แนะตั้ง War-Room เสียงเดียว เจรจาสหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทย 36%

Date:

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) โพสต์เฟสบุ๊ก “Pipat Luengnaruemitchai” ระบุว่า 

จดหมายสไตล์ Art of the Deal ที่ฟาดเหมือน “ค่าคุ้มครอง” แล้วบังคับไทยกลับโต๊ะเจรจา

หลังจากขู่มาสามเดือน สหรัฐฯ ส่งจดหมายมาบอกว่า ไทยจะโดนภาษี 36 % กับสินค้าทุกชนิดภายใน 1 สิงหา 

แต่ก็เปิดช่องไว้ว่า ถ้าตัดสินใจเปิดตลาดก็อาจจะพิจารณาลดภาษีลงมาได้ 

เหมือนบอกว่า เขายังไม่พอใจกับการเจรจา และเครื่องราชบรรณาการที่เอามาให้ยังไม่ดีพอ นี่คือจดหมายปฏิเสธข้อเสนออย่างเป็นทางการ แต่ยังเปิดให้เจรจากันได้ต่อ

นี่คงเป็นสิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกว่า the art of the deal

1. เจ็บมากกว่ายอดส่งออกหาย

ปัญหาคือสหรัฐอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเราในการเจรจา เพราะเราพึ่งพาสหรัฐมากกว่าสหรัฐพึ่งพาเรา

 • ส่งออก – สหรัฐฯ รับราว 18 % ของมูลค่าส่งออกไทย (กว่า 55 พันล้านดอลลาร์) ถ้าโดนภาษี 36 % คู่แข่งอย่างเวียดนาม-เม็กซิโกพร้อมเสียบ คำสั่งซื้ออาจหายทันที โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิคส์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง

 • ภาคการผลิต ที่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว อาจโดนซ้ำเติม แรงงานเสี่ยงโดนเลิกจ้าง หรือต้องย้ายสายการผลิตไปประเทศภาษีต่ำ

 • เสน่ห์ FDI หาย – นักลงทุนคงถามตรง ๆ ว่า “ตั้งโรงงานไทยแล้วต้องโดนภาษี 36 % ทำไมไม่ไปเวียดนาม?” เงินลงทุนเทคโนโลยี EV-AI อาจไหลออกตั้งแต่ยังไม่เปิดสายการผลิต

2. Tradeoff ที่ไม่ง่ายเลย

เรากำลังโดนบังคับให้เลือก (trade off) ระหว่างภาคส่งออกซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย กับเปิดตลาดให้สหรัฐเพิ่ม 

ซึ่งอุตสาหกรรมที่เราปกป้องมากที่สุดทั้งภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (เช่น quota และ import bans) คือภาคเกษตร แม้มีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจไม่มาก แต่จ้างงานจำนวนมาก และมีผลต่อธุรกิจใหญ่เล็กมหาศาล

การเปิดตลาดคงกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมากแน่ๆ

ส่วนอีกเงื่อนไขสำคัญ คือการป้องกันสินค้าจีนสวมสิทธิ์ ซึ่งอาจจะทำให้กระทบความสัมพันธ์กับจีน

3. การเมืองในบ้าน—ยากกว่าเจรจานอกบ้าน

ในภาวะที่การเมืองขาดเอกภาพ และเสถียรภาพ การทำงานสามกระทรวงหลักอยู่คนละพรรค คำถามคือใครจะเป็นคนเคาะ และจะเคาะได้หรือไม่ ยังไม่นับว่าบางข้อเสนออาจจะผ่านสภาอีก

Internal negotiations อาจจะยากกว่า external negotiation เสียอีก 

เราจึงมีกลไกในการพิจารณาพูดคุยโดยมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชน ไม่งั้นมีปัญหาแน่นอน

4. แล้วเราควรต้องทำอย่างไร

ในเมื่อการเจรจาแบบ win-win น่าจะเป็นไปได้ยากในกรณีนี้ เราอาจจะต้องหาทาง  give and take และพิจารณาถึงผลกระทบในแต่ละทางเลือกอย่างรอบด้าน และหาทางชดเชยผลกระทบ

