พาณิชย์ เผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง

Date:

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 5,652 ราย ซึ่งครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 46.7 อยู่ต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่น จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ประกอบกับความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ สถานการณ์หนี้ครัวเรือน และภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 46.7 ปรับลดลงจากระดับ 48.9

ในเดือนพฤษภาคม 2568 โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงมาจาก

(1) ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกาและความตึงเครียดของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมทั้งสถานการณ์ระหว่างไทย – กัมพูชา อาจส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนและสถานการณ์การเมืองในประเทศ

(2) การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

(3) ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับลดลง ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากกว่าปีก่อน ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร

และ (4) ระดับหนี้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนภาพรวมเศรษฐกิจ อาทิ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและหนี้สินของภาคธุรกิจ รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการท่องเที่ยว ด้านการลดผลกระทบภาคการส่งออก รวมทั้งด้านเศรษฐกิจชุมชนและอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ด้านเศรษฐกิจไทยส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50.35 รองลงมา คือ มาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 13.68 การเมือง คิดเป็นร้อยละ 8.79 เศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 8.35 สังคม/ความมั่นคง คิดเป็นร้อยละ 7.87 ราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 6.23 ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 2.43 ภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 1.47 และอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 0.83 ตามลำดับ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายภูมิภาค จำนวน 5 ภูมิภาค พบว่า ดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่น 1 ภาค คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 50.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 47.1 ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 45.5 ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 45.1 และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 43.6 ซึ่งปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าและไม่อยู่ในช่วงความเชื่อมั่น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายอาชีพ จำนวน 7 อาชีพ พบว่า มีเพียง 1 กลุ่มอาชีพ ที่ดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่น คือ พนักงานของรัฐ อยู่ที่ระดับ 50.2 ขณะที่มี 6 กลุ่มอาชีพที่ดัชนีอยู่ต่ำกว่าช่วงเชื่อมั่น โดยนักศึกษา อยู่ที่ระดับ 48.6 ผู้ประกอบการ อยู่ที่ระดับ 47.6 เกษตรกร อยู่ที่ระดับ 46.7 พนักงานเอกชน อยู่ที่ระดับ 45.9 ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ อยู่ที่ระดับ 44.9 และอาชีพรับจ้างอิสระ อยู่ที่ระดับ 44.4 สำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ต่ำกว่าช่วงเชื่อมั่น โดยอยู่ที่ระดับ 31.6

นายพูนพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงพาณิชย์ยังเดินหน้าดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภาคการค้าและภาคการผลิตทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการเร่งระบายผลไม้ภาคตะวันออกช่วงปลายฤดูกาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนำเข้าของประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเกษตรคุณภาพต่ำอย่างเข้มงวดเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ ในขณะเดียวกัน ยังได้ผลักดันสินค้าไทยสู่ตลาดต่างประเทศผ่านการจัดแสดงในงานระดับนานาชาติ รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก 

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

สงครามการค้า เพิ่มแรงกดดันกำลังซื้อของไทย

อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 68 อยู่ที่ -0.25% ขณะที่สงครามการค้าเพิ่มแรงกดดันต่อกำลังซื้อไทยมากขึ้น

เมืองไทยสไมล์คลับ จัดกิจกรรม เที่ยว กิน ฟิน มู @นครศรีธรรมราช”

เมืองไทยสไมล์คลับ จัดกิจกรรม “เมืองไทย Smile Trip : เที่ยว กิน ฟิน มู @นครศรีธรรมราช” พาสมาชิกตะลุยแดนใต้ เอาใจสายกิน-สายมู ครบทุกสไตล์

บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน เปิดภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่

บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน เปิดภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ โดดเด่นด้วยฟีเจอร์ “พอยท์แบบใหม่ ให้ได้มากกว่า” ตั้งเป้าสมัครบัตรใหม่กว่า 100,000 บัญชี

GCAP GOLD ชี้ทองลุ้นพุ่งแตะ $3,400 

GCAP GOLD ชี้ทองลุ้นพุ่งแตะ $3,400 หลังทรัมป์ประกาศรีดภาษี 14 ประเทศ