เปิดผลงานเด่น “เอกนัฏ” ปี 67

Date:

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลงานกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ในรอบปี 2567 ที่ผ่านมาแบ่งออกเป็น 5 เรื่องสำคัญ คือ 1) ปลดล็อก “โซลารูฟท็อป” ไม่ต้องขอนุญาตโรงงาน 2) ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา 3) เซฟยานยนต์ไทย 4) จัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ 525 ล้านบาท ดูแลชุมชนรอบเหมือง 5) เติมเงินทุน SME ฮาลาล เติมแรงกระตุ้นภาคอุตฯ พร้อมชูแผนงาน พร้อมชูการดำเนินงานในปี 2568 เดินเครื่องเต็มกำลังผ่าน 4 เรื่อง คือ 1) สั่งโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศหยุดรับอ้อย 7 วัน ช่วงปีใหม่ และมาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“ เป็นครั้งแรก 2) ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม 3) ใช้ AI ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 4) แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ 

สำหรับผลงานเรื่องแรก : ปลดล็อก “โซลารูฟท็อป” ไม่ต้องขอนุญาตโรงงาน โดยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ครม. มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ … (พ.ศ. …) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ยกเว้นให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลารูฟท็อปทุกกำลังการผลิต ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานและไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ซึ่งการปลดล็อกจะช่วยอำนวยความสะดวก ลดความยุ่งยาก และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอกชนรายย่อยให้สามารถเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าสะอาดจากพลังแสงอาทิตย์ได้แล้ว ยังจะกลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะตอบสนองต่อเทรนด์การค้าโลกในอนาคตและช่วยดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ (FDI) ให้เพิ่มมากขึ้น

เรื่องที่สอง : ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา แจ้งมาจับจริง ไม่กลัวอิทธิพล ปราบโรงงานไร้ความรับผิดชอบ กากของเสีย สินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดย อก. ได้บูรณาการกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เปิด “ปฏิบัติการตรวจสุดซอย”ต่อเนื่อง ปูพรมตรวจกำกับดูแลโรงงานกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่เฝ้าระวัง ที่มีกว่า 218 ราย โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม หรือโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น ที่มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยได้เดินหน้าตรวจตั้งแต่ พ.ย. – ธ.ค. 67 กว่า 13 จังหวัด อาทิ 1) โรงงานในเขตฟรีโซนลอบเปิดกิจการ จ.ฉะเชิงเทรา 2) โรงงานผิดกฎหมายเถื่อน จ.ปราจีนบุรี 3) โรงงานลอบเปิดกิจการ จ.ปราจีนบุรี 4) โรงงานสายไฟไม่ได้มาตรฐาน จ.สมุทรสาคร 5) จับสินค้าไร้ มอก. จ.สมุทรปราการ 6) โรงงานลักลอบฝังกลบโลหะหนัก จ.ลพบุรี 7) โรงงานเหล็กเส้นไม่ได้มาตรฐาน จ.ชลบุรี 8) สั่งหยุดโรงงานไฟไหม้ จ.ระยอง 9) โรงงานผลิตสายไฟไม่ตรงมาตรฐาน จ.อยุธยา 10) โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผา จ.ลพบุรี 11) โรงงานน้ำตาลค่ามลพิษทางอากาศ จ.ชัยภูมิ, มุกดาหาร และกาฬสินธุ์   และยังได้ปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานทั้งระบบ โดยใช้แนวคิด “เพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการที่ดี” โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ดีในทุกช่องทาง ควบคู่ไปกับการขึ้นบัญชี Blacklist ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดีหรือมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อยกระดับการตรวจสอบ กำกับดูแล และติดตามโรงงานกลุ่มดังกล่าวอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันที่ต้นเหตุ สู้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชน สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย “สู้ เซฟ สร้าง” ปฏิรูปการกำกับโรงงานทั้งระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ

เรื่องที่สาม : เซฟยานยนต์ไทย จากสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ญี่ปุ่น อก. ให้ความสำคัญกับการฟื้นความเชื่อมั่น จึงได้เดินทางโรดโชว์คุยระดับทวิภาคีกับ 6 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในญี่ปุ่น และได้รับสัญญานบวกในการรักษาฐานการผลิตยานยนต์ในไทยและการลงทุนเพิ่ม ต่อยอด ด้วยเม็ดเงินกว่า 1.2 แสนล้าน และยืนยันสนับสนุนมาตรการส่งเสริมที่เป็นธรรมทั้งทางภาษี และสิทธิประโยชน์ทั้งค่ายรถยนต์สันดาป ICE รถยนต์ไฟฟ้า EV และ XEV พร้อมส่งเสริมให้ใช้ Part Localization ชิ้นส่วนสำคัญให้ผลิตในไทย เพื่อรักษา Supplier และแรงงานคนไทยในระบบ กว่า 4.45 แสนคน ให้มีงานมีรายได้ต่อไป ซึ่งเป็นวาระสำคัญ จึงมั่นใจได้ว่าตลาดรถยนต์ในประเทศในปีหน้า 2568 จะมีการฟื้นตัวอย่างมีสมดุลยภาพขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหาร ได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี และยืนยันว่าโตโยต้าจะรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในไทยและจะนำเม็ดเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุน เพื่ออัปเกรดสายการผลิตไปสู่รถไฮบริด ซึ่งจากเดิมที่เป็นฐานการผลิตของเครื่องยนต์สันดาปภายใน จะมีเพิ่มเติมในชิ้นส่วนไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ เกียร์ มีการลงทุนเพิ่มซึ่งมีการจ้างงาน ส่งต่อถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการวิจัยและพัฒนาบุคลากรให้มีการเดินหน้าต่อ และโตโยต้าฯ ยินดีร่วมมือกับรัฐบาลไทยส่งเสริมภาคการผลิต การส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง 

เรื่องที่สี่ : จัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ ที่ได้จากผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ที่ได้รับสิทธิในการสำรวจแร่หรือการทำเหมือง มูลค่ากว่า 525 ล้านบาท มอบให้ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ในละแวกพื้นที่การประกอบธุรกิจเหมืองแร่ จำนวน 187 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้นำไปดูแลชุมชนรอบเหมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เป็นที่ตั้งของแหล่งแร่ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด “เหมืองแร่เพื่อชุมชน” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรม สังคมและชุมชนให้เติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยกรมอุตสาหกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้จัดสรร “เงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ”  มูลค่ารวมกว่า 525 ล้านบาท ให้แก่   จ.สระบุรี 248 ล้านบาท จ.ลำปาง 41 ล้านบาท จ.นครราชสีมา 19 ล้านบาท จ.สุพรรณบุรี 19 ล้านบาท จ.ชลบุรี 16 ล้านบาท จ.นครศรีธรรมราช 14 ล้านบาท จ.ราชบุรี 11 ล้านบาท เป็นต้น  นอกจากนี้ในปี 2568 กพร. ยังมีแผนที่จะจัดสรรเงินกระจายสู่ชุมชนอื่นที่อยู่โดยรอบการประกอบกิจการเหมืองแร่เพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายจะสามารถจัดสรรเงินได้ปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเร่งให้ชุมชนได้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย กพร. มีแนวทางในการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องจากกิจการเหมืองแร่ รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งแร่ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการด้วยความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเหมืองแร่สีเขียว เพื่อมอบรางวัลให้กับเหมืองแร่ดีเด่นที่สามารถรักษามาตรฐานการประกอบการเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าด้วย

