กยศ. แจงหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท

Date:

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)​ เปิดเผยว่า เนื่องจากสาระสำคัญของพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 คือ การปรับลำดับการชำระหนี้ใหม่ โดยเรียงลำดับการชำระเป็น “เงินต้น – ดอกเบี้ย – เบี้ยปรับ” แทนแบบเดิม เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็น 1% ต่อปี พร้อมทั้งลดอัตราเงินเพิ่ม (เบี้ยปรับ) จากสูงสุด 18% ต่อปี เหลือเพียง 0.5% ต่อปี รวมทั้งให้มีการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืม คำนวณยอดหนี้ใหม่ (Recalculation) และคืนเงินชำระหนี้ส่วนเกินให้แก่ผู้กู้ยืม ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว จะทำให้ผู้กู้ยืมได้รับประโยชน์ ดังนี้ 

การปรับโครงสร้างหนี้ สามารถปลดภาระผู้ค้ำประกันได้ทันที ผู้กู้ยืมสามารถผ่อนชำระเงินคืน กยศ. เป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน และสามารถชำระให้เสร็จสิ้นได้นานถึง 15 ปี โดยในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมเงินต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์และเมื่อชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้น กยศ.จะให้ส่วนลดเบี้ยปรับเดิมที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด 100% แต่หากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้สะสมเกิน 6 งวด จะถือว่าสัญญาปรับโครงสร้างสิ้นสุดลง และจะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2568 มีผู้กู้ยืมมาทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งสิ้น 598,334 บัญชี แบ่งเป็น สัญญาปรับโครงสร้างหนี้แบบกระดาษจำนวน 261,110 บัญชี และสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แบบออนไลน์ จำนวน 337,224 บัญชี โดยผู้กู้ยืมสามารถดำเนินการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.studentloan.or.th และยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD

กฎหมายใหม่ส่งผลดีลูกหนี้ กยศ. ส่วนใหญ่มูลหนี้ลดลง

การคำนวณยอดหนี้ใหม่ (Recalculation) ให้แก่ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืน จำนวน 3,835,213 บัญชี โดย กยศ. นำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมแต่ละรายที่ได้ชำระเงินคืนนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณหนี้ใหม่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ โดยเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้โดยตัดชำระเงินต้นเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ คิดดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อปี และลดเบี้ยปรับเหลือเพียงอัตรา 0.5% ต่อปี ซึ่งผลจากการคำนวณปรากฏว่ามีผู้กู้ยืมที่มียอดหนี้ลดลง 3,548,016 บัญชี กลุ่มที่มียอดหนี้เท่าเดิม 755 บัญชี และกลุ่มที่ไม่มีหนี้คงเหลือ (ปิดบัญชี) 80 บัญชี

โดยมีผู้กู้ยืมที่มีสิทธิขอรับคืนเงินที่ชำระหนี้เกิน จำนวน 286,362 บัญชี ซึ่งปัจจุบันมีผู้กู้ยืมลงทะเบียนขอรับเงินคืนแล้ว จำนวน 26,463 บัญชี และได้คืนเงินไปแล้วจำนวน 2,602 บัญชี เป็นเงินทั้งสิ้น 73.70 ล้านบาท สำหรับการคืนเงินส่วนที่ชำระหนี้เกินดังกล่าว กยศ. จะคืนเงินผ่านระบบโอนเงินแบบพร้อมเพย์ที่ผูกบัญชีธนาคารด้วยเลขประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืมเท่านั้น และแบ่งการคืนเงินให้ผู้กู้ยืมแต่ละรายเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะคืนเงินให้ในอัตรา 70% ของยอดเงินที่คำนวณได้ และส่วนที่ 2 จะคืนเงินให้เมื่อ กยศ.คำนวณหนี้ผ่านระบบ DSL แล้วเสร็จ และหากว่าผู้กู้ยืมยังมีเงินส่วนที่ชำระเกิน โดย กยศ. จะคืนเงินส่วนที่เหลือให้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากผู้กู้ยืมได้รับคืนเงินส่วนแรกเกินสิทธิ กยศ. จำเป็นต้องเรียกเงินส่วนเกินคืน ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนสามารถเข้าระบบตรวจสอบสถานะบัญชีผู้กู้ยืมเงินที่เว็บไซต์ www.studentloan.or.th ซึ่งหากมีสิทธิได้รับเงินคืนจะสามารถลงทะเบียนขอรับเงินคืนได้ โดยผู้กู้ยืมจะได้รับเงินคืนภายในเดือนพฤษภาคม 2568 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแอปพลิเคชัน กยศ. Connect ขณะนี้ยังไม่สามารถรองรับระบบการคำนวณหนี้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ กยศ. อยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันเวอร์ชันใหม่ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และครอบคลุมยิ่งขึ้น

