มติปรับค่าแรงขั้นต่ำ 3-7% เริ่ม 1 ต.ค. 65

Date:

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกในรอบ 2 ปี การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการในปี 2565 ยังมีจำกัด

ศูนย์วิจัย กสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2565 โดยเตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.65 โดยได้แบ่งการปรับขึ้นเป็น 9 ช่วง ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท สูงสุด 354 บาท (เดิมอยู่ในช่วง 313-336 บาท) หรือเป็นการปรับขึ้นร้อยละ 3-7 ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบ 2 ปี

หากย้อนดูในอดีตประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศครั้งใหญ่ล่าสุดในปี 2555-2556 โดยปรับขึ้นให้อยู่ที่ระดับเดียวกันทั่วประเทศที่ 300 บาทต่อวัน และเริ่มมีการปรับขึ้นอีกครั้งรายจังหวัดในปี 2560 เรื่อยมาจนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2562 ก่อนจะไม่ได้มีการปรับขึ้นมาเป็นเวลา 2 ปี โดยตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยปรับขึ้นอยู่ที่ 13-36 บาท หรือคิดเป็น 4-12% ขณะที่ดัชนีรายงานเงินเฟ้ออยู่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6.3% (2555-2564) ซึ่งในส่วนของดัชนีอาหารสำเร็จรูป (อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน) ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 14%

สภาวะแวดล้อมในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้มีความแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมาในหลากหลายด้าน ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายทั้งฝั่งแรงงานและภาคธุรกิจ

ภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบันมีความแตกต่างจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555 ค่อนข้างมาก ในส่วนของภาพเศรษฐกิจพบว่าในช่วงปี 2555 เศรษฐกิจไทยเติบโตที่ 6.4% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.02% ขณะที่ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อโลกที่อยู่ในระดับสูงหลังได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ระดับราคาสินค้ามีทิศทางสูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ค.อยู่ที่ 7.61% สถานการณ์ดังกล่าวกดดันทั้งในฝั่งผู้ผลิตโดยเฉพาะธุรกิจที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อรายได้แท้จริงกดดันในส่วนของกำลังซื้อฝั่งประชาชนและแรงงาน

ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีผลในไตรมาส 4/2565 เป็นต้นไป ขณะที่ผู้ผลิตคงจะไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนทั้งหมดไปยังผู้บริโภคได้ทันที ดังนั้น คาดว่าผลกระทบของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าจะมีจำกัด

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเงินเฟ้อไทยในปีนี้อยู่ที่ 6.0% ซึ่งประมาณการนี้ได้รวมผลกระทบของการปรับค่าแรงขั้นต่ำแล้ว อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะเห็นการส่งผ่านต้นทุนค่าแรงจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคมากขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานในสัดส่วนสูง เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ก่อสร้าง ดังนั้นคาดว่าระดับเงินเฟ้อในปีหน้าคงจะไม่ปรับลดลงมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อไทยในปีหน้าจะอยู่ในกรอบ 2.5-3.0% ภายใต้สมมติฐานว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีหน้าอยู่ที่ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปตามมติและไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคาดว่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นราว 0.4-0.5% เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภายใต้สมมติฐานที่กำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่

Share post:

spot_img

Related articles

แนะรัฐบาลขึ้นภาษี VAT พาเศรษฐกิจพ้นหายนะ 

อดีต รมว.คลัง แนะรัฐบาลใหม่ขึ้นภาษี VAT เพิ่มรายได้ประเทศแสนล้าน พาเศรษฐกิจพ้นหายนะ

ครม.สืบสันดาน ถูกต้องเหมาะสมแล้ว

“นายเทพไท เสนพงศ์” บอก ครม.สืบสันดาน ถูกต้องเหมาะสมแล้ว

รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง จะรอดข้ามปีมั้ย???

“นายเทพไท เสนพงศ์” ตั้งข้อสังเกต รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง จะรอดข้ามปีมั้ย???

ทีทีบี ออกมาตรการสินเชื่อช่วยเหลือลูกค้าน้ำท่วม

ทีทีบี ออกมาตรการ “ตั้งหลัก” ช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ปรับโครงสร้างหนี้ และขยายเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 6 เดือน

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427