 1. เข้าใจสิ่งที่สหรัฐต้องการก่อน เข้าใจว่าสหรัฐต้องการให้เราเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐ ลดภาษีนำเข้า ยกเลิก non tariff barrier และจัดการกับเรื่องสินค้าสวมสิทธิ์ ซึ่งเราคงต้องพิจารณาผลกระทบของแต่ละเรื่องอย่างเข้าใจจริงๆ และเปรียบเทียบต้นทุนแต่ละทางเลือก

และคงต้องหาทางออกเรื่อง  transshipment แบบเอาจริง เงื่อนไขคืออะไร ทำได้จริงหรือไม่ 

      2.   พิจารณาหาทางเปิดเสรีภาคเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีมาตรการลดผลกระทบ แต่วิธีชดเชยความเสียหายแบบเข้าใจจริงๆ

โดยต้องสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจประเด็น  และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาทางเลือก และพูดคุย

 3.   เรายังคงต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ดึงลงทุนเทคโนโลยี-มูลค่าสูง 

 • สิทธิประโยชน์ R&D, เครดิตภาษี ให้ EV parts, AI hardware, data center มาตั้งฐานในไทย

 • Upskill แรงงานสู่ทักษะดิจิทัล-หุ่นยนต์ เพิ่มค่าแรงเฉลี่ยและผลิตภาพ

 4.   War-Room เสียงเดียว

 • รวมคลัง-พาณิชย์-เกษตร-เอกชน ตัดสินรวดเร็ว ส่งสัญญาณชัดแก่สหรัฐฯ และนักลงทุนว่าประเทศ “เอาจริง”

 5.   เร่งกระจายตลาดส่งออก

 • ใช้ RCEP, CPTPP, GCC เร่งทำ FTA กับกลุ่มประเทศใหญ่อย่าง EU เพื่อกระจายตลาดจากสหรัฐฯ

บทสรุป

จดหมายฉบับนี้คือ the art of the deal เวอร์ชันเรียกค่าคุ้มครอง—บีบให้ไทยต้องเลือก จะยอมเสียบางอย่างตอนนี้ เพื่อไม่ให้เสียอนาคตทั้งหมด

หากเราเดินเกม Give-and-Take ค่อย ๆ เปิดตลาดเกษตร พร้อมกันชน‐ชดเชย และเร่ง “ยกระดับศักยภาพแข่งขัน”—ไม่เพียงแค่รอดภาษี 36 % แต่ยังอาจใช้จังหวะนี้เร่งเครื่องเศรษฐกิจไทยสู่มูลค่าสูงกว่าเดิมให้ได้

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

“ดร.ธาริษา” ส่งจมถึง รมว.คลัง เชียร์ให้ดันคนในขึ้นเป็นว่าธปท.

“ดร.ธาริษา” ส่งจมถึง รมว.คลัง เชียร์ให้ดันคนในขึ้นเป็นว่าธปท. อ้างสารพัดเหตุผลคนนอกไม่เหมาะสม

กรุงศรี คว้า 3 รางวัลใหญ่จากเวทีระดับสากล

กรุงศรีคว้า 3 รางวัลใหญ่จากเวทีระดับสากล ตอกย้ำความเป็นผู้นำดิจิทัลโซลูชันเพื่อผู้ประกอบการ SME ไทย

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย คว้ารางวัล Best Bond House in Thailand

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยคว้ารางวัล Best Bond House in Thailand จาก Alpha Southeast Asia สะท้อนความเชี่ยวชาญด้านตลาดตราสารหนี้

ผลสำรวจ UOB เผยธุรกิจไทยมุ่งขยายในภูมิภาค รับมือสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า

ผลสำรวจ UOB เผยภาคธุรกิจไทยมุ่งขยายโอกาส ในภูมิภาค รับมือผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