
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) กล่าววิสัยทัศน์ในหัวข้อ “คปภ. กับบทบาทเชิงรุก : ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนควบคู่การประกันภัย” ว่า โครงการสร้างพื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนและการรณรงค์ประกันภัยรถภาคบังคับ ปี 2568 เป็นมิติใหม่ในการดำเนินโครงการของสำนักงาน คปภ. เนื่องจากอัตราการเกิดอุบัติเหตุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี
โดยค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่ากังวล โดยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนเฉลี่ยสูงถึง 14,000 รายต่อปี ซึ่งนอกจากจะสร้างความสูญเสียในระดับครอบครัวแล้ว ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ “กลุ่มผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บส่วนใหญ่คือวัยแรงงานอายุ 36-60 ปี ซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัว และมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
การสูญเสียจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่สถิติ แต่มันคือการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาในระยะยาว” พร้อมเน้นย้ำว่าการมีประกันภัยรถภาคบังคับช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อต้องเผชิญอุบัติเหตุ โดยกฎหมายกำหนดให้รถทุกคันต้องจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองสูงสุดถึง 504,000 บาทต่อราย
อย่างไรก็ตาม จากสถิติพบว่ามีเพียงร้อยละ 79.97 ของรถ จดทะเบียนเท่านั้นที่จัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ โดยเฉพาะในกลุ่มรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีอัตราการทำประกันภัยเพียงร้อยละ 68.51 เมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้น ผลกระทบไม่ได้จบที่ผู้ประสบเหตุ แต่ยังลุกลามไปถึงครอบครัวที่ต้องรับภาระหนี้สิน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ การมีระบบประกันภัยที่ครอบคลุมจึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการเยียวยา ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงความคุ้มครองอย่างรวดเร็ว เป็นธรรม และลดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ยืนยันที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการเชิงรุกต่อเนื่อง ทั้งด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมวินัยจราจร และเพิ่มการเข้าถึงระบบประกันภัยให้ครอบคลุม ทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในสังคมไทย
ด้านนายวีระพันธ์ ดีอ่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวการปาฐกถาในหัวข้อ “ศักยภาพจังหวัดปราจีน เมืองต้นแบบ Road Safety” โดยกล่าวว่า จังหวัดปราจีนบุรีสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ตามเป้าหมายของแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์อุบัติเหตุใหญ่บนเส้นทางเสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา ยังคงสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการด้านความปลอดภัยต้องได้รับการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง การได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ ไม่ใช่เพียงโอกาส แต่คือความรับผิดชอบที่ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจัง โดยความปลอดภัยทางถนนนั้น ไม่ได้หยุดอยู่แค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ต้องครอบคลุมทั้งการ สร้างวินัยจราจร การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น การแก้ไขพฤติกรรมเสี่ยง และสร้างความตระหนักรู้ในสังคม รวมถึงความเข้าใจเรื่องประกันภัย ที่จะช่วยเยียวยาความสูญเสียและสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้ประชาชน