กนง. มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2%

Date:

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568

คณะกรรมการฯมีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปีโดยให้มีผลทันทีทั้งนี้ 1 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศ รวมทั้งมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก แม้ว่าเศรษฐกิจจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว กรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากให้น้ำหนักมากกว่ากับการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า

เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการระบายสินค้าคงคลังที่สูง แม้อุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้าขยายตัวดี มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคการผลิตที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากสินค้านำเข้าที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และวัสดุก่อสร้าง ขณะที่ภาคบริการยังขยายตัวได้ ด้านอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชน ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้จากสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีและเกษตรแปรรูปเป็นหลัก ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามภาคการผลิตที่อาจถูกกดดันต่อเนื่อง โดยเฉพาะ SMEs ที่เผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมายจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มลดลง รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ การแข่งขันด้านราคาที่สูงจากสินค้านำเข้า โดยอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับดังกล่าวไม่ได้มีสัญญาณนำไปสู่ภาวะเงินฝืดหรือภาวะที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง และยังมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพและต้นทุนของผู้ประกอบการ ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังทรงตัวในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านต่ำจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกและการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ

ภาวะการเงินยังตึงตัว แม้การขยายตัวและคุณภาพของสินเชื่อในภาพรวมเริ่มมีสัญญาณทรงตัวบ้าง แต่สินเชื่อ SMEs โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างยังหดตัวต่อเนื่อง ด้านการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากครัวเรือนที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ช่วยลดความตึงตัวของภาวะการเงินโดยไม่กระทบต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว แต่เห็นควรให้ติดตามแนวโน้มการขยายตัวและคุณภาพสินเชื่อของกลุ่มเปราะบาง รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนจากความไม่แน่นอนของนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลัก คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลกและการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ประเมินในครั้งนี้ และสามารถรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าได้อย่างเหมาะสม โดยเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับลดลงเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างซึ่งจำเป็นต้องใช้นโยบายเพิ่มขีดความสามารถของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในการยกระดับศักยภาพอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ 

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ

“บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด

กิจกรรมแก้หนี้เชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด ช่วย SMEs ลูกหนี้ที่ บสย. จ่ายเคลม “ปลดหนี้” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ประกาศจุดยืน “อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ”

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ร่วมเวที CEO Forum ประกาศจุดยืน "อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ" สู่อนาคต Net Zero

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย – ภูฏาน

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย - ภูฏาน FTA ฉบับที่ 17 ของไทย เปิดตลาดใหม่สู่เอเชียใต้