“เอกนัฏ” ขับเคลื่อน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)

Date:

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะมาตรฐานในกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve และ New S-curve เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล  หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การเกษตรและเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เป็นต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นต้องพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าในเวทีการค้าโลก นอกจากนี้ ยังเร่งรัดให้ สมอ. ยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน โดยการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 144 รายการ ครอบคลุมสินค้า 308 ผลิตภัณฑ์ ที่ผู้ประกอบการทั้งทำ นำเข้า และจำหน่าย จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน รวมทั้งเพิ่มความถี่และความเข้มงวดในการตรวจควบคุมสินค้าที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดและทางออนไลน์ หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด

นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) หรือ บอร์ด สมอ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนการกำหนดมาตรฐาน ประจำปี 2568 ที่  สมอ. ขออนุมัติเป็นครั้งแรก จำนวน 512 มาตรฐาน แบ่งเป็นมาตรฐานกลุ่ม S-Curve จำนวน 125 มาตรฐาน ได้แก่ การเกษตรและเทคโนโลยี 65 มาตรฐาน  อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 58 มาตรฐาน เชื้อเพลิงชีวภาพ 2 มาตรฐาน  กลุ่ม New S-Curve จำนวน 94 มาตรฐาน ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ 62 มาตรฐาน  อุตสาหกรรมดิจิทัล 16 มาตรฐาน หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 16 มาตรฐาน และกลุ่มส่งเสริมผู้ประกอบการ จำนวน 293 มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรฐานอีกจำนวน 68 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม  ยานยนต์สมัยใหม่  อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร  เคมี  และไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา สมอ. ได้ขออนุมัติบอร์ดจัดทำมาตรฐานทั้งสิ้น 1,685 มาตรฐาน ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1,495 มาตรฐาน แบ่งเป็นมาตรฐานกลุ่มนโยบายที่รัฐส่งเสริม 64 มาตรฐาน กลุ่ม S-Curve 389 มาตรฐาน กลุ่ม New S-Curve 261 มาตรฐาน กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ 153 มาตรฐาน และกลุ่มส่งเสริมผู้ประกอบการ 628 มาตรฐาน ยังคงเหลืออีก 190 มาตรฐานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ สำหรับแผนการกำหนดมาตรฐาน ประจำปี 2568 ที่บอร์ดเห็นชอบในครั้งนี้ เป็นการขออนุมัติในครั้งแรก ซึ่งจะมีการขออนุมัติเพิ่มเติมอีกในการประชุมครั้งต่อๆ ไป เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการคุ้มครองประชาชน

 โดยในจำนวน 512 มาตรฐานนี้ เป็นมาตรฐานที่ สมอ. ดำเนินการ จำนวน 457 มาตรฐาน และมาตรฐานที่จัดทำโดย SDOs หรือองค์กรกำหนดมาตรฐานของ สมอ. เช่น กรมวิทยาศาสตร์บริการ  สถาบันยานยนต์  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  อีกจำนวน 55 มาตรฐาน เช่น กล่องเก็บสายสัญญาณ  แผ่นยางรองรางสำหรับรถไฟความเร็วสูง  ท่อลงน้ำมันสำหรับรถบรรทุก  โรลเลอร์สำหรับนวดและบริหารกล้ามเนื้อ  โฟมดูดซับน้ำมัน  รองเท้าบูทยางพารา  ยางกั้นล้อ  แผ่นยางป้องกันการพลังทลายของตลิ่ง  หมวกนิรภัยยางพารา  เสาหลักนำทางจากยางพารา  ยางหุ้มกำแพงคอนกรีตจากยางพารา  กรวยยางธรรมชาติอุดรูระเบิดสำหรับการระเบิดทางวิศวกรรม  ชุดตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนในอาหารฮาลาล  ดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดีพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับให้แสงสว่างบนถนน  และถ่านชีวภาพเพื่อการเกษตร เป็นต้น เลขาธิการ สมอ. กล่าว 

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

การเมือง กรกฎาร้อน สิงหาร้อนกว่า

ประเมิน การเมือง กรกฎาร้อน สิงหาร้อนกว่า

DEXON ยกระดับการบริหารจัดการสินทรัพย์

DEXON ยกระดับการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้วยระบบ AIMS

กลุ่มไทยออยล์รับมอบประกาศนียบัตร Carbon Footprint of Product

กลุ่มไทยออยล์รับมอบประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรอง Carbon Footprint of Product ครบทั้งสายปิโตรเลียมและปิโตรเคมี

TSM GROUP เปิดโรงน้ำตาลผลิต Sustainable Bio CO₂

TSM GROUP เปิดโรงน้ำตาลผลิต Sustainable Bio CO₂ แห่งแรกในประเทศไทย ก้าวสู่องค์กรยั่งยืนเต็มระบบ