นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทย ส่อวูบยาวถาวร

Date:

KKP Research เผยจีนเที่ยวไทยวูบอาจไม่ใช่แค่ชั่วคราว แนะปรับเกม ดึงยุโรป-อินเดียแทน

นักท่องเที่ยวจีนหายไปไหน?

ถือว่าผิดคาดไปค่อนข้างมากหลังจากเปิดปีใหม่มา ภาคท่องเที่ยวที่เป็นความหวังของเศรษฐกิจในปีนี้กลับหดหายไปอย่างน่าตกใจ แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าแรงส่งคงจะชะลอตัวลงบ้างหลังจากแบกเศรษฐกิจไทยมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งตอนปลายปี 2024 ยังเป็นเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ฟื้นตัวกลับไปได้เพียง 60-70% ของนักท่องเที่ยวก่อนโควิด-19 ที่จำนวนเฉลี่ยประมาณ 560,000 คนต่อเดือน อย่างไรก็ดี หลังจากตรุษจีนในเดือนมกราคมของปี 2025 นักท่องเที่ยวจีนกลับหดตัวรุนแรงเกือบครึ่ง เหลือเพียงเดือนละไม่ถึง 300,000 คน หรือคิดเป็นเพียง 30% ของช่วงก่อนโควิด-19 เท่านั้น

คำถามสำคัญที่หลายฝ่ายสงสัยกัน คือ เหตุการณ์นี้จะเป็นเพียงการชะลอตัวลงชั่วคราวหรือว่าถาวร เป็นปัญหาที่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง (Structural) ที่ต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหายาวนาน หรือว่าเป็นเพียงปัญหาชั่วครั้งชั่วคราว (Cyclical) ซึ่งจะผ่านไปได้ในที่สุด

KKP Research มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาจากปัจจัยทั้งสองประเภทที่ทำให้นักท่องเที่ยวชะลอตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยมี 3 ข้อเท็จจริงที่สังเกตได้ในช่วงที่ผ่านมา

จีนเที่ยวในประเทศและออกไปเที่ยวเองมากขึ้น

เริ่มต้นจากข้อเท็จจริงประการแรกที่เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง คือ จำนวนนักท่องเที่ยวขาออกของจีน (Chinese outbound tourist) ยังไม่ฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนโควิด-19 จากทั้งภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนเริ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักอีกเครื่องยนต์หนึ่ง โดยนักท่องเที่ยวจีนที่ออกไปเที่ยวต่างประเทศ ฟื้นตัวเพียง 86.5% ของนักท่องเที่ยวปี 2019 สวนทางกับนักท่องเที่ยวจีนที่ท่องเที่ยวในประเทศที่ฟื้นตัวถึง 93.6% แล้ว

ข้อเท็จจริงประการที่สองที่เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างเช่นกัน คือ นักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวกลับมาเปลี่ยนจากกรุ๊ปทัวร์เป็นนักท่องเที่ยวอิสระ (Free Individual Traveler: FIT) มากขึ้น โดยในช่วงก่อนโควิด-19 นักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยเลือกมาในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ค่อนข้างสูงหากเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยคิดเป็นเกือบ 40% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และมีกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระเพียง 60% ขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ จะมีนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์เพียง 10-20% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อจีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง สัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่เลือกมากับกรุ๊ปทัวร์ลดลงเหลือเพียง 20% เท่านั้นในปีที่ผ่านมา จากการสำรวจของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาล่าสุด

ดังนั้นเมื่อเทียบการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวทั้งสองประเภทแล้ว จะพบว่านักท่องเที่ยวอิสระในปีที่ผ่านมาฟื้นตัวกลับมาถึง 77.4% ของปี 2019 แล้ว หรือคิดเป็นนักท่องเที่ยว 5.3 ล้านคน ส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกรุ๊ปทัวร์ฟื้นตัวมาเพียง 33.4% หรือคิดเป็นเพียง 1.4 ล้านคนเท่านั้น (รูปที่ 3)

การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบและพฤติกรรมการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวอิสระมักมีกำลังซื้อและมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวสูงกว่านักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ ราคาจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเพียงอย่างเดียว ทำให้การกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยเน้น “ราคา” เป็นหลักอาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป แต่ปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ อาจเป็นตัวชี้ขาดมากกว่าว่านักท่องเที่ยวจีนจะเลือกมาเที่ยวไทยหรือไม่ เช่น ประเภทสถานที่ท่องเที่ยว ระดับการให้บริการ ความปลอดภัย ฯลฯ

