ชี้ดึงเม็ดเงินลงทุนโดยตรง จากต่างประเทศไม่เหมือนเดิม

Date:

 
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองไทยมีความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่เหมือนเดิม เหตุภาครัฐมุ่งเน้นเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ซึ่งเป็นประโยชน์ฝั่งต้นทุนเป็นสำคัญ แต่ยังขาดการสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างรายได้ของกิจการ แนะภาครัฐมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของประเทศและยกระดับกำลังซื้อเพื่อสร้างแต้มต่อให้ไทยสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น พร้อมวางความพร้อมเรื่องแรงงานทักษะที่สามารถรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการเป็นรากฐานการสร้างความเจริญเติบโตในอนาคต เริ่มตั้งแต่การเข้ามาตั้งฐานการผลิตของกลุ่มบริษัทต่างชาติที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงเกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีและโอกาสในการสรรสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เพิ่มโอกาสในการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ซึ่งในอดีตไทยนับเป็นแหล่งเป้าหมายสำคัญของเม็ดเงิน FDI ที่เข้ามาขยายการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) โดยในช่วงปี 2538-2547 ไทยมีเงินลงทุน FDI สูงเป็นสัดส่วนถึง 35.3% ของ FDI ที่เข้า ASEAN* (*ไม่รวมสิงคโปร์) จึงมีส่วนช่วยให้ไทยมีรากฐานการเจริญเติบโตที่แข็งแกร่งและสามารถสร้างความเจริญเติบโตหลังเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งได้สูงถึง 4.6% ต่อปี (CAGR 2541-2553) อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่าในช่วงนับจากปี 2548 เม็ดเงิน FDI ของไทยเพิ่มขึ้นช้าลงเมื่อเทียบกับประเทศใน ASEAN*  ด้วยกัน ทำให้เม็ดเงิน FDI ของไทยมีสัดส่วนเพียง 20.6% ในช่วงปี 2548-2557 และลดลงต่อเนื่องเหลือราว 10.4% สำหรับปี 2558-2566 ส่งผลให้ไทยมีแรงส่งในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สูงนักเพียง 1.8% ต่อปี (CAGR 2555-2566) โดยถ้านับจากหลังวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ จากการขาดแรงส่งของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาพร้อมกับเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ 

ประเด็นที่น่ากังวล ในปี 2566 สัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญเหลือเพียง 4.6% จนแทบจะแสดงให้เห็นถึงการที่ไทยไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้  ttb analytics จึงมองความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยไม่ได้เหมือนเดิม ซึ่งเน้นในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ที่ช่วยเฉพาะฝั่งต้นทุน ทำให้นักลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนที่ไม่เป็นเพียงการลดต้นทุนให้ต่ำลงเพียงปัจจัยเดียว แต่หากเป็นการหาจุดที่เหมาะสมมากที่สุด (Optimization) เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของกำไรสูงสุด (Maximize Profit) ซึ่งประกอบไปด้วยมิติของการควบคุมต้นทุนให้เหมาะสมและมิติของโอกาสการสร้างรายได้ โดยพบว่า ไทยยังมีข้อเสียเปรียบในมิติทั้งสองด้านรวมถึงมิติอื่น ๆ ในเชิงคุณภาพ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้    

1. มิติเรื่องต้นทุน (Cost Challenges) ปัจจัยเรื่องแรงงานเป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งในการเลือกแหล่งลงทุนก่อตั้งกิจการ โดยต้นทุนค่าแรงจะถูกกำหนดจากนโยบายของภาครัฐผ่านอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีการขยับค่าแรงขั้นต่ำหลายระลอก เช่นในช่วงปี 2556 ที่ขยับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนในปัจจุบันอยู่ที่ 330-370 บาทต่อวัน ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 173-250 บาทต่อวัน  หรือฟิลิปปินส์มีค่าแรงขั้นต่ำราว 229 บาทต่อวัน ผลของระดับค่าแรงที่สูงกว่าย่อมกระทบต่อต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมโดยเฉพาะที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก (Labor Intensive) รวมถึงการลดต้นทุนผ่านสิทธิประโยชน์ในการลงทุนผ่านนโยบายส่งเสริมต่าง ๆ พบว่า ในแต่ละประเทศให้สิทธิประโยชน์ที่ใกล้เคียงกัน ไทยจึงอาจไม่สามารถสร้างข้อได้เปรียบหรืออาจส่งผลถึงความเสียเปรียบในเชิงเปรียบเทียบ เนื่องจากการลงทุนเพื่อก่อตั้งกิจการเป็นต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ซึ่งต้นทุนต่อหน่วยจะลดลงต่อเมื่อมีปริมาณการขายหรือผลิตได้มากเพียงพอ (Economies of Scale) รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีก็ย่อมที่จะได้มากเมื่อธุรกิจเกิดกำไรจำนวนมาก ซึ่งความได้เปรียบในเรื่องนี้ของไทยยังคงถูกจำกัดเนื่องจากปัจจัยด้านศักยภาพในการสร้างรายได้ของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ซึ่งจะกล่าวถึงในประเด็นถัดไป 

