ธ.ก.ส. จัด 2 มาตรการ ช่วยลดภาระหนี้สิน ของขวัญปีใหม่ 

Date:

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2568 ธ.ก.ส. พร้อมมอบของขวัญพิเศษ เพื่อส่งความสุขและมอบรอยยิ้มให้กับเกษตรกรลูกค้าทั่วประเทศตามนโยบายรัฐบาลด้วยการจัด 2 มาตรการแบ่งเบาภาระหนี้สิน สนับสนุนการฟื้นฟูศักยภาพทางการเงิน และการสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ ได้แก่ มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เรื้อรัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่สถานะเป็นหนี้ NPLs ทุกสัญญา หรือมีต้นเงินเป็น NPLs มากกว่าร้อยละ 75 ของต้นเงินคงเหลือ หรือเป็นลูกหนี้ NPLs ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังที่มีศักยภาพต่ำและไม่สามารถชำระหนี้ได้เสร็จสิ้น ได้แก่ เกษตรกรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หรือเป็นลูกหนี้ที่มีสถานะ NPLs จะได้รับสิทธิพิเศษในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการ ดังนี้ 1) ปลอดชำระต้นเงิน 3 ปี 2) อัตราดอกเบี้ย MRR*  ลบร้อยละ 2 ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR เท่ากับร้อยละ 6.875 ต่อปี) ตลอดอายุสัญญา แต่ไม่เกิน 20 ปี 3) ลูกหนี้จะได้รับการลดดอกเบี้ยรวมบัญชี ไม่เกินร้อยละ 70 ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่เข้ามาตรการแล้วสามารถชำระได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด สามารถขอเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้เป็นการชำระต้นเงินร้อยละ 60 และดอกเบี้ย ร้อยละ 40 (Care Pay 60:40) และเปลี่ยนสถานะ NPLs ให้เป็นหนี้ปกติได้ทันที โดยการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านมาตรการดังกล่าว จะสามารถช่วยให้เกษตรกรสามารถชำระหนี้ได้ตามความสามารถและสามารถหลุดพ้นกับดักหนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ 

“มาตรการจ่าย-ปิด-จบ” สำหรับกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่มี NPLs บุคคลธรรมดาในทุกประเภทสินเชื่อที่มีภาระหนี้สินคงค้างไม่เกิน 5,000 บาท ที่ลูกหนี้ต้องชำระบางส่วนของภาระหนี้ และปลดหนี้ส่วนที่เหลือตามเงื่อนไขมาตรการ เพื่อไม่ทำให้เสียประวัติเครดิต แล้วจึงจะได้รับการยกดอกเบี้ยทั้งหมด เมื่อสามารถชำระได้ตามเงื่อนไข ทั้งนี้ ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวแต่ละราย สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี และลูกหนี้ต้องมียอดค้างชำระต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 90 วัน นับตั้งแต่วันกำหนดชำระ (ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567) ซึ่งมีลูกค้าที่มีสิทธิ์เข้ารับมาตรการลดภาระหนี้จำนวนกว่า 19,000 ราย ระยะเวลาดำเนินโครงการ เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

ในขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. พร้อมคืนกำไรให้กับลูกค้าที่ชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลาผ่านโครงการชำระดีมีโชค ปี 2567/68 เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาชำระหนี้ในช่วงใกล้ถึงกำหนด หรือ ตรงตามกำหนดสัญญาเงินกู้ หรือในช่วงที่ลูกค้ามีรายได้อื่นเข้ามาเป็นลำดับแรก อันเป็นการส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อลูกค้าที่มาชำระหนี้ตามเงื่อนไขโครงการจะได้รับของขวัญ 1 ชิ้นทันที รวมมูลค่ารางวัลกว่า 40 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 31 มีนาคม 2568 ณ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ (เงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) 

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังมุ่งผลักดันทายาทเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการต่อยอดและ สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ให้เติบโตในธุรกิจเกษตรด้วยสินเชื่อที่พร้อมตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ได้แก่ สินเชื่อเพื่อเกษตรกรรุ่นใหม่ (New Gen & Young Smart Farmer) วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กับทายาทเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและค่าลงทุนในการประกอบอาชีพเกษตรหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร (Value Added) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรรุ่นใหม่ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก ไม่จำกัดวงเงินกู้ต่อราย ผ่อนชำระนานสูงสุด 15 ปี และสินเชื่อแทนคุณ วงเงินสินเชื่อรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ทายาทเกษตรกรเข้ามารับช่วงต่อในการประกอบอาชีพต่อจากครอบครัว และมีส่วนร่วมในการช่วยลดภาระหนี้สินและรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ดังนี้ ปีที่ 1 – 5 อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.875 ต่อปี) ปีที่ 6 – 10 อัตราดอกเบี้ย MRR ลบร้อยละ 1 และปีที่ 11 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR ลบร้อยละ 2

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า การมอบของขวัญปีใหม่แทนคำขอบคุณในครั้งนี้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของเกษตรกร ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า โดย ธ.ก.ส. พร้อมยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกรในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการเกษตร (Funding) ผ่านสินเชื่อที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี (Technology) โดยสนับสนุนการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการผลิต การพัฒนาตลาดและองค์ความรู้ (Knowledge and Marketing) ด้วยการเสริมสร้างความรู้และทักษะให้กับเกษตรกร เพื่อพัฒนาช่องทางการจำหน่าย พร้อมขยายตลาดไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ (Value Added) ด้วยการแปรรูป การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้าให้เป็นที่จดจำ อันนำไปสู่การสร้างรากฐานให้เกษตรกรสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ เกษตรกรลูกค้าที่มีภาระหนี้สินสามารถปรึกษาและสอบถามข้อมูลกับ ธ.ก.ส. ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ Call Center 02 555 0555

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

เปิดศึกซักฟอกรัฐบาล หลัง วาเลนไทน์

“ธนกร” มอง เวลาเหมาะสมฝ่ายค้านเปิดศึกซักฟอกรัฐบาลหลัง วาเลนไทน์ แนะ ข้อมูลต้องแน่น อย่าน้ำท่วมทุ่ง

ดัชนีราคาส่งออก นำเข้าของไทย เดือนพ.ย. 2567 ยังขยายตัวต่อเนื่อง

ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้าของไทย เดือนพ.ย. 2567 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และการแข่งขันทางการค้า

“พิชัย” ชูทิศทางกระทรวงพาณิชย์ปี 68 

“พิชัย” ชูทิศทางกระทรวงพาณิชย์ปี 68 เดินหน้านโยบายรัฐบาล ให้เศรษฐกิจการค้าไทยเข้มแข็ง เป็นธรรม โตอย่างยั่งยืน

ดีเดย์ ธอส. เปิดให้ลงทะเบียน “โครงการคุณสู้ เราช่วย”

ธอส. เปิดให้ลงทะเบียน “โครงการคุณสู้ เราช่วย” วันที่ 6 มกราคม 2568 เป็นวันแรก ผ่าน Application : GHB ALL GEN หรือ Application : GHB ALL Bfriend