สศช. คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2565ขยายตัว 2.7 – 3.2%

Date:

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. จะเพิ่มขึ้น 7.9% การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.4% และ 3.1% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 6.3 – 6.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.6% ของ GDP

รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้

1.การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 4.4% ปรับตัวดีขึ้นจาก 0.3% ในปี 2564 และเป็นการปรับขึ้นจาก 3.9%
ในการประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการขยายตัวของการบริโภคในช่วงครึ่งแรกของปีที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ และยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังตามฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศของภาครัฐ

(2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะลดลง 0.2% เทียบกับการขยายตัว 3.2% ในปี 2564 และเท่ากับการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการคงสมมติฐานอัตราการเบิกจ่าย งบประจำภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ 98% ของวงเงินงบประมาณ รวมทั้งการเบิกจ่ายภายใต้แผนงานและโครงการที่ได้รับการอนุมัติภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท

2.การลงทุนรวม คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.8% เทียบกับ 3.4% ในปี 2564 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัว 3.5% ในประมาณการครั้งก่อน โดย

(1) การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.1% เทียบกับ 3.3% ในปี 2564 และปรับลดจาก 3.5% ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการการส่งออก และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเร็วกว่าสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

(2) การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัว 2.0% เทียบกับ 3.8% ในปี 2564 และปรับลดลงจาก 3.4% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในช่วงสามไตรมาสแรกของปีงบประมาณที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน และการปรับลดประมาณการอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

3.มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัว 7.9% เทียบกับ 19.2% ในปี 2564 และปรับเพิ่มจาก 7.3% ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออกจากเดิม 3.3 – 4.3% ในการประมาณการครั้งก่อนเป็น 4.0 – 5.0% ในการประมาณการครั้งนี้ ในขณะที่ปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกสินค้าจากการขยายตัว 3.5% ในการประมาณการครั้งก่อนเป็น 3.4% ตามการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก เมื่อรวมกับการปรับเพิ่มปริมาณการส่งออกบริการตามการปรับเพิ่มสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 9.0% เทียบกับการขยายตัว 8.3% ในการประมาณการครั้งก่อน และ10.4% ในปี 2564

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ

(1) การติดตามและดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและภาระดอกเบี้ย
แบบมุ่งเป้า

(2) การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับ (i) การบรรเทาผลกระทบแก่เกษตรกรจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและปัญหาต้นทุนการผลิต (ii) การเตรียมการและป้องกันปัญหาจากอุทกภัย และ (iii) การเพิ่มส่วนแบ่งของเกษตรกรในรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย

(3) การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งเตรียมมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ

(4) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ (ii) การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า (iii) การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ และ (iv) การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อรองรับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน

(5) การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดย (i) การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง (ii) การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวสามารถกลับมาประกอบธุรกิจ (iii) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และ (iv) การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

(6) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2562 – 2564 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ii) การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต (iii) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (iv) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค (v) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ๆ และ (vi) การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง

(7) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

(8) การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

Share post:

spot_img

Related articles

แนะรัฐบาลขึ้นภาษี VAT พาเศรษฐกิจพ้นหายนะ 

อดีต รมว.คลัง แนะรัฐบาลใหม่ขึ้นภาษี VAT เพิ่มรายได้ประเทศแสนล้าน พาเศรษฐกิจพ้นหายนะ

ครม.สืบสันดาน ถูกต้องเหมาะสมแล้ว

“นายเทพไท เสนพงศ์” บอก ครม.สืบสันดาน ถูกต้องเหมาะสมแล้ว

รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง จะรอดข้ามปีมั้ย???

“นายเทพไท เสนพงศ์” ตั้งข้อสังเกต รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง จะรอดข้ามปีมั้ย???

ทีทีบี ออกมาตรการสินเชื่อช่วยเหลือลูกค้าน้ำท่วม

ทีทีบี ออกมาตรการ “ตั้งหลัก” ช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ปรับโครงสร้างหนี้ และขยายเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 6 เดือน

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427