เรื่องที่ห้า : เติมเงินทุน SME ฮาลาล เติมแรงกระตุ้นภาคอุตฯ ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหาร การบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีรสชาติตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดมุสลิมที่มีประชากรจำนวนมาก มีแนวโน้มการบริโภคที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยต้องปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน ผ่านกระบวนการตรวจการรับรองฮาลาล รวมทั้งการบริการที่ต้องมีกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามและสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลตามมติคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ครั้งที่ 1/2567 ผ่านกิจกรรม “เรียนแล้ว รับรองได้ ลงทุนง่าย ขายส่งออกเป็น” ภายใต้แนวคิด สานพลังแหล่งเงินทุน รวมพลัง 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมไปถึงการพัฒนาและส่งเสริมการทดสอบและการรับรองมาตรฐานฮาลาล โดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศให้มีศักยภาพ สามารถเติบโต และแข่งขันสู่สากลได้อย่างยั่งยืน

โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนการดำเนินงานในปี 2568 ของ อก. เดินหน้า 4 เรื่อง คือ เรื่องแรก : สั่งโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศหยุดรับอ้อย 7 วัน ช่วงปีใหม่ และ มาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“เป็นครั้งแรก อก.ได้ออกคำสั่งให้โรงงานนํ้าตาล 57 โรง ทั่วประเทศ หยุดรับอ้อย 7 วัน ตั้งแต่เมื่อวานนี้ 27 ธ.ค. 2567 จนถึงวันที่ 2 ม.ค.2568 เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกท่านได้เที่ยวพักผ่อนในช่วงเทศกาลปีใหม่ แบบไร้ฝุ่นควันที่เกิดจากการลักลอบเผาอ้อย และงดการบรรทุกขนส่งอ้อยบนท้องถนน เพื่อการสัญจรอย่างปลอดภัย เพื่อช่วยส่งคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ทุกท่านเป็นของขวัญในช่วงปีใหม่ รวมถึงมาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“เป็นครั้งแรก โดยเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อยในอัตรา 300 บาทต่อตันใบและยอดอ้อย หรือเท่ากับ 51 บาทต่อตันอ้อย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะช่วยลดการเผาอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดสาเหตการเกิดฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน และเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับผลผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่

เรื่องที่สอง : ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม อก. กำหนดนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่” ผ่านมาตรการสำคัญในการจัดการกากอุตสาหกรรม น้ำเสีย อากาศที่เป็นพิษเกิดจากการประกอบการอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อประชาชน การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME รวมทั้งสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นปรับปรุงกฎหมายทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงฯ และได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม” ในระยะเริ่มแรกได้ยกร่างกฎหมายเพื่อการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นการเฉพาะ รวมทั้งจัดตั้งและรวบรวมกองทุนใน อก. ให้อยู่ในกฎหมายดังกล่าว เพื่อรองรับภารกิจที่เกิดขึ้นใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพของภารกิจที่มีอยู่เดิม ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ….” ซึ่งมีเนื้อหาในการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ครอบคลุมกากอุตสาหกรรมจากสถานประกอบการอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากรถยนต์ โดยได้นำสภาพปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม   ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มาถอดบทเรียนและพัฒนากลไกใหม่ๆ เพื่อให้ระบบจัดการกับผู้ประกอบกิจการที่กระทำผิดกฎหมาย ไม่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมและประชาชน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนที่ชื่อว่า “กองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน” ในร่างกฎหมายมีวัตถุประสงค์ครอบคลุมทั้งการสนับสนุนและเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เป็นแหล่งเงินทุน การร่วมทุนกับวิสาหกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ แก้ไขปัญหาเยียวยา ชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรม รองรับภารกิจในการแก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ การสร้างแต้มต่อทางเศรษฐกิจให้กับภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย สนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและการปรับปรุงเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ จำเป็นต้องย้ายพื้นที่ไปประกอบการในบริเวณที่เหมาะสม ทั้งนี้การปรับปรุงทุกองคาพยพของภาคอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งเน้นการสร้างให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง โดยปัจจุบันการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการจัดทำกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเมื่อร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว จะสามารถเป็นเครื่องมือที่จะจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติงานทั้งหมดจะนำไปสู่การปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติอุตสาหกรรม พ.ศ… ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในปี 2568 อก. จะได้นำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ ครม.พิจารณาและนำเสนอรัฐสภาเพื่อให้มีผลใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

