การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนโลกลดลง สวนทางการรีไซเคิลเพิ่มมากขึ้น

Date:

รายงาน Circularity Gap Report 2025 (CGR®) ที่จัดทำร่วมกันระหว่าง Circle Economy และ Deloitte Global ซึ่งเผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2568 พบว่า วัสดุที่ใช้ทั่วโลกปริมาณ 106 พันล้านตันต่อปีนั้น มีเพียงร้อยละ 6.9 ที่มาจากแหล่งรีไซเคิล โดยเป็นปริมาณที่ลดลงร้อยละ 2.2 จากปี 2558 โดยหนึ่งในปัจจัยมาจากอัตราการใช้วัสดุทั่วโลกมีการเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเติบโตของประชากร ส่งผลให้เกิดปริมาณขยะมากกว่าที่ระบบรีไซเคิลในปัจจุบันจะรองรับได้ นี่จึงเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการกำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับโลก การเปลี่ยนแปลงในระดับระบบ และความร่วมมือระดับพหุภาคี

นับเป็นครั้งแรกที่รายงาน CGR® ได้วิเคราะห์การไหลเวียนของวัสดุ การสะสม และการไหลออกจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งสนับสนุนหรือชะลอการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยประเมินสถานะปัจจุบันอย่างครอบคลุม พร้อมกำหนดเป้าหมายเบื้องต้น เพื่อช่วยลดการใช้วัสดุและเพิ่มการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนทั่วโลก ทั้งนี้ การวิเคราะห์โดยใช้ดัชนีชี้วัดด้านการหมุนเวียน 11 ข้อในการช่วยกำหนดให้กลไกต่าง ๆ (เช่น ความยั่งยืนทางการเกษตร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน) สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนได้ โดยมุ่งเน้นศักยภาพต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์

พร้อมกันกับรายงาน CGR 2025 นั้น Circle Economy ได้เปิดตัว CGR® แดชบอร์ด ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลนับล้านรวบรวมตั้งแต่เริ่มจัดทำรายงานประจำปี โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดทำข้อมูลการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนให้สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เพื่อช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำธุรกิจ และผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก สามารถตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูลครบถ้วน

ถึงแม้ว่าการใช้วัสดุรีไซเคิลจะเพิ่มขึ้น 200 ล้านตัน จากปี 2561 ถึงปี 2564 แต่การใช้วัสดุโดยรวมกลับเพิ่มขึ้นเร็วกว่ามาก ส่งผลให้ความก้าวหน้าในการใช้วัสดุรีไซเคิลถูกลดทอนไป ทั้งนี้ รายงานได้แนะนำให้ลดการพึ่งพาทรัพยากรใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการนำวัสดุรีไซเคิลใช้ในกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรตลอดการดำเนินงานและห่วงโซ่คุณค่าเพื่อลดของเสีย รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ด้วยการออกแบบที่คำนึงถึงความทนทาน และการแบ่งระบบออกเป็นส่วนต่าง ๆ (Modularity) เพื่อที่จะสะดวกและประหยัดต้นทุนในการซ่อมบำรุง

แค่การรีไซเคิลวัสดุเพียงอย่างเดียวโดยไม่ลดการบริโภค ก็สามารถทำให้การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนทั่วโลกเพิ่มจากร้อยละ 6.9 เป็นร้อยละ 25 ได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนี้เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากวัสดุบางชนิดยังคงมีความยากในการจัดเก็บ ข้อจำกัดในการเก็บและขนส่งวัดสุอันตราย รวมถึงการรีไซเคิลมีความซับซ้อนหรือมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีมาตรการที่ลดการใช้วัสดุโดยรวม ควบคู่ไปกับการเพิ่มความพยายามในการรีไซเคิล ดังที่รายงานฉบับนี้ได้เสนอแนะ

ระบบรีไซเคิลในปัจจุบัน ไม่เพียงพอต่อการจัดการกับวิกฤตขยะโลกและในบางพื้นที่ ยังขาดมาตรฐานด้านการดำเนินงานและประสิทธิภาพที่เหมาะสม จึงเป็นโอกาสที่ผู้นำธุรกิจในทุกภาคส่วนจะปรับปรุงระบบรีไซเคิลและลดปริมาณการเกิดขยะ ด้วยหลักการออกแบบแบบหมุนเวียน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงการเก็บขยะ รวมถึงการนำแร่หายากกลับไปใช้ใหม่สำหรับขยะที่มีมูลค่าสูง เป็นต้น

นอกจากนั้น วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ส่วนใหญ่มาจากขยะอุตสาหกรรมและการรื้อถอน ต่างกับขยะครัวเรือนที่มีบทบาทเพียงเล็กน้อย เพียงร้อยละ 3.8 ของวัสดุรีไซเคิลทั้งหมดมาจากสิ่งของประจำวันที่ผู้บริโภคใช้และทิ้ง

“จากการวิเคราะห์ของเรา ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้ในโลกแห่งอุดมคติ เราก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤติด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโลกที่มนุษย์ในปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่ หรือที่เรียกว่า Triple planetary crisis ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการรีไซเคิลเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงระบบที่จำเป็นจึงต้องใช้การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การปรับใช้ศักยภาพของการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนที่มีอยู่แล้ว เช่น อาคารและโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการชีวมวลอย่างยั่งยืนและการหยุดส่งวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ไปยังหลุมฝังกลบ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากภายนอกตัวเรา แต่เราทุกคนต่างต้องตัดสินใจ มีความกล้า และลงทุนเพื่อนำโซลูชั่นแบบหมุนเวียนไปใช้ในทั้งห่วงโซ่คุณค่า” อีวอน โบโจห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Circle Economy กล่าว

รายงานได้เสนอให้มีการกำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับโลก เพื่อลดการใช้วัสดุและความต้องการพลังงาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มอัตราการรีไซเคิล ซึ่งสามารถทำได้โดยการส่งเสริมหลักการออกแบบแบบหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบที่มีอยู่ และการรับรองว่าการใช้วัสดุรีไซเคิลจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมและภูมิภาค

รัฐบาลมีโอกาสที่จะช่วยสนับสนุนการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน ผ่านนโยบายต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนด้านการเงินและความร่วมมือในระดับพหุภาคี การกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและสนับสนุนความคิดริเริ่มแบบหมุนเวียนจะทำให้สามารถสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน ซึ่งหมายรวมถึงการเปลี่ยนภาระภาษีจากแรงงานไปสู่การใช้วัสดุ การปรับเปลี่ยนเงินอุดหนุนจากกิจกรรมแบบเส้นตรง และการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนต่าง ๆ

เดวิด ราเคาว์สกี้ พาร์ทเนอร์ ดีลอยท์ สหราชอาณาจักร โกลบอลลีดเดอร์ของการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน กล่าวว่า “ผู้นำธุรกิจที่การณ์ไกลไปมากกว่าการปฏิบัติเชิงรุกตามกฎระเบียบเพื่อตอบรับแนวคิดการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนนั้น จะสามารถช่วยองค์กรในด้านคุณค่าและโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ รวมถึงลดต้นทุน และสร้างความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานระยะยาว โดยในปีนี้ CGR ได้มอบข้อมูลเชิงปฏิบัติแก่ผู้นำต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการมุ่งเน้นด้านการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน การสร้างความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน และการสร้างเศรษฐกิจโลกที่ยืดหยุ่น ซึ่งคำนึงถึงขีดจำกัดของโลก”

ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน จะเป็นกุญแจสำคัญในการจัดด้านการใช้และการลดการใช้ทรัพยากรให้ประสบผลสำเร็จ

