
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – ภูฏาน และมอบหมายให้ตนลงนามความตกลงดังกล่าวร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงานของภูฏาน ในวันที่ 3 เมษายน 2568 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) และนายกรัฐมนตรีของภูฏาน(ดาโช เชริง โตบเกย์) ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน
นายพิชัย เปิดเผยว่า FTA ไทย – ภูฏาน จะเป็น FTA ฉบับที่ 2 ที่สำเร็จผลและมีการลงนามนับตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และจะเป็น FTA ฉบับที่ 17 ของประเทศไทย ซึ่งการลงนาม FTA ดังกล่าวจะถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งผู้ประกอบการและผู้บริโภคของทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์ทางการค้าอย่างเต็มที่จากการยกเว้นภาษีภายใต้ FTA ฉบับนี้
นายพิชัยกล่าวเสริมว่า ภูฏานให้ความสำคัญกับการค้ากับไทยเป็นอย่างมาก โดย FTA ไทย – ภูฏาน ถือเป็น FTA ฉบับแรกของภูฏานกับประเทศนอกกลุ่มเอเชียใต้ โดยก่อนหน้านี้ภูฏานได้จัดทำ FTA กับกลุ่มประเทศเอเชียใต้ คือ ความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชียใต้ (South Asian Free Trade Area: SAFTA) ที่ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาล ศรีลังกา ปากีสถาน และมัลดีฟส์
ในปี 2567 การค้าระหว่างไทยและภูฏานมีมูลค่า 460.47 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปภูฏาน 457 ล้านบาท และนำเข้าจากภูฏาน 3.47 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ ยานพาหนะและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เครื่องดื่ม และผลไม้กระป๋องและแปรรูป และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย อาทิ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้ เครื่องบิน เครื่องร่อนอุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา