คนไทยซื้อ “ทองคำ” โตมากสุดในอาเซียน

Date:


รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 จากสภาทองคำโลก (World Gold Council:WGC) ได้เผยว่าความต้องการทองคำผู้บริโภคของประเทศไทยยังคงมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง โดยพุ่งสูงขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นปริมาณ 14.5 ตัน ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ขณะเดียวกันปริมาณความต้องการทั่วโลกก็ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยมีปริมาณความต้องการทองคำทั้งหมด จากทุกภาคส่วนเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 1,313 ตัน ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณความต้องการโดยรวมของไตรมาสที่ 3 ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และนับเป็นมูลค่าของความต้องการทองคำรวมสูงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการลงทุนที่แข็งแกร่งท่ามกลางสภาวะราคาทองคำที่สูงเป็นประวัติการณ์

ด้านความต้องการทองคำสำหรับการลงทุนได้เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 364 ตัน เนื่องจากทิศทางความต้องการในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำได้เปลี่ยนไปซึ่งโดยส่วนหลักแล้วเกิดขึ้นจากนักลงทุนฝั่งตะวันตก กองทุน ETF ทองคำทั่วโลกได้เพิ่มปริมาณทองคำขึ้นจำนวนรวม 95 ตัน ซึ่งถือเป็นไตรมาสแรกที่มีทิศทางเป็นบวกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 เป็นต้นมา

แม้ว่าความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกได้ลดลง 9% แต่ความต้องการของประเทศไทยกลับสวนกับทิศทางในระดับโลกและเติบโตเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า โดยมีจำนวนอยู่ที่ 12.1 ตันสำหรับในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และนับเป็นประเทศที่มีความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสูงเป็นอันดับที่สองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกในปีนี้ยังคงอยู่ที่ระดับ 859 ตัน ซึ่งถือว่ายังคงเป็นระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปีซึ่งอยู่ที่ปริมาณ 774 ตัน

คุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า

“ความต้องการทองคำผู้บริโภคในประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการประกาศเริ่มโครงการ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ที่รอคอยกันมานาน ซึ่งได้รวมการแจกเงินรูปแบบของเงินสดที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่น รัฐบาลได้เริ่มดำเนินโครงการนี้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ซึ่งอาจช่วยสนับสนุนความต้องการทองคำในไตรมาสที่ 4 ได้”

คุณเซาไก กล่าวเสริมว่า “ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ความกังวลทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการคาดการณ์ว่าราคาทองคำจะพุ่งสูงขึ้น ได้กระตุ้นความต้องการทองคำของนักลงทุนในประเทศในกลุ่มอาเซียนในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา โดยทั้งประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต่างก็มีการเติบโตในระดับตัวเลขสองหลักเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยซึ่งความต้องการทองคำผู้บริโภคยังคงมีการเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนติดต่อกันถึงสองไตรมาส”

ในส่วนของธนาคารกลาง ได้มีการซื้อทองคำชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามระดับความต้องการยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ปริมาณ 186 ตัน โดยยอดความต้องการทองคำของธนาคารกลางตลอดทั้งปีจนถึงปัจจุบันรวมกันอยู่ที่ระดับ 694 ตัน สอดคล้องกับระดับปริมาณในช่วงเดียวกันของปี 2565

ราคาทองคำยังคงพุ่งสูงต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสนี้ โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,474 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อระดับความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลก และทำให้การบริโภคทองคำเครื่องประดับลดลง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าหากพิจารณาในแง่ของปริมาณทองคำ แต่หากมองในเชิงมูลค่ากลับพบว่ามีการเติบโต 13% สิ่งนี้อาจแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อผลิตภัฒฑ์ทองคำในปริมาณที่น้อยลง

นอกจากนี้ ความต้องการทองคำในภาคเทคโนโลยีได้เติบโต 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเนื่องจากการเติบโตของเทคโนโลยี AI ที่ยังคงสนับสนุนความต้องการทองคำอย่างต่อเนื่อง

ด้านอุปทานทองคำในไตรมาสนี้มีปริมาณรวมทั้งหมดสูงขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเกิดจากการเติบโตของการผลิตทองคำเหมืองแร่ที่เพิ่มขึ้น 6% และปริมาณการรีไซเคิลทองคำที่สูงขึ้น 11%

คุณหลุยส์ สตรีท (Louise Street) นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโส ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า

“ไตรมาสที่ 3 มีการลงทุนและกิจกรรมการซื้อขายนอกตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งได้ช่วยหนุนความต้องการทองคำทั่วโลกและผลักดันผลประกอบการของราคาทองคำ แม้ว่าราคาที่สูงขึ้นนี้ได้ทำให้ความต้องการในตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่ลดลง แต่การลดภาษีนำเข้าในอินเดียก็ได้ทำให้ความต้องการทองคำเครื่องประดับรวมถึงทองคำแท่งและเหรียญทองคำยังคงอยู่ในระดับสูงได้อย่างน่าทึ่ง ท่ามกลางสภาวะราคาทองคำที่สูงเป็นประวัติการณ์”

“ปัจจัยของ ‘ความกลัวว่าจะพลาดโอกาส’ ในหมู่นักลงทุนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผลักดันให้ปริมาณความต้องการทองคำสูงขึ้นในไตรมาสนี้ นักลงทุนได้แสดงความสนใจซื้อทองคำเนื่องจากแนวโน้มด้านราคา และสนับสนุนด้วยแนวโน้มของการลดอัตราดอกเบี้ยที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้นักลงทุนยังได้มองบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐฯ และความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง”

“ในอนาคตข้างหน้า เรามองว่าการเปลี่ยนแปลงในกระแสการลงทุนทองคำยังคงเป็นแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งสิ่งนี้อาจช่วยรักษาปริมาณความต้องการทองคำและระดับราคาให้อยู่ในระดับสูง แต่ขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นราคาทองคำพุ่งทำสถิติใหม่มาแล้วมากกว่า 30 ครั้งในปี 2567 ซึ่งสภาวะนี้จะยังคงเป็นความท้าทายสำหรับผู้บริโภคต่อไป อย่างไรก็ดีโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เราจะจับตามองเพราะอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทิศทางของทองคำได้”

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ 

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ

“บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด

กิจกรรมแก้หนี้เชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด ช่วย SMEs ลูกหนี้ที่ บสย. จ่ายเคลม “ปลดหนี้” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ประกาศจุดยืน “อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ”

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ร่วมเวที CEO Forum ประกาศจุดยืน "อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ" สู่อนาคต Net Zero

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย – ภูฏาน

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย - ภูฏาน FTA ฉบับที่ 17 ของไทย เปิดตลาดใหม่สู่เอเชียใต้