เจาะ 10 เทรนด์เครื่องดื่มปี 2568 ของไทยไปไกลได้ทุกตลาด

Date:

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ข้อมูลจาก Innova Market Insights  หนึ่งในผู้นำด้านการวิจัยตลาดอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก พบแนวโน้มตลาดสินค้าเครื่องดื่มที่น่าสนใจ ดังนี้

1) ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความสดใหม่ คุณค่าทางโภชนาการ และประโยชน์ต่อสุขภาพของผลิตภัณฑ์อย่างมาก (Ingredients and Beyond) ผู้บริโภคต้องการทราบแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่บริโภคมีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยต่อสุขภาพ

2) ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพและโภชนาการเฉพาะบุคคล (Health – Precision Wellness) ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มเฉพาะบุคคล อาทิ การควบคุมและลดน้ำหนัก หรือการได้รับสารอาหารตามโภชนาการเฉพาะตัวในแต่ละช่วงอายุวัย เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวอ้างถึงการจัดการปัญหาการควบคุมน้ำหนักและโภชนาการตามช่วงอายุวัยและไลฟ์สไตล์ มีการเติบโต 10% ต่อปี

3) ความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Wildly Inventive) ผู้บริโภค 43% 

มักมองหารสชาติใหม่ ๆ อยู่เสมอ และ 37% ติดตามเทรนด์เครื่องดื่มผ่านโซเชียลมีเดีย การเลือกใช้รสชาติของผลไม้ตามฤดูกาล การผสมผสานระหว่างเครื่องดื่มและของหวานเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง จากข้อมูลวิจัยพบว่า สินค้าดังกล่าวเติบโตเฉลี่ยปีละ 16% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะสินค้ามีเอกลักษณ์ และสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับผู้บริโภค 

4) เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมช่วยฟื้นฟูลำไส้ (Gut Health – Flourish from Within) เช่น ไฟเบอร์ 

โปรไบโอติกส์ และวิตามิน เพื่อสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้และระบบย่อยอาหารเป็นเทรนด์เครื่องดื่มที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว เติบโต 8% ต่อปี 

5) ตลาดผลิตภัณฑ์จากพืช (Plant-Based – Rethinking Plants) กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาด Plant-Based มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 23% และผู้บริโภคยังมุ่งเน้นการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย

6) การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน (Sustainability – Climate adaptation) การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศส่งผลต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ผู้บริโภค 50% ตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัว เช่น มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ทดแทนสินค้าเดิม หรือการค้นหาวัตถุดิบทางเลือกที่ทนทานต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน 

7) เครื่องดื่มเพื่อความงาม (Beauty Food – Taste the Glow) 1 ใน 5 ของผู้บริโภคทั่วโลกเลือกซื้อเครื่องดื่มที่ช่วยเรื่องรูปลักษณ์ความงาม เช่น คอลลาเจน และวิตามิน โดยเฉพาะผู้หญิงวัยกลางคนที่ต้องการฟื้นฟูผิวและชะลอวัย ให้ความสำคัญกับผิวหน้า ผม และผิวกาย เป็นสำคัญ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการเติบโตถึง 11% ต่อปี

8) วัฒนธรรมทางอาหารและเครื่องดื่ม (Food Culture – Tradition Reinvented) ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงอาหารและเครื่องดื่มกับวัฒนธรรม ความหลากหลายของรสชาติและวัตถุดิบท้องถิ่น รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สะท้อนความแตกต่างทางวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นการสร้างความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกัน อาทิ กลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่ต้องการรสชาติที่คุ้นเคย และกลุ่มคนรุ่นใหม่/นักท่องเที่ยวที่ต้องการทดลองประสบการณ์ใหม่ในแต่ละท้องถิ่น โดยการทดลองชิมอาหารรสชาติใหม่ที่แตกต่างออกไป 

9) เครื่องดื่มสำหรับสุขภาพจิต (Mood Food – Mindful Choices) ตลาดกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภค 36% มองหาเครื่องดื่มที่ช่วยควบคุมอารมณ์และการนอนหลับ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของวิตามิน B6 B9 และ B12 เป็นส่วนผสมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากวิตามินเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของสมองและระบบประสาท

10) การเข้ามามีบทบาทของ AI (AI – Bytes to Bites) การนำ AI มาใช้ในทุกขั้นตอนกระบวนการผลิต ตั้งแต่การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การเลือกวัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการควบคุมคุณภาพ บริษัทต่าง ๆ ใช้ AI เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และมีประสิทธิภาพ 

นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เทรนด์ธุรกิจเครื่องดื่มปีนี้เป็นที่น่าจับตามอง อุตสาหกรรมเครื่องดื่มยังคงเติบโตต่อเนื่อง ผู้บริโภคมองหาทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและบริโภคได้ทุกโอกาส ที่สำคัญผู้บริโภคยุคใหม่เปรียบเทียบคุณภาพ ที่มาที่ไปของวัตถุดิบ ความซื่อสัตย์และความโปร่งใสของบริษัทแลกกับราคาที่จ่าย ผู้บริโภคยอมจ่ายสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าปริมาณและราคาเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ซึ่งการแข่งขันในตลาดนี้มีความเข้มข้น ทั้งจากประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า หรือประเทศที่สร้างแบรนด์มาอย่างยาวนาน ดังนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับคุณภาพวัตถุดิบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างความแตกต่าง การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบย้อนกลับสินค้า การให้ข้อมูลคุณประโยชน์ของสินค้าที่มีต่อสุขภาพ และการสร้างเรื่องราว (Story Telling) เพื่อดึงความสนใจและสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ ซึ่งไทยมีศักยภาพสูงในตลาดเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มน้ำผลไม้ โดยในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นอันดับที่ 5 ของโลก และเครื่องดื่มน้ำผลไม้ เป็นอันดับที่ 9 ของโลก”

สถิติการส่งออกเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (พิกัด 2202) ในปี 2566 โลกส่งออกเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นมูลค่า 29,356.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 5 ของโลก มีสัดส่วน 5.3% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของทั้งโลก (ประเทศผู้ส่งออกเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ ออสเตรีย (9.9%) เยอรมนี (9.3%) เนเธอร์แลนด์ (8.4%) สวิตเซอร์แลนด์ (5.4%) ไทย (5.3%) สหรัฐอเมริกา (5.2%) เม็กซิโก (3.8%) เบลเยียม (3.7%) ฝรั่งเศส (3.6%) และโปแลนด์ (3.1%) ตามลำดับ) ทั้งนี้ ตลาดส่งออกของไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก สินค้าที่ไทยส่งออกมาก เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง นมถั่วเหลือง นมยูเอชที และน้ำหรือน้ำอัดลมที่ปรุงกลิ่นรส สำหรับปี 2567 ไทยส่งออกเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นมูลค่า 1,663.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ (1) กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) 1,121.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (67.4% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของไทย) (2) มาเลเซีย 88.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (5.3%) (3) จีน 53.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (3.3%) (4) ฟิลิปปินส์ 48.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.9%) และ (5) สหรัฐอเมริกา 40.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.5%) 

สำหรับสถิติการส่งออกเครื่องดื่มน้ำผลไม้ (พิกัด 2009) ในปี 2566 โลกส่งออกเครื่องดื่มน้ำผลไม้ เป็นมูลค่า 17,850.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 9 ของโลก มีสัดส่วน 4.1% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มน้ำผลไม้ของทั้งโลก (ประเทศผู้ส่งออกเครื่องดื่มน้ำผลไม้ 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ บราซิล (15%) เนเธอร์แลนด์ (9.5%) สเปน (6.1%) จีน (5.1%) โปแลนด์ (5%) เยอรมนี (4.9%) เบลเยียม (4.7%) สหรัฐอเมริกา (4.2%) ไทย (4.1%) และอิตาลี (3.7%) ตามลำดับ) สินค้าที่ไทยส่งออกมาก ได้แก่ น้ำมะพร้าว น้ำผลไม้หรือน้ำพืชผักต่าง ๆ ผสมกัน และน้ำสับปะรด สำหรับปี 2567 ไทยส่งออกเครื่องดื่มน้ำผลไม้ เป็นมูลค่า 959.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 30.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ (1) สหรัฐอเมริกา 335.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (35.0% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มน้ำผลไม้ของไทย) (2) จีน 249.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (26.0%) (3) กลุ่มประเทศ CLMV 100.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (10.5%) (4) ออสเตรเลีย 44.65 ล้านเหรียญสหรัฐ (4.7%) และ (5) เนเธอร์แลนด์ 33.62 ล้านเหรียญสหรัฐ (3.5%)

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

เคทีซี เดินหน้าโครงการปันความรู้ เสริมศักยภาพพนักงาน

เคทีซี เดินหน้าโครงการปันความรู้ เสริมศักยภาพพนักงานพร้อมยกระดับการบริการ

เคทีซีปันน้ำใจกว่า 28 ล้านบาท ให้กับน้องๆ มูลนิธิเด็กโสสะฯ

เคทีซีรวมพลังสมาชิกปันน้ำใจกว่า 28 ล้านบาท ร่วมสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับน้องๆ มูลนิธิเด็กโสสะฯ

เคทีซี มอบทุนสนับสนุนมูลนิธิศุภนิมิตฯ กว่า 29 ล้านบาท

เคทีซี รวมพลังสมาชิกบัตรเครดิตส่งต่อโอกาส มอบทุนสนับสนุนมูลนิธิศุภนิมิตฯ กว่า 29 ล้านบาท

เคทีซีเผยยอดเช่ารถคึกคัก

เคทีซีเผยยอดเช่ารถคึกคัก เส้นทางเมืองรองได้รับความนิยมมากขึ้น