ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวัน : นัยต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก

Date:

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ประเมินว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันสูงขึ้นหลังการเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงย้ำว่าจะสนับสนุนสันติภาพบริเวณช่องแคบไต้หวันต่อไป ขณะที่รัฐบาลจีนประณามการเดินทางครั้งนี้ และปฏิบัติการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมารอบเกาะไต้หวัน ซึ่งจะกระทบต่อการขนส่งชั่วคราว

อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันเคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะหลังจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party) ที่มีนโยบายสนับสนุนการแยกตัวออกจากจีนชนะการเลือกตั้งไต้หวันตั้งแต่ปี 2016

ในกรณีฐาน สถานการณ์จะยังไม่ยกระดับความรุนแรง แต่ความตึงเครียดและข้อพิพาทระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมีจำกัด EIC ประเมินว่าสถานการณ์ความขัดแย้งอาจเกิดได้ 3 กรณี กรณีที่มีโอกาสเกิดสูงสุด

(กรณีที่ 1) คือ จีนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันในเชิงสัญลักษณ์และเพิ่มการซ้อมรบแค่ชั่วคราว ขณะที่สหรัฐฯ ยังไม่คว่ำบาตรจีนโดยตรง สถานการณ์จึงยังไม่ยกระดับความรุนแรง ด้านสหรัฐฯ ยังคงใช้นโยบายความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ (Strategic ambiguity) เพื่อลดความเสี่ยงการเผชิญหน้ากับจีน ด้วยการสนับสนุนนโยบาย One-China policy ของจีนอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน ก็ให้การสนับสนุนไต้หวันทางเศรษฐกิจและยุทโธปกรณ์ ขณะที่จีนยังคงอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวัน แต่ไม่ต้องการยกระดับความรุนแรงเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนยังซบเซาและกำลังจะมีการจัดประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในปีนี้ อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดและข้อพิพาทประเด็นการเมืองระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น (เป็น New normal) และเร่งให้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) เกิดเร็วขึ้น ในกรณีนี้ EIC ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีจำกัด เศรษฐกิจโลกยังสามารถขยายตัวได้ที่ 3.2% และการค้าโลกขยายตัวได้ที่ 4.1% ในปีนี้

หากความตึงเครียดรุนแรงขึ้น จะกระทบการค้าและห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างมีนัยสำคัญ ในกรณีเลวร้ายที่เกิดสงคราม หลายประเทศจะเข้าสู่ภาวะถดถอยความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันส่งผลกระทบต่อการเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวันและน่านน้ำใกล้เคียง ห่วงโซ่อุปทานโลก และเศรษฐกิจภูมิภาค ในกรณีที่จีนใช้มาตรการปิดน่านน้ำไต้หวันและระงับการนำเข้าส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ของไต้หวัน แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดสงคราม

(กรณีที่ 2) ห่วงโซ่อุปทานโลกจะได้รับผลกระทบมากขึ้นกว่าในกรณีฐาน โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ที่ไต้หวันเป็นผู้ผลิตสำคัญที่สุดของโลก ขณะที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อจีน ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกสูงกว่าการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย เนื่องจากจีนมีความสำคัญและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากกว่า ในกรณีนี้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้เพียง 2.4% ในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไต้หวันอาจถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนชะลอลงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เกิดสงครามระหว่างจีนและไต้หวัน

(กรณีที่ 3) คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง โดยเศรษฐกิจไต้หวัน จีน และสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรทั้งสองฝ่ายจะเข้าสู่ภาวะถดถอย การค้าโลกจะแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน ทำให้การค้าระหว่างประเทศหยุดชะงักในหลายพื้นที่ ในกรณีนี้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้เพียง 1.4% เท่านั้นในปีนี้

การแบ่งขั้วระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะเร่งตัวรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ทั้งสองประเทศมีแนวโน้มพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ โดยสหรัฐฯ ได้ผ่านร่าง CHIPS and Science Act เพื่อกระตุ้นการลงทุนผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ และห้ามบริษัทต่าง ๆ ส่งเทคโนโลยีสำคัญไปให้จีน ขณะที่จีนก็มีนโยบายกระตุ้นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ภายในประเทศเช่นกัน EIC ประเมินว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศภูมิภาครวมถึงไทยผ่าน 4 ช่องทาง คือ

1) การค้าระหว่างประเทศ การนำเข้าและส่งออกของไต้หวันและกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ทำได้ลำบากขึ้น แต่ในบางกลุ่มสินค้าอาจได้ประโยชน์จากการนำเข้าและส่งออกสินค้าทดแทน (Product substitution)

2) การลงทุนระหว่างประเทศ บริษัทข้ามชาติอาจหันมาลงทุนในประเทศหรือภูมิภาคใกล้เคียง (Reshoring) เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่สูงขึ้น

3) อัตราเงินเฟ้อ ห่วงโซ่อุปทานสำคัญของสหรัฐฯ และจีนได้รับผลกระทบ จึงต้องหันมาพึ่งพาการผลิตในประเทศหรือภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกว่าเดิม อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

4) ความผันผวนในตลาดการเงินสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนอาจกังวลความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกและปิดรับความเสี่ยง (Risk off) ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และค่าเงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทอ่อนค่าลง

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

“พิชัย” ลุยญี่ปุ่น ถกหอการค้า-อุตสาหกรรมญี่ปุ่น 

“พิชัย” ลุยญี่ปุ่น ถกหอการค้า-อุตสาหกรรมญี่ปุ่น และนักลงทุนยักษ์ใหญ่ ชวนขยายการลงทุนไทยพร้อมให้คำมั่น พาณิชย์ พร้อมอำนวยความสะดวกเต็มที่

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คว้ารางวัล Sustainability Rising Star

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คว้ารางวัล Sustainability Rising Star เน้นย้ำความเป็นผู้นำ และความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

มูลนิธิกรุงศรี สนับสนุนรถวีลแชร์แก่มูลนิธิคนพิการไทย

มูลนิธิกรุงศรีสนับสนุนรถวีลแชร์แก่มูลนิธิคนพิการไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 8

Krungthai Private Banking จัดเอ็กซ์คลูซีฟ

Krungthai Private Banking จัดเอ็กซ์คลูซีฟ กาล่าดินเนอร์ “The Endless Legacy” ส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น อย่างไม่สิ้นสุด”