ผู้ค้าน้ำมัน ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมัน  ป้องกันการค้ากำไรเกินควร

Date:

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม  ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ ผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน 

นอกจากนั้น ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส  และกรณีที่ ผู้ค้าน้ำมัน ปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน  โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับ ต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าตอบแทนนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน ค่าภาษี อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี 

รมว.พลังงาน กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เหมาะสมเพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาจำหน่ายที่ยุติธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง  ประชาชนได้รับการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น

“คงจำได้ว่าเมื่อรับตำแหน่งใหม่ๆ ผมพยายามที่จะหาว่าต้นทุนพลังงานแต่ละชนิดคืออะไร ราคาที่ขายให้ประชาชนมีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าและกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผมและทีมงานจึงศึกษาและพบว่าจริงๆแล้วมีช่องทางในการขอทราบข้อมูลแต่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงได้ดำเนินการยกร่างออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลต้นทุนได้”นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า นโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง เป็นสิ่งที่ตนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งตนและข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ปรึกษาและทีมกฎหมายจากกฤษฎีกาได้ทำงานอย่างหนัก ประชุมและค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มีการลดราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ไฟฟ้า ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม แต่ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่นโยบายการรื้อระบบพลังงาน จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างถาวร เมื่อภาครัฐมีข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้านและมีกฎหมายที่ให้อำนาจ ก็สามารถพิจารณาและตรวจสอบต้นทุนเพื่อภาคเอกชนมีกำไรในระดับสมเหตุสมผล ไม่สร้างภาระให้ประชาชนจนเกินกว่าเหตุและสามารถแข่งขันได้ ประเทศก็จะมีความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม

“วันนี้ก็ได้เริ่มต้นจากการให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน และในอนาคตก็จะเริ่มปรับระบบพลังงานประเภทอื่นๆ ทั้ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ต่อไป ผมเชื่อว่า นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้อย่างถาวร และผมจะดำเนินการให้สำเร็จให้เร็วที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ 

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ

“บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด

กิจกรรมแก้หนี้เชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด ช่วย SMEs ลูกหนี้ที่ บสย. จ่ายเคลม “ปลดหนี้” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ประกาศจุดยืน “อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ”

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ร่วมเวที CEO Forum ประกาศจุดยืน "อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ" สู่อนาคต Net Zero

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย – ภูฏาน

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย - ภูฏาน FTA ฉบับที่ 17 ของไทย เปิดตลาดใหม่สู่เอเชียใต้