นบข. เห็นชอบเงิน 1.5 แสนล้านบาท อุ้มชาวนาปี 65/66

Date:

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 2/2565 ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (8 กันยายน 2565) ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นบข. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกรอบวงเงิน เพื่อใช้สำหรับจ่ายชดเชยและเป็นค่าบริหารจัดการโครงการ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประกอบด้วย 1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 (ปีที่ 4) วงเงิน 86,740.31 ล้านบาท 2. มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 (ปีที่ 4) วงเงิน 8,022.69 ล้านบาท 3. โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 วงเงิน 55,364.75 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 150,127.75 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ นบข. นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาตามระเบียบต่อไป ทั้งนี้ ครม. ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อเป็นหลักประกันในรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการคู่ขนานเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาข้าว ตามข้อเสนอของ นบข. ต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปีการผลิต 2562/63 จนถึงปีการผลิต 2564/65

พร้อมกันนี้ นบข. ได้พิจารณาตามที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รายงานว่า ไม่สามารถปิดบัญชีโครงการข้าวตามนโยบายของรัฐบาล จำนวน 7 โครงการได้ ประกอบด้วย (1) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 (2) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2551/52 (3) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 (4) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 (5) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 (6) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 (7) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 เนื่องจากการดำเนินการระบายข้าวคงเหลือยังไม่แล้วเสร็จ และการดำเนินการทางกฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ นบข. จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการฯ ออกไป จากเดิม สิ้นสุด ก.ย. 65 เป็น สิ้นสุด ก.ย. 66 โดยให้ อคส. เร่งรัดการระบาย และ อคส./อ.ต.ก. เร่งรัดการดำเนินการทางกฎหมาย และให้รายงานฝ่ายเลขานุการฯ ทราบเป็นประจำทุกเดือน

นบข. มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ จาก ก.ย. 65 เป็น ก.ย. 66 ตามที่กรมการข้าวเสนอ โดยให้เร่งดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2566 และให้รายงานความคืบหน้าต่อ นบข. ทั้งนี้ ครม. มีมติเห็นชอบโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ กรอบวงเงิน 9,696.522 ล้านบาท เมื่อ 11 เม.ย. 60 ปัจจุบันมีผลการดำเนินการจำนวน 4,636 กลุ่ม พื้นที่ 847,373 ไร่ คิดเป็น 85% การจ่ายเงิน (T1+T2+T3) จ่ายแล้วทั้งสิ้น 4,106.81 ล้านบาท และอยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณ งบกลาง เพื่อจ่ายให้เกษตรกรในส่วนที่ยังค้างจ่าย 3,282.43 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ นบข. รับทราบแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกข้าวไทย ปี 2565 โดยแนวโน้มการส่งออกข้าวไทยปี 2565 กำหนดเป้าหมายการส่งออกอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 7 ล้านตัน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.) ไทยส่งออกข้าวได้ 4.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็น 55% ของเป้าหมายการส่งออกแล้วทำให้การส่งออกข้าวไทยในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ 1) ปริมาณน้ำฝนและน้ำในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอต่อการเพาะปลูกทำให้มีผลผลิตมาก 2) ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ 3) ค่าเงินบาทต่อเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่อ่อนค่า 3) ไทยส่งออกข้าวไปยังอิรักได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เฉลี่ยมากกว่า 100,000 ตัน/เดือน 4) อานิสงส์จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีการนำเข้าข้าวไทยไปใช้ทดแทนข้าวสาลีและข้าวโพดในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น และมีการนำเข้าข้าวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ 5) บังกลาเทศปรับลดภาษีนำเข้าข้าวนึ่งลงเหลือ 25% จากเดิมที่ 62.5% ซึ่งอาจเป็นโอกาสต่อการส่งออกข้าวนึ่ง ขณะที่มีอุปสรรค คือความต้องการนำเข้าข้าวบางส่วนเพื่อนำไปใช้ทดแทนข้าวสาลีมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง และราคาปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ปุ๋ย

นบข. ยังรับทราบสถานการณ์ข้าวไทย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ ปี 2565/66 รอบที่ 1 (นาปี) พื้นที่เพาะปลูก 62.84 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.02 ล้านไร่ (+0.03%) พื้นที่เก็บเกี่ยว 60.58 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.73 ล้านไร่ (+1.22%) ผลผลิต 26.92 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.55 ล้านตันข้าวเปลือก (+2.09%) ขณะที่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 ขึ้นทะเบียน 4.677 ล้านครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 62.68 ล้านไร่ รอบที่ 2 ขึ้นทะเบียน 0.442 ล้านครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 7.00 ล้านไร่ และ ปี 2565/66 รอบที่ 1 (ณ 30 ส.ค. 65) เพาะปลูก เม.ย.- ต.ค. 65 ขึ้นทะเบียนแล้ว 4.078 ล้านครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 55.00 ล้านไร่

ด้านราคาข้าวเปลือกในประเทศ ปัจจุบัน (5 ก.ย. 65) ข้าวเปลือกหอมมะลิ 14,200-15,300 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน (5 ก.ย. 64) 41.83% ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว 9,500-10,000 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน (5 ก.ย. 64) 9.55% ข้าวเปลือกเจ้า 9,300-9,500 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน (5 ก.ย. 64) 19.75% ข้าวเปลือกปทุมธานี 10,600-11,100 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน (5 ก.ย. 64) 11.86% โดยสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกเมื่อเทียบกับปีก่อน คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น เพราะสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับผลผลิตข้าวเหนียวนาปีลดลงจากปีที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเจ้า ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าของประเทศคู่ค้าเพิ่มสูงขึ้น จากความกังวลเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ประกอบกับมีความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น และ ข้าวเปลือกปทุมธานี ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ด้านราคาข้าว ปัจจัยบวก ได้แก่ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายส่งผลให้อุปสงค์ฟื้นตัว ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ลดลง และตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ค่าระวางเรือปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวได้

“รอง นรม.และรมว.พาณิชย์ ย้ำขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุม ขับเคลื่อนการปฏิบัติ และรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าวไทยที่เป็นรูปธรรมต่อที่ประชุม นบข. ทุกครั้ง และให้กรมการข้าวให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดการประกวดพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ พร้อมกับให้เร่งรัดการรับรองพันธุ์ข้าว เพื่อให้บรรลุยุทธศาสตร์ข้าวไทย” น.ส.รัชดา กล่าว

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

อุ๊งอิ๊ง หนีกระทู้สภา ไปกระทู้ภูเก็ต

เทพไท เสนพงศ์ ชี้ อุ๊งอิ๊ง หนีกระทู้สภา ไปกระทู้ภูเก็ต

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทย คง เดือนที่ 4 ติดต่อกัน

พาณิชย์เผยผลสำรวจดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทย ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 

ปชป.ต้าน ภัยไซเบอร์ จับมือ Asia Centre

ปชป.ต้าน ภัยไซเบอร์ จับมือ Asia Centre จัดอบรมฟรี ความปลอดภัยดิจิทัล ดึงเครือข่ายสร้างการรับรู้

ธนารักษ์ออกเหรียญที่ระลึก วันเด็ก

กรมธนารักษ์ชวนสะสมเหรียญที่ระลึก วันเด็กแห่งชาติ 2568 ราคาเหรียญละ 20 บาท