กยศ. แจงหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท

การหักเงินเดือนเพิ่ม สำหรับระบบการหักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง ที่ผ่านมา กยศ. ได้ดำเนินการหักเฉพาะยอดหนี้ปีปัจจุบัน ไม่รวมยอดหนี้ค้างในปีก่อนหน้า ซึ่งบางรายจะมียอดหนี้ค้างเก่าทำให้ในเดือนเมษายน 2568 ในส่วนของการรองรับผู้กู้ยืมที่ได้รับผลกระทบจากการหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาทต่อบัญชี กยศ. มีแนวทางดูแลเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1. กรณีผู้กู้ที่ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จะต้องชำระยอดหนี้ในงวดแรกด้วยตนเอง พร้อมแจ้งให้นายจ้างทราบ เพื่อป้องกันการถูกหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาทในเดือนนั้น โดยการหักเงินเดือนตามสัญญาใหม่จะเริ่มตั้งแต่งวดที่ 2 เป็นต้นไป

2. กรณีผู้กู้ที่ยังไม่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ และไม่สามารถให้หักเงินเดือนเพิ่มได้ สามารถยื่นขอปรับลดจำนวนเงินหักเดือนละ 3,000 บาท ได้ทางเว็บไซต์ กยศ. โดยยื่นภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม หรือยื่นภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2568 สำหรับงวดเดือนมิถุนายน

โดย กยศ. จะพิจารณาและแจ้งผลผ่าน SMS พร้อมส่งข้อมูลให้กับนายจ้างผ่านระบบ e-PaySLF

มาตรการลดหย่อนหนี้ กยศ. ได้ออกมาตรการลดหย่อนหนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้กู้ชำระหนี้ปิดบัญชีในช่วงวันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2568 โดยมอบส่วนลดต้นเงิน 5 – 10% และส่วนลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี และยังอยู่ในระยะเวลาปลอดหนี้หรือกำลังชำระหนี้อยู่ โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิได้ทางเว็บไซต์ กยศ.

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

นายกฯ ลุยอังกฤษ มอบประกาศ 20 ร้านอาหารไทย

นายกฯ ลุยอังกฤษ มอบประกาศ 20 ร้านอาหารไทย ชวนต่างชาติสัมผัสเสน่ห์รสชาติไทยแท้ ยกระดับตรา Thai SELECT ติดดาวเทียบชั้นมิชลิน

นายกฯ โพสต์ภาพคู่ให้กำลังใจอาปู

นายกฯ โพสต์ภาพคู่ให้กำลังใจอาปู หลังศาลสั่งชดใช้จำนำข้าวหมื่นล้าน

ธปท. สั่งสอบแบงก์พาณิชย์ให้ลูกค้าเปิดบัญชีม้า

ธปท. สั่งสอบแบงก์พาณิชย์ให้ลูกค้าขบวนการคอลเซ็นเตอร์ เปิดบัญชีม้าหลอกลวงประชาชน

AOT รุกสร้างเครือข่าย Cargo Network

AOT รุกสร้างเครือข่าย Cargo Network เสริมแกร่งระบบขนส่งสินค้า ยกระดับสนามบินไทยสู่ศูนย์กลาง โลจิสติกส์ภูมิภาค