นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CWT) เปิดเผยถึง โครงการบริหารจัดการขยะและกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน หรือ โครงการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) ของเทศบาลนครนครสวรรค์ ซึ่งลงทุนโดย บริษัท กรีน เพาเวอร์ 1 จำกัด (GP1) บริษัทย่อยของ CWT ได้รับกระแสตอบรับที่ดีและมีลูกค้ารายใหญ่ อาทิ โรงงานขนาดใหญ่ โรงปูนต่างๆ ในจังหวัดนครสวรรค์ และพื้นที่ใกล้เคียง เข้ามาทำข้อตกลงเพื่อจองปริมาณทั้งหมดที่จะผลิตเป็น RDF ตอนนี้
“เชื้อเพลิง RDF ของเทศบาลนครนครสวรรค์ ได้รับความสนใจอย่างมาก ส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับการจองปริมาณทั้งหมดที่ GP1 จะสามารถผลิต RDF ได้อยู่ที่ประมาณ 180 ตันต่อวัน จากปริมาณขยะพร้อมผลิต 400 ตัน ทำให้เราเชื่อมั่นว่าตลอดระยะเวลาในสัญญา 25 ปี โครงการนี้จะสามารถสร้างรายได้ได้อย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ บริษัทฯ เตรียมยื่นคำขอขึ้นทะเบียนโครงการเพื่อขายคาร์บอนเครดิตสำหรับการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นอีกช่องทางช่วยสร้างรายได้เสริมอีกด้วย”
เชื้อเพลิง RDF ให้ความสนใจอย่างมากเนื่องมาจากการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF นับเป็นเชื้อเพลิงสะอาด ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอย่างมาก เพื่อตอบสนองต่อนโยบาย COP26 ที่ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมเป็นภาคีสมาชิกที่มีเป้าหมายสำคัญ คือการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส เพื่อสนับสนุนการแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในขณะนี้
นอกจากนี้ โรงแปลงขยะมูลฝอยชุมชนแห่งนี้ยังเป็นการตอบรับแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นการสานพลังของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน-เอกชน-หน่วยงานภาครัฐ เพื่อมุ่งสร้างเมืองที่น่าอยู่ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ ต้องไม่มีขยะเหลือตกค้างที่ต้องนำไปฝังกลบในแต่ละวันอีกต่อไป
กรรมการผู้จัดการ CWT กล่าวอีกว่า ภายหลังพิธีเปิดหน้าดินเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ ได้เริ่มเข้าพัฒนาพื้นที่และเตรียมก่อสร้างโรงแปลงขยะมูลฝอยชุมชนเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน RDF ทันที มีการนำเข้าเครื่องจักรผลิตเชื้อเพลิงขยะจาก “BMH Technology” ประเทศฟินแลนด์เข้ามาเรียบร้อยแล้วและคาดว่าจะสามารถเปิดเดินระบบเพื่อแปรรูปขยะทั้งหมดเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้ภายในเดือนสิงหาคมปี 2566 และเตรียมพัฒนาสู่การเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพลังงาน RDF ขนาดไม่เกิน 10.0 MW ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถดำเนินงานบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาขยะในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน