สศช. คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2565ขยายตัว 2.7 – 3.2%

Date:

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. จะเพิ่มขึ้น 7.9% การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.4% และ 3.1% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 6.3 – 6.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.6% ของ GDP

รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้

1.การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 4.4% ปรับตัวดีขึ้นจาก 0.3% ในปี 2564 และเป็นการปรับขึ้นจาก 3.9%
ในการประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการขยายตัวของการบริโภคในช่วงครึ่งแรกของปีที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ และยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังตามฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศของภาครัฐ

(2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะลดลง 0.2% เทียบกับการขยายตัว 3.2% ในปี 2564 และเท่ากับการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการคงสมมติฐานอัตราการเบิกจ่าย งบประจำภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ 98% ของวงเงินงบประมาณ รวมทั้งการเบิกจ่ายภายใต้แผนงานและโครงการที่ได้รับการอนุมัติภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท

2.การลงทุนรวม คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.8% เทียบกับ 3.4% ในปี 2564 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัว 3.5% ในประมาณการครั้งก่อน โดย

(1) การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.1% เทียบกับ 3.3% ในปี 2564 และปรับลดจาก 3.5% ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการการส่งออก และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเร็วกว่าสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

(2) การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัว 2.0% เทียบกับ 3.8% ในปี 2564 และปรับลดลงจาก 3.4% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในช่วงสามไตรมาสแรกของปีงบประมาณที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน และการปรับลดประมาณการอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

3.มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัว 7.9% เทียบกับ 19.2% ในปี 2564 และปรับเพิ่มจาก 7.3% ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออกจากเดิม 3.3 – 4.3% ในการประมาณการครั้งก่อนเป็น 4.0 – 5.0% ในการประมาณการครั้งนี้ ในขณะที่ปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกสินค้าจากการขยายตัว 3.5% ในการประมาณการครั้งก่อนเป็น 3.4% ตามการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก เมื่อรวมกับการปรับเพิ่มปริมาณการส่งออกบริการตามการปรับเพิ่มสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 9.0% เทียบกับการขยายตัว 8.3% ในการประมาณการครั้งก่อน และ10.4% ในปี 2564

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ

(1) การติดตามและดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและภาระดอกเบี้ย
แบบมุ่งเป้า

(2) การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับ (i) การบรรเทาผลกระทบแก่เกษตรกรจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและปัญหาต้นทุนการผลิต (ii) การเตรียมการและป้องกันปัญหาจากอุทกภัย และ (iii) การเพิ่มส่วนแบ่งของเกษตรกรในรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย

(3) การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งเตรียมมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ

(4) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ (ii) การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า (iii) การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ และ (iv) การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อรองรับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน

(5) การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดย (i) การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง (ii) การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวสามารถกลับมาประกอบธุรกิจ (iii) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และ (iv) การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

(6) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2562 – 2564 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ii) การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต (iii) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (iv) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค (v) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ๆ และ (vi) การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง

(7) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

(8) การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

Share post:

spot_img

Related articles

แฉขบวนการค้าบุหรี่เถื่อน ตบตาเจ้าหน้าที่

สมาคมการค้ายาสูบไทย แฉขบวนการค้าบุหรี่เถื่อนเปิดร้านส่งพัสดุเอกชนบังหน้า รับออเดอร์ผ่านช่องทางออนไลน์กระจายทั่วประเทศตบตาเจ้าหน้าที่

EXIM BANK เสนอขาย Blue Bond สกุลบาท 

EXIM BANK เสนอขาย Blue Bond สกุลบาทครั้งแรก ระดมทุนสนับสนุนธุรกิจอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและ Blue Economy พัฒนาระบบนิเวศที่ยั่งยืนและสังคมคาร์บอนต่ำ

ยอดผลิต รถยนต์ เดือนมิถุนายน 2567 วูบ 20%

ปรับเป้าผลิตรถยนต์ลง 2 แสนคัน หลังยอด ยอดผลิตรถยนต์เดือนมิถุนายน 2567 วูบ 20%

ได้เวลาปลุกปั้น อาหารไทย ให้อิ่มนี้ มีอิทธิพล

แนะไทยควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา Soft power ด้านอาหาร ที่สามารถเชื่อมโยงให้เติบโตไปกับเทรนด์อาหารแห่งโลกอนาคต

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427