้น  การกำหนดให้มีบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาของอธิบดีกรมการขนส่งทางรางที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานและทดสอบการเดินรถขนส่งทางราง เพื่อให้มีหน่วยงานอิสระมาตรวจสอบมาตรฐานการทดสอบการเดินรถว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนก่อนพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยจะมีการตรวจสอบระบบความปลอดภัยในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การทดสอบการเดินรถ การตรวจสอบสภาพโครงสร้างพื้นฐาน และการตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในวงกว้าง

นายพิเชฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า การยกระดับมาตรฐานระบบรางภายใต้พระราชบัญญัติการขนส่งทางรางนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการแข่งขันในระบบการขนส่งทางราง การใช้โครงสร้างพื้นฐานอย่างคุ้มค่า และการยกระดับความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้การขนส่งทางรางเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

เคทีซี เดินหน้าโครงการปันความรู้ เสริมศักยภาพพนักงาน

เคทีซี เดินหน้าโครงการปันความรู้ เสริมศักยภาพพนักงานพร้อมยกระดับการบริการ

เคทีซีปันน้ำใจกว่า 28 ล้านบาท ให้กับน้องๆ มูลนิธิเด็กโสสะฯ

เคทีซีรวมพลังสมาชิกปันน้ำใจกว่า 28 ล้านบาท ร่วมสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับน้องๆ มูลนิธิเด็กโสสะฯ

เคทีซี มอบทุนสนับสนุนมูลนิธิศุภนิมิตฯ กว่า 29 ล้านบาท

เคทีซี รวมพลังสมาชิกบัตรเครดิตส่งต่อโอกาส มอบทุนสนับสนุนมูลนิธิศุภนิมิตฯ กว่า 29 ล้านบาท

เคทีซีเผยยอดเช่ารถคึกคัก

เคทีซีเผยยอดเช่ารถคึกคัก เส้นทางเมืองรองได้รับความนิยมมากขึ้น