สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน เปิดเสวนา THAILAND TAXONOMY 2.0

Date:

สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London: ZSL) จัดเสวนาสาธารณะหัวข้อ “Thailand Taxonomy 2.0: ช่องว่าง ข้อสะท้อน และมุมมองจากภาคประชาสังคม” ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ภายใต้โครงการ UK PACT (Partnering for Accelerated Climate Transitions) โดยร่วมมือกับพันธมิตรโครงการ ได้แก่ บริษัท ป่าสาละ จำกัด (Sal Forest) แนวร่วมทางการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand: FFT) องค์กร Madre Brava และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) โดยงานเสวนาในครั้งนี้ได้เปิดเวทีให้ตัวแทนจากภาคประชาสังคม สถาบันวิจัย และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาส ว่าด้วยการปรับใช้ Thailand Taxonomy ระยะที่สอง

งานเสวนาดังกล่าวได้จัดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมคนทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดย Thailand Taxonomy 2.0 หรือมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (มาตรฐานการจัดกลุ่มฯ) ระยะที่ 2 ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมอีก 4 ภาคเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคการผลิต และภาคการจัดการของเสีย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อวางแนวทางการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืนและน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในกว่า 20 ประเทศทั่วโลกที่พัฒนามาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ของตนเองเพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Thailand Taxonomy ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีความท้าทายด้านเกณฑ์การประเมินและการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ

ในการประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจใดเข้าข่ายว่าเป็น “กิจกรรมสีเขียว” Thailand Taxonomy ใช้ระบบจำแนกประเภทแบบ “สัญญาณไฟจราจร” ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง (ช่วงเปลี่ยนผ่าน) และสีแดง ซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยใช้หลักการสำคัญคือ Do No Significant Harm (DNSH) และ Minimum Social Safeguards (MSS)

ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ในงานเสวนาครั้งนี้ โดยได้นำเสนอภาพรวมของโครงสร้างมาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ฉบับใหม่ ความสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนระดับสากล และกลไกการดำเนินงานในประเทศไทย

ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อธิบายว่า “Thailand Taxonomy 2.0 พัฒนาขึ้นผ่านกระบวนการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพันธมิตรระหว่างประเทศ และข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมในประเทศ โดยแม้ว่าแนวทางจะตั้งอยู่บนหลักวิทยาศาสตร์ มีความโปร่งใส และสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทยได้ แต่การปรับใช้มาตรฐานสากลในบางภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามา ยังคงมีความท้าทาย เมื่อบริบทด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ฉบับนี้จึงถูกออกแบบให้เป็นเอกสารที่สามารถปรับปรุงได้ (living document) เพื่อให้ทันสมัยต่อสถานการณ์ ปลดล็อกโอกาสด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน และช่วยนำทางการเปลี่ยนผ่านจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนไปสู่กิจกรรมที่ยั่งยืน”

ต่อมา ได้เปิดเวทีพูดคุยให้ตัวแทนจากพันธมิตรโครงการ ได้แก่ ZSL, FFT, Madre Brava, TDRI และมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อ Thailand Taxonomy 2.0 โดยเฉพาะประเด็นความกังวลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ DNSH และ MSS รวมถึงความเสี่ยงในการฟอกเขียว (greenwashing) ที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรฐานใน มาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ระยะที่ 2 นี้

สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าทีมวิจัย แนวร่วมทางการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย กล่าวว่า “เราขอขอบคุณ UK PACT ที่สนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างเป็นธรรม Thailand Taxonomy ถือเป็นแนวปฏิบัติที่มีศักยภาพ แต่หากจะให้เกิดประสิทธิผลจริง จำเป็นต้องมีความโปร่งใส ตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และสะท้อนความเสี่ยงที่เกิดขึ้นบนโลกความเป็นจริง ซึ่ง ณ ตอนนี้ เรายังเห็นช่องว่าง เช่น กิจกรรมที่แม้จะผ่านเกณฑ์ แต่ยังสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในระยะต่อไป เราเสนอให้มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาท เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบในระบบโดยรวม”

วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการประเทศไทย Madre Brava กล่าวเสริมว่า “ภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังไม่ได้รับการกล่าวถึงอย่างเพียงพอในเอกสารฉบับนี้ แม้มาตรฐานการจัดกลุ่มฯ จะสื่อถึงผลกระทบจากภาคปศุสัตว์ แต่ยังมีช่องว่างสำคัญ เช่น ประเด็นห่วงโซ่อุปทานและสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เราจึงขอเสนอให้มีการนำหลักการเปลี่ยนผ่านการบริโภคโปรตีนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในมาตรฐานการจัดกลุ่มฯ เพื่อให้การผลิตอาหารในประเทศไทยสอดคล้องกับข้อตกลงปารีส”

ปุณญธร จึงสมาน นักวิจัยโครงการพลาสติก มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การบรรจุภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการจัดการของเสียไว้ใน Thailand Taxonomy 2.0 ถือเป็นก้าวสำคัญ แต่จำเป็นต้องก้าวข้ามการจำแนกตามเกณฑ์ทางเทคนิคและเสนอการปฏิรูปปัญหาเชิงระบบ การลงทุนและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกในปัจจุบันมักเน้นไปที่การจัดการของเสียโดยไม่ได้แก้ไขสาเหตุหลักของปัญหา ซึ่งก็คือการผลิตมากเกินไป นอกจากนี้ แนวทางแก้ไขที่ผิดทาง เช่น การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน จะทำให้มีความต้องการขยะมากขึ้น ลดแรงจูงใจในการลดการผลิตพลาสติกลง และก่อให้เกิดการผูกขาดคาร์บอนจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อีกทั้งยังผลิตออกมาในอัตราที่ไม่ยั่งยืน หากมาตรฐานการจัดกลุ่มฯ สามารถป้องกันและปฏิเสธการใช้แนวทางแก้ไขที่ผิดทางได้ ภาคการเงินก็จะสามารถช่วยพลิกวิกฤตขยะพลาสติกและสภาพอากาศ”

Thailand Taxonomy 2.0 และก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน

งานเสวนาปิดท้ายด้วยข้อเรียกร้องให้คณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทบทวนและเสริมความชัดเจนของเกณฑ์ DNSH และ MSS ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในระยะถัดไป พร้อมทั้งเสนอให้เดินหน้ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เมย์ โม วาฮ์ ผู้อำนวยการสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย กล่าวว่า “ZSL ภูมิใจที่ได้สนับสนุนเวทีเสวนาในครั้งนี้ ภายใต้โครงการ UK PACT ซึ่งตลอด 17 ปีที่ ZSL ได้ดำเนินงานในประเทศไทย เรามุ่งส่งเสริมการเงินที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกับพันธมิตร รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำหนดแนวทาง Thailand Taxonomy โดยเรามีความเห็นว่ามาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ของประเทศไทยสามารถก้าวไปไกลกว่าการเป็นเพียงเครื่องมือด้านการเงินสีเขียว โดยมีศักยภาพในการส่งเสริมการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยและสายพันธุ์ต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น การเสริมสร้างตัวชี้วัดด้านความหลากหลายทางชีวภาพและกลไกคุ้มครองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้”

เกี่ยวกับ UK PACT

UK PACT (Partnering for Accelerated Climate Transitions) เป็นโครงการหลักภายใต้ International Climate Finance (ICF) ของสหราชอาณาจักร โครงการนี้ได้รับการดูและและจัดสรรเงินทุนร่วมกันโดยกระทรวงการต่างประเทศ เครือจักรภพ และการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร (FCDO) และ Department for Energy Security and Net Zero (DESNZ) เงินทุนดังกล่าวมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการดำเนินการตามแผนและนโยบายที่มีอยู่ของประเทศไทยในการบรรเทาผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำด้วยการสร้างศักยภาพของภาคเอกชน สถาบันการเงิน ผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินสีเขียวและการขนส่งที่ยั่งยืน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.ukpact.co.uk

เกี่ยวกับ สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL)

สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2369 และเป็นองค์กรที่อุทิศตนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์และถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั่วโลก รวมถึงมีส่วนสนับสนุนความพยายามในการอนุรักษ์และวิจัยในกว่า 50 ประเทศ สวนสัตว์สองแห่งของสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน คือ ZSL London และ Whipsnade Zoos ยังคงช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้กับผู้คนมาโดยตลอด

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.zsl.org

เกี่ยวกับ Madre Brava

Madre Brava เป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่มีพันธกิจในการสร้างอาหารที่ยั่งยืน 100% ดีต่อสุขภาพ และราคาไม่แพงสำหรับทุกคน เราทำงานร่วมกับกลุ่มต่างๆ ในภาคประชาสังคม รัฐบาล และอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อสร้างระบบอาหารที่เหมาะสำหรับทุกคน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.madrebrava.org

เกี่ยวกับ มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (EJF)

มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (EJF) เกิดขึ้นเพื่อปกป้องธรรมชาติและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย งานของเราในการรักษาความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมมุ่งหวังที่จะปกป้องสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทร ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ สัตว์ป่า และปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ด้วยตระหนักว่าสิทธิอื่นๆ ทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับการมีสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่ปลอดภัย EJF ทำงานในระดับนานาชาติเพื่อกำหนดนโยบายและผลักดันการปฏิรูประบบที่ยั่งยืนเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและปกป้องสิทธิมนุษยชน เราศึกษาและเปิดโปงการล่วงละเมิด และสนับสนุนผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อม ชนพื้นเมือง ชุมชน และนักข่าวอิสระในแนวหน้าของความอยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม กิจกรรมของเรามุ่งหวังที่จะรักษาอนาคตที่สงบสุข เสมอภาค และยั่งยืน ทีมงานของเราทั้งนักวิจัย ทีมสร้างภาพยนตร์ และนักรณรงค์มุ่งมั่นทำงานร่วมกับพันธมิตรภาคประชาชนและผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.ejfoundation.org

เกี่ยวกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ถือเป็นสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยมีประสบการณ์ด้านการวิจัยนโยบายมากว่า 30 ปี หัวข้อวิจัยหลัก ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจมหภาค นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การวิเคราะห์ภาคเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นโยบายพลังงาน นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นโยบายทรัพยากรมนุษย์และสังคม และกฎหมาย

ความโปร่งใส การเปิดเผยผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ ควบคู่กับเสรีภาพในการแสดงออกด้วยความรับผิดชอบ คือส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรของ TDRI กิจกรรมและผลการวิจัยขององค์กรที่ได้รับการเผยแพร่มักได้รับความสนใจจากสาธารณชน ทั้งในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ อินโฟกราฟิก เสวนาสาธารณะ สื่อ และโซเชียลมีเดีย

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.tdri.or.th

เกี่ยวกับ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ป่าสาละเป็นบริษัท “ปลูกธุรกิจที่ยั่งยืน” แห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 เรามุ่งจุดประกายและดำเนินวาทกรรมสาธารณะว่าด้วยธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย ผ่านการจัดสัมมนา อบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการ การผลิตสื่อ สิ่งพิมพ์และออนไลน์ การจัดทำงานวิจัยเรื่องประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญในประเทศไทย ตลอดจนการวัดผลลัพธ์ทางสังคมและผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.salforest.com

เกี่ยวกับ แนวร่วมทางการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (FFT)

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2561 เพื่อติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจธนาคาร และผลักดันผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) อย่างแท้จริง ผ่านการนำมาตรฐาน Fair Finance Guide International (แนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ) มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ

แนวร่วมฯ ประกอบด้วยสมาชิก 5 องค์กร ได้แก่ บริษัท ป่าสาละ จำกัด, International Rivers, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (Foundation for Consumers), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Litigation and Advocacy for the Wants — EnLAW), และ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (Ecological Alert and Recovery Thailand — EARTH)

แนวร่วมฯ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย แนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance International) ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับโลกที่มีพันธมิตรและสมาชิกมากกว่า 150 องค์กร โดยมี Oxfam Novib เป็นผู้ประสานงานหลัก มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความมุ่งมั่นของธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ ในการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.fairfinancethailand.org

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

กรุงศรี คว้า 3 รางวัลใหญ่จากเวทีระดับสากล

กรุงศรีคว้า 3 รางวัลใหญ่จากเวทีระดับสากล ตอกย้ำความเป็นผู้นำดิจิทัลโซลูชันเพื่อผู้ประกอบการ SME ไทย

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย คว้ารางวัล Best Bond House in Thailand

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยคว้ารางวัล Best Bond House in Thailand จาก Alpha Southeast Asia สะท้อนความเชี่ยวชาญด้านตลาดตราสารหนี้

ผลสำรวจ UOB เผยธุรกิจไทยมุ่งขยายในภูมิภาค รับมือสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า

ผลสำรวจ UOB เผยภาคธุรกิจไทยมุ่งขยายโอกาส ในภูมิภาค รับมือผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ

นายกฯ เปิดประชุมนานาชาติซอฟต์พาวเวอร์ 

นายกฯ เปิดประชุมนานาชาติซอฟต์พาวเวอร์ ชู 5 อุตสาหกรรม ตั้งเป้ามูลค่าส่งออกทะลุ 1 ล้านล้าน ภายใน 5 ปี หวังเพิ่มรายได้สร้างอาชีพใหม่ประชาชน