2. การสร้างรายได้ (Revenue Generation Opportunities) ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการลงทุน เนื่องจากทำเลที่มีศักยภาพมักมาพร้อมกับต้นทุนที่ราคาแพง ดังนั้น ประเด็นการเลือกพื้นที่ตั้งกิจการอาจต้องตอบโจทย์ความสามารถในการสร้างรายได้ทั้งจากตลาดในประเทศและจากการส่งออก ซึ่งพบว่าไทยมีข้อเสียเปรียบประเทศคู่แข่งใน ASEAN* เช่น มิติด้านกำลังซื้อของคนในประเทศสะท้อนผ่าน GDP Per Capita ของไทยที่ในรอบ 10 ปี (2556-2566) เพิ่มขึ้นเพียง 15.3% ในขณะที่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย กลับมีรายได้ต่อหัวเพิ่มถึง 64%, 37.6%, และ 30.2% ตามลำดับ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงภาคการส่งออกประเทศในกลุ่ม ASEAN* มักไม่มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบมากนัก ในเรื่องสถานที่ตั้งที่ได้เปรียบในพื้นที่เอเชีย-แปซิฟิก แต่ไทยมีข้อเสียเปรียบค่อนข้างชัดเจนเมื่อเทียบกับเวียดนามที่มีข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) กับเขตเศรษฐกิจยุโรป (EU) ที่มีโอกาสในการเปิดพื้นที่การค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าไทยถึงกว่า 27 ประเทศ 

นอกเหนือจากความเสียเปรียบทั้งมิติของโอกาสการสร้างรายได้และปัจจัยด้านต้นทุน การลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยยังมีปัจจัยท้าทายอื่นที่ต้องเผชิญ (Other Challenges to Confront) เช่น ปัจจัยความพร้อมด้านกำลังแรงงานในระยะ 10 ปีข้างหน้า ประชากรวัยแรงงานของไทยจะลดลง 2.7 ล้านคน ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย กลับมีประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้น 14.9 ล้านคน 4.9 ล้านคน และ 1.9 ล้านคน ตามลำดับ  กอปรกับมิติเชิงคุณภาพแรงงานในอนาคตต้องพร้อมรับเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคของ เทคโนโลยีดิจิทัล การผลิตขั้นสูง และอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ก็พบว่าแรงงานไทยมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาทักษะดังกล่าวเพื่อเป็นแรงงานทักษะในอนาคต สะท้อนผ่าน PISA Score 2565 ที่ไทยอยู่อันดับที่ 52 ตามหลังเวียดนาม (28) มาเลเซีย (49) ที่สะท้อนได้ถึงประสิทธิภาพในระบบการศึกษาไทยที่ยังตามหลังประเทศอื่น และจะส่งผลระยะยาวในการยกระดับแรงงานไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงได้อย่างจำกัด 

ดังนั้น บนข้อเสียเปรียบหลายประเด็นในการดึงดูดเม็ดเงิน FDI จึงเป็นโจทย์ที่ทางภาครัฐอาจต้องทบทวนถึงปัญหาอย่างจริงจัง  โดยทาง ttb analytics มองว่าปัญหาหลักอาจเกิดจากที่ไทยพยายามมุ่งเน้นเฉพาะสิทธิประโยชน์ที่ดึงดูดกลุ่มทุนต่างชาติซึ่งเป็นเพียงมิติฝั่งต้นทุน แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นและโอกาสการสร้างรายได้ของกิจการที่เข้ามาลงทุน ผ่านจุดมุ่งหมายอันทะเยอทะยานที่สามารถสร้างความเชื่อมั่น ดังเช่น เวียดนามที่มีเป้าหมายจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมภายในปี 2573 หรือ อินโดนีเซียประกาศจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอีก 20 ปีข้างหน้า เป็นต้น

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

“นภินทร” เพิ่มศักยภาพกาแฟไทย

“นภินทร” เพิ่มศักยภาพกาแฟไทยขึ้นทะเบียน “กาแฟระนอง - กาแฟดอยมูเซอตาก” GI น้องใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมยกระดับกาแฟไทยสู่ตลาดสากล

“พิชัย” ถก ”ทูตสหรัฐ“ ดันการต่ออายุโครงการ GSP

“พิชัย” ถก ”ทูตสหรัฐ“ ดันการต่ออายุโครงการ GSP ชวนลงทุน Data Center และ Cloud Service เพิ่มมูลค่าการค้า ชูไทยพร้อมเป็น Food Security Hub 

ผลักดันไม้ยืนต้นสู่หลักประกันทางธุรกิจ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผลักดันไม้ยืนต้นสู่หลักประกันทางธุรกิจ ติวเข้มเกษตรกร จ.ราชบุรี แปลงไม้ยืนต้นเป็นเงินทุน

”พิชัย“ ปลื้ม คลีนิกแพทย์จีนหัวเฉียว-ม.หัวเฉียวฯ

”พิชัย“ ปลื้ม คลีนิกแพทย์จีนหัวเฉียว-ม.หัวเฉียวฯ จับมือ 5 สถาบันแพทย์จีนชั้นนำ เปิดนวัตกรรม AI ตรวจโรค สานสัมพันธ์การแพทย์-การค้า-ลงทุน ไทย-จีน