ท่าเรือระนอง ยอดนำเข้า – ส่งออกทะลุ 200%

Date:

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันท่าเรือระนองมียอดการนำเข้า – ส่งออกสินค้าพุ่งสูงขึ้น 200% เป็นผลมาจากสถานการณ์ความไม่สงบและปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเมียวดี ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ทำให้การนำเข้า – ส่งออกไปประเทศเมียนมาและสินค้าผ่านแดนที่ปกติต้องผ่านด่านแม่สอด จังหวัดตาก และด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย ย้ายมาใช้บริการผ่านด่านจังหวัดระนองเพิ่มมากขึ้น 

นางมนพร กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้เห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน สอดคล้องกับนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและพัฒนาการบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล จึงได้กำชับให้ท่าเรือระนอง ภายใต้การกำกับดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เตรียมความพร้อมท่าเทียบเรือ พื้นที่ลานวางตู้สินค้า รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้บริการขนส่งสินค้า เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากประเทศเมียนมาที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว พร้อมรองรับการเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของท่าเรือระนองในการพัฒนาศักยภาพการให้บริการด้านการขนส่งโลจิสติกส์ของภาคใต้ให้มีศักยภาพและเติบโตมากยิ่งขึ้นต่อไป

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นมา ท่าเรือระนองมีสินค้านำเข้า – ส่งออกเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค และกระดาษม้วน ส่งผลให้การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) มีเรือเทียบท่าทั้งสิ้น 281 เที่ยว เพิ่มขึ้น 69% ตู้สินค้าผ่านท่า 2,796 ตู้ เพิ่มขึ้น 111% สินค้าผ่านท่า 324,933 ตัน เพิ่มขึ้น 251% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม – ธันวาคม 2567) มีเรือเทียบท่า 61 เที่ยว เพิ่มขึ้น 91% ตู้สินค้าผ่านท่า 2,002 ตู้ เพิ่มขึ้น 458% สินค้าผ่านท่า 21,294 ตัน เพิ่มขึ้น 26% 

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า จากการเติบโตของท่าเรือระนอง สะท้อนถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าส่งออกของไทย เช่น ผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค และกระดาษม้วน ขณะที่การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สะท้อนถึงความต้องการวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่เติบโตขึ้น นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของปริมาณเรือและตู้สินค้าชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของท่าเรือระนองในการเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลฝั่งอันดามันที่ช่วยสนับสนุนเป้าหมายของ กทท. ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของระบบโลจิสติกส์ไทยในระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ กทท. พร้อมพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือทั้ง 5 แห่ง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยปัจจุบันท่าเรือระนองมีท่าเทียบเรือทั้งหมด 2 ท่า ได้แก่ ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ รองรับเรือสินค้าขนาด 500 ตันกรอส และท่าเทียบเรือตู้สินค้า รองรับเรือได้ไม่เกิน 12,000 เดทเวทตัน และมีพื้นที่ฝากเก็บสินค้า ประกอบด้วย โรงพักสินค้าขนาด 1,500 ตารางเมตร ลานวางสินค้าทั่วไปขนาด 7,200 ตารางเมตร ลานวางตู้สินค้าขนาด 11,000 ตารางเมตร สามารถวางตู้สินค้าได้ประมาณ 800 ทีอียู

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

เคทีซี เดินหน้าโครงการปันความรู้ เสริมศักยภาพพนักงาน

เคทีซี เดินหน้าโครงการปันความรู้ เสริมศักยภาพพนักงานพร้อมยกระดับการบริการ

เคทีซีปันน้ำใจกว่า 28 ล้านบาท ให้กับน้องๆ มูลนิธิเด็กโสสะฯ

เคทีซีรวมพลังสมาชิกปันน้ำใจกว่า 28 ล้านบาท ร่วมสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับน้องๆ มูลนิธิเด็กโสสะฯ

เคทีซี มอบทุนสนับสนุนมูลนิธิศุภนิมิตฯ กว่า 29 ล้านบาท

เคทีซี รวมพลังสมาชิกบัตรเครดิตส่งต่อโอกาส มอบทุนสนับสนุนมูลนิธิศุภนิมิตฯ กว่า 29 ล้านบาท

เคทีซีเผยยอดเช่ารถคึกคัก

เคทีซีเผยยอดเช่ารถคึกคัก เส้นทางเมืองรองได้รับความนิยมมากขึ้น