
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.46 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.41 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท การเคลื่อนไหวของเงินบาทตั้งแต่ช่วงรับรู้ผลการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้อง “ถอดถอนนายกฯ” และมีคำสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ สะท้อนให้เห็นว่า แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย
ทว่า ปัจจัยภายนอก หรือ Global Factors ก็ยังมีผลต่อเงินบาทมากกว่าปัจจัยในประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านของราคาทองคำ และจังหวะอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์
โดยธนาคารคงมุมมองเดิมว่า ทิศทางเงินดอลลาร์และราคาทองคำ ยังมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาท พอสมควร ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศไทยนั้น อาจสร้างความผันผวนให้กับเงินบาท (ผันผวนอ่อนค่า หากตลาดกังวลสถานการณ์การเมือง และผันผวนในด้านแข็งค่า หากตลาดทยอยคลายกังวล) แต่ไม่ได้มีผลกับเงินบาทในเชิงทิศทางการเคลื่อนไหวมากนัก
ซึ่งธนาคารกรุงไทยมองว่า ในระยะสั้น เงินดอลลาร์มีโอกาสทยอยรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง ทว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัด ท่ามกลาง ธีม Sell US Assets ที่ยังอยู่ หลังสภาคองเกรสสหรัฐฯ มีแนวโน้มผ่านร่างกฎหมาย One Big Beautiful Bill Act ที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ โดยภาพดังกล่าว ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะในการเปิดสถานะ Short USD เมื่อเงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้น หรือ เพิ่มสัดส่วนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เพิ่ม Hedging Ratio)
นอกจากนี้ ธนาคารมองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติมบ้าง หากราคาทองคำพลิกกลับมาย่อตัวลง หลังไม่ผ่านโซนแนวต้านระยะสั้น และหากเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นจริง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยง
โดยรวมเรามองว่า เงินบาท (USDTHB) อาจมีโซนแนวรับแถว 32.30-32.40 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้าน อาจยังอยู่ในช่วง 32.60-32.70 บาทต่อดอลลาร์ และเราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะกลับมาอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าลง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน เมื่อประเมินจากกลยุทธ์ Trend Following
ธนาคารยังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์หน้าที่ ตลาดการเงินไทยอาจเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.60 บาท/ดอลลาร์