ธนาคารรัฐ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือน้ำท่วม

Date:

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า หลังจากที่ประเทศไทยต้องประสบกับพายุโนรูที่ส่งผลให้มีฝนตกหนัก และในบางพื้นที่มีฝนตกหนักมากทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพของประชาชนเป็นบริเวณกว้างในหลายจังหวัดนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการหน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินภาครัฐ ดังนั้น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายการดูแลและช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วนและทันท่วงทีของรัฐบาล ดังนี้

1.ธนาคารออมสิน มีมาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สามารถพักชำระหนี้เงินต้น โดยเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ย 10% – 100% และกรณี Flat Rate ลดการชำระเงินงวด 50% ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ขณะเดียวกัน ธนาคารฯ ยังให้ประชาชนที่ประสบภัยกู้เงินฉุกเฉิน สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม/ภัยพิบัติ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.85 ต่อเดือน (Flat Rate) ชำระเงินเป็นรายเดือน 3-5 ปี โดยปลอดชำระเงินงวด 3 เดือนแรก

นอกจากนี้ ยังให้สินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพิ่มเติมสำหรับลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบเพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ถึง 100% ของราคาประเมิน โดยดอกเบี้ยปีที่ 1-3 = 3.49% (MRR-2.755%) และปีที่ 4 เป็นต้นไป = 4.99% ต่อปี (MRR-1.250%) และสินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 = 3.99% (MRR-2.255%) ปีที่ 2 = 4.99% (MRR-1.255%) ปีที่ 3 เป็นต้นไป = 5.745% และ สินเชื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจของธนาคาร วงเงินกู้สูงสุด 10% ของวงเงินกู้เดิมแต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี โดยปลอดชำระเงินต้น 1 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรก 3.50% ปีที่ 2 เป็นต้นไป = MLR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยธนาคาร MRR = 6.245% และ MLR = 6.150% ต่อปี) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ GSB Contact Center โทร. 1115

2.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดทำ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2565” กรอบวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1) สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่อยู่ระหว่างการใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (MRR -0.50%,MRR -1.00% หรือ MRR เป็นต้น) กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติสามารถ “ขอลดเงินงวด 50%” จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน

2) สำหรับลูกค้ากู้ใหม่ หรือลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3% ต่อปี นาน 1 ปี ปีที่ 2 – 3 อัตราดอกเบี้ย MRR –3.15% ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 3% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้ทุกกรณีหลังจากนิติกรรมแล้วในรายการที่เกี่ยวข้อง

3)ลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

4)ลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้นเดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100 บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

5)ลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)

6)ลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)

7)พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความเสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2565 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ G H Bank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

3.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดมาตรการลดภาระหนี้เดิมสำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้ปกติผ่านมาตรการ ดังนี้

1) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ธนาคารจะพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้พร้อมกำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 20 ปี

2) จ่ายดอก ตัดต้น เมื่อลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยของจำนวนเงินที่ลูกค้าส่งชำระ

3) ชำระดีมีคืน กรณีลูกค้ามาชำระหนี้ถึงกำหนด จะได้รับการคืนดอกเบี้ยร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริงไม่เกิน 2,000 บาทต่อราย เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระทางการเงินแก่ลูกค้าทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ธันวาคม 2565

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังจัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปใช้สร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ และลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายจำเป็นฉุกเฉิน เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกร เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท

2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2

สำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยดังกล่าว สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 ตลอด 24 ชั่วโมง

“จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตร ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งด้านการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ โดยมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของทั้ง 3 ธนาคารรัฐดังกล่าว จะมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าของธนาคารได้ตามนโยบายของรัฐบาล จึงขอให้ประชาชน เกษตรกร และลูกค้าธนาคาร มีความมั่นใจว่ารัฐบาลโดยสถาบันการเงินภาครัฐพร้อมเข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในสถานการณ์อุทกภัยในปัจจุบัน” นายอนุชาฯ กล่าว

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

“นภินทร” เพิ่มศักยภาพกาแฟไทย

“นภินทร” เพิ่มศักยภาพกาแฟไทยขึ้นทะเบียน “กาแฟระนอง - กาแฟดอยมูเซอตาก” GI น้องใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมยกระดับกาแฟไทยสู่ตลาดสากล

“พิชัย” ถก ”ทูตสหรัฐ“ ดันการต่ออายุโครงการ GSP

“พิชัย” ถก ”ทูตสหรัฐ“ ดันการต่ออายุโครงการ GSP ชวนลงทุน Data Center และ Cloud Service เพิ่มมูลค่าการค้า ชูไทยพร้อมเป็น Food Security Hub 

ผลักดันไม้ยืนต้นสู่หลักประกันทางธุรกิจ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผลักดันไม้ยืนต้นสู่หลักประกันทางธุรกิจ ติวเข้มเกษตรกร จ.ราชบุรี แปลงไม้ยืนต้นเป็นเงินทุน

”พิชัย“ ปลื้ม คลีนิกแพทย์จีนหัวเฉียว-ม.หัวเฉียวฯ

”พิชัย“ ปลื้ม คลีนิกแพทย์จีนหัวเฉียว-ม.หัวเฉียวฯ จับมือ 5 สถาบันแพทย์จีนชั้นนำ เปิดนวัตกรรม AI ตรวจโรค สานสัมพันธ์การแพทย์-การค้า-ลงทุน ไทย-จีน