ไทยกำลังสูญเสียความน่าสนใจจากความปลอดภัยที่ลดลง

ข้อเท็จจริงประการที่ 3 ที่อาจเกิดจากทั้งประเด็นเชิงโครงสร้างและชั่วคราว คือ ในบรรดานักท่องเที่ยวจีนที่ยังออกมาเที่ยวนอกประเทศกลับเลือกเบนเข็มไปเที่ยวประเทศอื่น ๆ มากขึ้น โดยหลังจากนักท่องเที่ยวจีนในเดือนมกราคมแตะระดับสูงสุดเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่จีนกลับมาเปิดประเทศที่จำนวนกว่า 6.6 แสนคนจากเทศกาลตรุษจีน นักท่องเที่ยวจีนกลับลดลงไปกว่าครึ่ง เหลือเพียงประมาณ 3 แสนคนจนถึงเดือนเมษายน

ขณะที่หากพิจารณาเที่ยวบินขาออกจากจีนกลับพบว่าได้ทยอยฟื้นตัวตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว แต่เที่ยวบินขาเข้าไทยกลับยังลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าความน่าสใจของประเทศไทยลดลงมากกว่าจะเกิดจากคนจีนเที่ยวต่างประเทศลดลง

หากถามต่อไปว่าแล้วจีนหันไปเที่ยวประเทศใด ข้อมูลเที่ยวบินขาออกและจำนวนนักท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ ชี้ไปที่ประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และมาเลเซีย

โดยสาเหตุที่นักท่องเที่ยวจีนเลือกมาเที่ยวไทยน้อยลงอาจจะแบ่งเป็น 2 ด้าน 1) การเที่ยวซ้ำของนักท่องเที่ยวจีนอาจต้องใช้เวลา โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระที่ต้องมีการเตรียมตัววางแผนท่องเที่ยวเอง ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่อาจทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

2) ประเด็นความปลอดภัยที่รุนแรงขึ้นในสายตานักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขภาพลักษณ์ให้กลับมาดีเหมือนเดิม โดยเฉพาะกับกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระที่ให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษกว่ากรุ๊ปทัวร์อยู่แล้ว

โดยจากการสำรวจล่าสุดของ Dragon Trail International พบว่านักท่องเที่ยวจีนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มองว่าประเทศไทยไม่ปลอดภัย เพิ่มขึ้นจาก 38% ในช่วงเดือนกันยายนของปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศอื่น ๆ การรับรู้เรื่องความปลอดภัยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

สะท้อนว่าประเด็นการลักพาตัวดาราชาวจีนใมช่วงต้นปี การปราบปรามธุรกิจสีเทา และเหตุการณ์แผ่นดินไหว ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทย

สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แบบสำรวจข้างต้นได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนรู้สึกปลอดภัยในอันดับต้น ๆ และรัฐบาลควรให้น้ำหนักเป็นอย่างแรก คือ ผลการประเมินความเสี่ยงในการเดินทางของรัฐบาลจีนและการออกมาตรการเพิ่มความปลอดภัยโดยรัฐบาลท้องถิ่น ที่ผู้ตอบแบบสอบถามประมานครึ่งหนึ่งระบุว่าทำให้รู้สึกปลอดภัย

รองลงมาประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ข้อมูลจากครอบครัว เพื่อน หรือนักท่องเที่ยวคนอื่นในสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนในทางบวกจะช่วยให้รู้สึกปลอดภัยขึ้น   ขณะที่ประมาณ 1 ใน 5 ระบุว่าการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงต่ำแต่แรกหรือการซื้อประกันการเดินทางจะช่วยให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

สุดท้ายปัจจัยที่ไม่ช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น คือ การท่องเที่ยวกับกรุ๊ปทัวร์หรือการมีไกด์ทัวร์ท้องถิ่น รวมไปถึงการรับข้อมูลจากตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยว (Travel Agent)

ปรับนโยบายเน้นรับยุโรปและอินเดีย

คำถามสำคัญต่อไปคือนักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้หรือไม่ และจะมีนักท่องเที่ยวชาติอื่นมาแทนที่นักท่องเที่ยวจีนได้หรือไม่? KKP Research มองว่าในระยะสั้นคงเป็นไปได้ยากที่นักท่องเที่ยวจีนจะหันกลับมาเที่ยวไทยอย่างในอดีต หากปัญหาเชิงโครงสร้างข้างต้น โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ไม่ถูกแก้ไข ขณะเดียวกันการหวังพึ่งพานักท่องเที่ยวชาติอื่น เพื่อชดเชยนักท่องเที่ยวจีนในระยะสั้นทันทีคงเป็นไปได้ยาก ทั้งในแง่จำนวนที่สูงหลายล้านคนและรายได้จากการท่องเที่ยวหลายแสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวอาจมีนักท่องเที่ยวบางประเทศที่มีโอกาสเติบโตขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทดแทนนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอตัวลงไปได้เพียงบางส่วน โดย KKP Research มองว่านักท่องเที่ยวยุโรปและเอเชียใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ควรเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่ภาคท่องเที่ยวไทยควรให้ความสำคัญมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากความนิยมในการท่องเที่ยวไทยที่มากขึ้น โดยเฉพาะอินเดียมีการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายปีหลังมานี้

โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนักท่องเที่ยวยุโรปและเอเชียใต้ฟื้นตัวได้ประมาณ 120% ของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 และคิดเป็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวเกือบ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ฤดูกาลท่องเที่ยวของทั้ง 2 ภูมิภาคถือว่าสามารถชดเชยได้พอสมควร โดยนักท่องเที่ยวยุโรปจะมีฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปีถึงต้นปี ขณะที่นักท่องเที่ยวอินเดียมีฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงกลางปีมากกว่า โดยเฉพาะในเดือน พ.ค. ถึง มิ.ย. ที่เป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยตามปกติ

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของนักท่องเที่ยว 2 กลุ่มนี้มีความแตกต่างจากนักท่องเที่ยวจีนค่อนข้างชัดเจน ซึ่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ โดย 1) ในมิติของพื้นที่ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวยุโรปส่วนใหญ่นิยมท่องเที่ยวภาคใต้เป็นหลัก รองลงมาคือภาคตะวันออกอย่างพัทยา และกรุงเทพฯ ส่วนนักท่องเที่ยวอินเดียมีความคล้ายคลึงกับนักท่องเที่ยวจีน คือ ครึ่งหนึ่งท่องเที่ยวกรุงเทพฯ เป็นหลัก รองลงมาคือภาคตะวันออกและภาคใต้

2) ในมิติของรูปแบบการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ที่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวจีน โดยนักท่องเที่ยวยุโรปและอินเดียใช้จ่ายกับที่พักและโรงแรมมากกว่านักท่องเที่ยวจีน ขณะเดียวกันมีการเดินทางภายในประเทศต่ำกว่า สะท้อนว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักจะท่องเที่ยวเพียงไม่กี่สถานที่และให้ความสำคัญกับคุณภาพของที่พักเป็นหลัก โดยนักท่องเที่ยวอินเดียจะให้ความสำคัญกับกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ และการชอปปิ้งมากกว่าชาวยุโรป

ดังนั้น นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวอาจต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เหมาะสม รวมไปถึงประเภทของธุรกิจที่ภาครัฐควรส่งเสริมมากขึ้น

จากตารางข้างต้นสะท้อนรูปแบบของนโยบายส่งเสริมที่ควรแตกต่างกันออกไป เช่น นักท่องเที่ยวยุโรปให้ความสนใจการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เน้นอาหารข้างทาง หรือ Street food และชอปปิ้งเครื่องประดับของที่ระลึกต่าง ๆ ขณะที่นักท่องเที่ยวอินเดียจะให้ความสนใจในร้านอาหารน้อยกว่า แต่สนใจกิจกรรมยามค่ำคืน หรือ Night life การนวดและทำสปา และชอปปิ้งเสื้อผ้ากับผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เป็นต้น

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

อธิบดีกรมสรรพากร มุ่งขับเคลื่อนความโปร่งใสทางภาษีในเอเชีย

อธิบดีกรมสรรพากรเข้าร่วมการประชุม Asia Initiative มุ่งขับเคลื่อนความโปร่งใสทางภาษีในเอเชีย

นายกฯ คุย “ฮุน มาเนต” แล้ว ปมทหารปะทะกัน

นายกฯ คุย “ฮุน มาเนต” แล้ว ปมทหารปะทะกัน บอกจะทำให้คลี่คลายโดยเร็ว

ทีทีบี เร่งทรานส์ฟอร์ม พลิกโฉมโครงสร้างดิจิทัลแบงก์กิ้ง 

ทีทีบี เร่งทรานส์ฟอร์ม ปั้น ttb spark tech พลิกโฉมโครงสร้างดิจิทัลแบงก์กิ้ง สร้างระบบธนาคารแห่งอนาคต โดยทีมดิจิทัลของตัวเอง

ตลาดรถยนต์ เดือนเม.ย. ยอดขายเพิ่ม 1%

ตลาดรถยนต์ เดือนเม.ย. ยอดขายเพิ่ม 1% รถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น 3.6% รถยนต์พาณิชย์ยังลดลง 0.6%