จดทะเบียนธุรกิจใหม่ 10 เดือน แตะ 7.7 หมื่นราย

Date:

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนตุลาคม 2567 มีจำนวน 7,267 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 620 ราย (9.33%) และทุนจดทะเบียน 30,149.01 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 2,938.03 ล้านบาท (10.80%) ประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 573 ราย ทุน 1,150.87 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 524 ราย ทุน 1,954.06 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 345 ราย ทุนจดทะเบียน 671.39  ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.88% 7.21% และ 4.75% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนตุลาคม 2567 ตามลำดับ

เดือนตุลาคม 2567 มีนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท ที่เกิดจากการควบรวมกิจการจำนวน 1 ราย ซึ่งเป็นการควบระหว่างบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) เดิม (ห้างแม็คโคร) กับบริษัท เอกชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างโลตัส) เป็น บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ใหม่ มูลค่าทุนจดทะเบียน 10,427.66 ล้านบาท ประกอบกิจการค้าส่งและค้าปลีก

ทั้งนี้ ธุรกิจใหม่สะสม 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม) ปี 2567 มีจำนวน 76,953 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 1,641 ราย (2.18%) ทุนจดทะเบียน 238,630.39 ล้านบาท ลดลง 282,952.67 ล้านบาท (54.25%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เนื่องจาก ปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์เพราะมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ ทั้งนี้ 10 เดือนปี 2567 มี ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 5,867 ราย ทุน 12,893.94 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 5,753 ราย ทุน 24,787.78 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 3,557 ราย ทุน 7,198.17 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.62% 7.48% และ 4.62% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 ตามลำดับ

สำหรับคาดการณ์การจดทะเบียนตลอดไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ยังมีปัจจัยกระตุ้นด้านการลงทุน อาทิ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานปีงบประมาณ 2568 ที่จะเริ่มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 (ตุลาคม 2567) การจับจ่ายใช้สอยเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการยังขยายตัวในหลายภูมิภาค และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในสถานการณ์การประกอบธุรกิจ และความเชื่อมั่นในการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเพิ่มขึ้นช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับภาคเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ คาดว่าตลอดปี 2567 จะมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เกิน 90,000 ราย

ด้านการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนตุลาคม 2567 มีจำนวน 2,516 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 276 ราย (12.32%) และทุนจดทะเบียนเลิก 9,899.41 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 945.17 ล้านบาท (10.56%) ประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 218 ราย ทุน 389.14 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 108 ราย ทุน 3,202.14 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 100 ราย ทุน 387.23 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.66% 4.29% และ 3.98% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนตุลาคม 2567 ตามลำดับ 

ทั้งนี้ เดือนตุลาคม 2567 มีนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ราย  คือ บริษัท เอพี เอ็มอี 2 จำกัด ทุนจดทะเบียนเลิก 2,001.00 ล้านบาท ประกอบกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์การจัดการที่ดินเปล่า หรือจัดสรรที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารชุด

การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการสะสม 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม 2567) มีจำนวน 14,762 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ลดลง 488 ราย (3.20%) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสม 125,904.66 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 35,549.79 ล้านบาท (39.34%) ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากในเดือนพฤษภาคม 2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร 1 ราย ที่ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท แต่มีการปรับโครงสร้างการดำเนินการและไม่ได้ประกอบกิจการใดแล้วจึงจดทะเบียนเลิกธุรกิจ เป็นเหตุให้ตัวเลขทุนจดทะเบียนเลิกสะสมในช่วง 10 เดือน ปี 2567 สูงกว่าปกติ ซึ่งหากไม่รวมทุนจดทะเบียนเลิกของธุรกิจโทรคมนาคมรายนี้ มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกจะลดลงถึง 14% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 941,727 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.34 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 737,658 ราย (78.33%) ทุนรวม 16.15 ล้านล้านบาท (72.30%) ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 202,588 ราย (21.51%) ทุนรวม 0.47 ล้านล้านบาท (2.11%) และ บริษัทจำกัดมหาชน 1,481 ราย (0.16%) ทุนรวม 5.72 ล้านล้านบาท (25.59%)

เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) 879,414 ราย (93.38%) ทุนรวม 8.18 ล้านล้านบาท (36.60%) ขนาดกลาง (M) 46,386 ราย (4.93%) ทุนรวม 2.75 ล้านล้านบาท (12.31%) และ ขนาดใหญ่ (L) 15,927 ราย (1.69%) ทุนรวม 11.41 ล้านล้านบาท) (51.09%)

แยกตามประเภทธุรกิจ บริการ 507,786 ราย (53.92%) ทุนรวม 13.14 ล้านล้านบาท (58.81%) ขายส่ง/ปลีก 309,107 ราย (32.82%) ทุนรวม 2.50 ล้านล้านบาท (11.21%)  และ ผลิต 124,834 ราย (13.26%) ทุน 6.70 ล้านล้านบาท (29.98%) 

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

อดีตรมว.คลัง คาดสหรัฐฯ ไม่ลดภาษี 36% ให้ไทย

อดีตรมว.คลัง คาดสหรัฐฯ ไม่ลดภาษี 36% ให้ไทยมีความเป็นไปได้สูง เพราะสหรัฐฯ ถือไพ่เหนือกว่าไทยมาก

“ทักษิณ” เข้าบ้านพิษณุโลก ถกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทย

“ทักษิณ” เข้าบ้านพิษณุโลก ถกทีมไทยแลนด์รับมือภาษีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทย

อดีตนายกฯ เศรษฐา บอก Soft Power ไม่ใช่ทุกอย่างจะถูกจดจำ

อดีตนายกฯ เศรษฐา บอก Soft Power ไม่ใช่ทุกอย่างจะถูกจดจำและยอมรับในระดับโลก

“วิทัย รัตนากร” ผู้ว่าแบงก์ชาติ แห่งการเปลี่ยนแปลง

“วิทัย รัตนากร” ผู้ว่าแบงก์ชาติ แห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้จะพลิกให้ธปท.ให้เป็นแบงก์ชาติเพื่อประเทศ เหมือนกับทำออมสิน ให้เป็นธนาคารเพื่อสังคม