เรื่องที่สาม : ใช้ AI ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จากสถานการณ์การทะลักเข้ามาของสินค้าข้ามชาติราคาถูก แต่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เป็นอันตรายกับประชาชนผู้ใช้งาน กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ตั้ง “คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม (INDX)” โดยมีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการฯ โดยผลการศึกษาพบว่า ระบบ AI: Artificial Intelligence จะสามารถเพิ่มการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นโดยประมาณการที่ 100,000 รายการ/วัน จากเดิมใช้กำลังคนตรวจที่ 1,600 รายการ/วัน โดยผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนอย่างสายไฟ-ปลั๊กพ่วง และหมวกกันน๊อคไม่ได้มาตรฐานจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เร่งให้ความสำคัญก่อน ความคืบหน้าของการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ได้มีแนวทางวิธีการดำเนินการของ สำนักวานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในการตรวจจับ ใช้ “คน” ในการตรวจสอบการกระทำความผิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และมีเสนอแนะเพิ่มเติมให้ใช้ “AI” ในการตรวจจับ Keyword (ชื่อ/รีวิว) ภาพลักษณะของผลิตภัณฑ์ (ต้นแบบ) ตรวจสอบกับฐานข้อมูล ผู้รับใบอนุญาต / มาตรฐาน มอก. / พิจารณาขอบข่ายเบื้อง ส่วนด้านกฎหมายใช้ “คน” ในการตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดี นอกจากนี้ยังได้เตรียมวางแนวทางการนำเทคโนโลยี AI มาตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 

เรื่องที่สี่ : แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ โดยความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม แพลตฟอร์มกระทรวงอุตสาหกรรมที่ผสานเทคโนโลยี TRAFFY FONDUE นี้ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเรื่องร้องเรียนจากประชาชน หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ รวมถึงติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตประทานบัตร และการขอสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SME โดยมีการแบ่งการใช้งานให้เหมาะสมกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้ 1) สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและภาคธุรกิจ พร้อมทั้งติดตามสถานะคำขอต่าง ๆ 2) กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเน้นการตรวจสอบและอนุมัติคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงติดตามคำร้องที่ยื่นผ่านระบบ 3) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะดูแลการขอรับสินเชื่อและการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้านอุตสาหกรรม 4) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะรับผิดชอบการตรวจสอบและติดตามการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้แพลตฟอร์มดังกล่าวมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ ระบบ Dashboard ซึ่งสามารถแสดงสถานะข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ทั้งในภาพรวมระดับกระทรวงและแยกย่อยไปยังแต่ละหน่วยงาน ช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถติดตามสถานะคำร้องหรือบริการที่ต้องการได้อย่างโปร่งใส สะดวก และรวดเร็ว และระบบยังรองรับการจัดการข้อมูลแบบครบวงจร ช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมผลักดันการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

รัฐบาลแจกเงิน คือ รัฐบาลปัญญาอ่อน

“เทพไท เสนพงศ์” ชี้ รัฐบาลแจกเงิน คือ รัฐบาลปัญญาอ่อน

ชวน เตือน ทักษิณ “จะไม่มีแผ่นดินอยู่” อีกครั้งมั้ย?

“เทพไท เสนพงศ์” ชี้ ชวน เตือน ทักษิณ“จะไม่มีแผ่นดินอยู่” อีกครั้งมั้ย?

การท่องเที่ยวที่รัฐบาลเอาแต่ได้ แต่ไม่ใส่ใจทำให้ดีจริง

อดีต รมว.คลัง ซัดรัฐบาลบริหารเศรษฐกิจกระตุ้นท่องเที่ยวแบบ “การท่องเที่ยวที่รัฐบาลเอาแต่ได้ แต่ไม่ใส่ใจทำให้ดีจริง”

ทักษิณคนเดิมกลับมาแล้ว

“เทพไท เสนพงศ์” ชี้ ทักษิณคนเดิมกลับมาแล้ว