เกี่ยวกับ Circle Economy

Circle Economy เป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ พร้อมช่วยธุรกิจ เมือง และประเทศต่างๆ ให้ใช้ประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจ การลดต้นทุน การสร้างงาน และการสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในเศรษฐกิจหมุนเวียน ในฐานะองค์กรที่สร้างผลกระทบระดับโลก ทีมงานระหว่างประเทศขององค์กรช่วยให้ผู้นำธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายมีข้อมูลเชิงลึก กลยุทธ์ และเครื่องมือ เพื่อเปลี่ยนความมุ่งมั่นด้านการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน ให้เป็นการกระทำจริง

Circle Economy อยู่ในระดับแนวหน้าของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาตั้งแต่ปี 2554 โดยรายงาน Circularity Gap Report (CGR®) ประจำปี ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับการวัดความก้าวหน้า พร้อมจัดการฐานข้อมูลการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งครอบคลุมข้อมูลจากกว่า 90 ประเทศ 350 เมือง และ 1,0000 ธุรกิจ

เกี่ยวกับ Deloitte

ดีลอยท์ หมายถึง นิติบุคคลหนึ่งหรือมากกว่านั้นของ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ จำกัด (DTTL) เครือข่ายสมาชิกระดับโลก และนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง (รวมเรียกว่า “บริษัท ดีลอยท์”) โดย DTTL (หรือที่เรียกว่า “ดีลอยท์ โกลบอล”) และบริษัทสมาชิกและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องแต่ละแห่งเป็นนิติบุคคลที่แยกจากกันโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นอิสระต่อกัน ซึ่งไม่สามารถผูกพันหรือผูกมัดซึ่งกันและกันในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่สาม ทั้งนี้ DTTL และบริษัทสมาชิก DTTL แต่ละแห่งและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบเฉพาะการกระทำและการละเว้นของตนเอง ไม่ใช่ของกันและกัน อีกทั้ง DTTL ไม่ได้ให้บริการแก่ลูกค้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดู www.deloitte.com/about

ดีลอยท์ ให้บริการมืออาชีพชั้นนำแก่บริษัทใน Fortune Global 500® เกือบร้อยละ 90 และบริษัทเอกชนหลายพันแห่ง พนักงานของบริษัทส่งมอบผลลัพธ์ที่ตรวจวัดได้และยั่งยืน เพื่อช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้คนในตลาดทุนและช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนแปลงและเติบโต ทั้งนี้ ด้วยประวัติศาสตร์ยาวนาน 180 ปี ดีลอยท์มีเครือข่ายครอบคลุมกว่า 150 ประเทศและเขตแดน โดยสามารถเรียนรู้แนวทางที่บุคลากรทั่วโลกกว่า 460,000 คนของ ดีลอยท์ สร้างผลกระทบที่มีความหมายและสำคัญ เพิ่มเติมได้ที่ www.deloitte.com

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

การท่าเรือฯ ฉลอง 74 ปี จัดวิ่งมินิมาราธอน ครั้งที่ 12

การท่าเรือฯ ฉลอง 74 ปี จัดวิ่งมินิมาราธอน ครั้งที่ 12 รายได้สมทบมูลนิธิพระดาบส สร้างสุข - แบ่งปัน - สานพลังสุขภาพเพื่อสังคม

เซมิคอนดักเตอร์ มีแนวโน้มที่จะมียอดขายเพิ่ม

เซมิคอนดักเตอร์ มีแนวโน้มที่จะมียอดขายเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญในปี 2568 โดยมีปัจจัยหลักมาจากชิป Generative AI (GenAI)

อินโดรามา เวนเจอร์ส ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี68 ปรับตัวลง 

อินโดรามา เวนเจอร์ส ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2568 ปรับตัวลง ท่ามกลางภาวะซบเซาที่ต่อเนื่องของตลาดเคมีภัณฑ์ทั่วโลก

ดีลอยท์ เดินหน้าโครงการ Road to LiVE 2025 รุ่นที่ 3

ดีลอยท์ จับมือ SME D Bank เดินหน้าโครงการ Road to LiVE 2025 รุ่นที่ 3 ติดปีกธุรกิจศักยภาพสูงสู่ตลาดทุน