ราคาข้าวไทยตกต่ำ ปัญหาเรื้อรังที่รัฐบาลต้องแแก้จริงจัง

Date:

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองผลผลิตข้าวที่ออกมามากในปี 2567 ที่ผ่านมาบนความต้องการบริโภคในประเทศที่ทรงตัวและการส่งออกที่ชะลอตัว จะกดดันราคาข้าวตกต่ำส่งผลให้ชาวนาไทยอาจประสบภาวะขาดทุนอีกครั้ง วอนภาครัฐเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่แก้เพื่อปล่อยผ่านและปัญหาจะวนมาอย่างที่เคยเป็นในอดีต

ปี 2568 นับเป็นปีที่ชาวนาไทยเผชิญแรงกดดันอย่างหนักหน่วงอีกครั้งจากภาวะที่ราคารับซื้อข้าวปรับลดลงจากแรงกดดันของผลผลิตข้าวในปี 2567 ที่ผ่านมาสูงขึ้นถึง 34 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ราว 2 ล้านตันข้าวเปลือก ในขณะที่การเป็นที่ยอมรับด้านการบริโภคข้าวของคนไทยมีข้อจำกัดในการขยายตัวตามปริมาณการบริโภคต่อวันที่

อย่างไรก็ตามคนในประเทศก็มักบริโภคอาหารที่ 3 มื้อ ซึ่งหากมองตามกลไกราคาแล้วผลผลิตที่เพิ่มขึ้นบนความต้องการบริโภคที่ทรงตัวย่อมสร้างแรงกดดันให้ราคามีทิศทางที่ปรับลด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลผลิตข้าวนาปรังที่มีการเก็บเกี่ยวในช่วงไตรมาสที่ 4 มากกว่า 80% เมื่อเจอแรงกดดันของการบริโภคที่ค่อนข้างคงที่และไม่มีผลของฤดูกาล กอปรกับผลผลิตส่วนเกินไม่สามารถระบายออกไปตลาดโลกได้ง่ายจากราคาข้าวไทยที่สูงกว่าประเทศผู้ส่งออกโดยเปรียบเทียบ

รวมถึงแรงกดดันจากการที่อินเดียเริ่มกลับมาส่งออก ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 3 เดือนล่าสุด (พฤศจิกายน 2567 – มกราคม 2568) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 0.59 ล้านตัน สร้างแรงกดให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่มีความชื้น 15% รับซื้อ ณ ที่นา ณ สิ้นเดือนมกราคม ปรับลดลงเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ไปแล้วกว่าตันละ 1,400 บาท หรือลดลงแล้วกว่า 13% บนสถานการณ์รุนแรงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังเริ่มเข้ามาสร้างแรงกดดันจากภาวะที่ผลผลิตล้นกว่าความต้องการเพิ่มเติม ส่งผลให้ราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้าที่มีความชื้น 15% ปรับลดลงจนเหลือที่ราคาราว 8,000 – 8,800 บาทต่อตัน  หรือปรับลดลงจากราคา ณ สิ้นไตรมาส 3 แล้วกว่า 17.0% – 24.5% (ลดลง 1,800 – 2,600 บาท ต่อตัน)  

ภาวะการณ์ที่ราคาข้าวปรับลดลงจากราว 1.8 – 2.6 บาทต่อกิโลกรัม แม้อาจดูไม่มากแต่หากมองย้อนไปยังสถานการณ์ที่บีบรัดของชาวนาที่ทาง ttb analytics ได้ทำการประเมินต้นทุนการเพาะปลูกในปี 2567 พบว่า ต้นทุนข้าวเปลือกตกอยู่ที่ราว 7,800 – 8,900 บาทต่อตัน (ในกรณีที่เกษตรกรมีต้นทุนค่าเช่านาและเครื่องจักรกลทางการเกษตร) ซึ่งบนสถานการณ์ราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้าที่มีความชื้น 15% ที่ 8,000 – 8,800 บาทต่อตัน และคาดว่าสถานการณ์ในเดือนมีนาคมอาจรุนแรงมากกว่านี้จากผลผลิตข้าวนาปรังที่จะเข้ามาเติมแรงกดดันราคาข้าว ส่งผลให้ชาวนาไทยในปี 2568 มีแนวโน้มเผชิญภาวะขาดทุนที่สูง

ดังนั้น ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ภาครัฐควรเตรียมออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวนาไทย โดยในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านราคาข้าวนาปรังปีการผลิต 2568 จากมติของ คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1.โครงการชะลอและเก็บข้าว เพื่อช่วยลดปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดในช่วงเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ราคาข้าวเปลือกทรงตัวได้ดีขึ้น 2.โครงการชดเชยดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการที่เก็บสต๊อก โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือดอกเบี้ยในอัตรา 6% แก่ผู้ประกอบการที่เก็บสต๊อกข้าวในช่วง 2-6 เดือน 3.โครงการเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก โดยรัฐจะสนับสนุนค่าบริหารจัดการ 500 บาทต่อตัน เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีช่องทางจำหน่ายผลผลิตในราคาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ttb analytics มองมาตรการดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเป็นเพียงการชะลอราคาไม่ให้ลดลงราคาข้าวอย่างรวดเร็วจากภาวะผลผลิตที่เกินความต้องการ โดยปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงจะต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงที่มีผลผลิตข้าวสูง ซึ่งจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทางภาครัฐควรหามาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีก ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกันแก้ปัญหาตั้งแต่ภาครัฐไปถึงชาวนา ดังต่อไปนี้

1 ภาครัฐควรจัดตั้งกองทุนเพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูก เช่น เพื่อลดค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าพันธุ์ข้าว รวมถึงจัดหาสินค้าราคาต้นทุนให้เกษตรกรเช่าใช้ในราคาที่ต่ำลง เช่น เครื่องจักรกลทางการเกษตร หรือสินค้าราคาต้นทุนที่ใช้ในการแปรรูปสินค้า เช่น โรงสีชุมชน ที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรแปรรูปสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบให้กลายเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่สามารถตอบสนองความต้องการการบริโภคของภาคครัวเรือนได้โดยตรง หรืออาจเข้าเป็นตัวกลางในการรับซื้อเพื่อลดอำนาจผูกขาดผู้ประกอบการที่อาจกดราคาช่วงผลผลิตเยอะเนื่องจากชาวนาไม่มีที่เก็บผลผลิต และนำข้าวมาแปรรูปเพื่อให้ประชาชนในราคาที่ไม่ได้บวกจากต้นทุนมากนักซึ่งสามารถช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง

2 ภาครัฐควรให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีแก่เกษตรกรเพิ่มเติม เพื่อให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการเพาะปลูกมากขึ้น เช่น การทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้มากขึ้นผ่านระบบที่มีความแม่นยำสูง (Precision Agriculture) จะทำให้สามารถช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย ลดปริมาณการใช้ยาปราบศัตรูพืชได้ เนื่องจากตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ที่ชี้ว่าผลผลิตข้าวเฉลี่ยของไทยต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น อินเดีย เวียดนาม และจีน ถึง 13%, 48% และ 52% ตามลำดับ รวมถึงการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ย 7% ลดการใช้น้ำได้ 4% และลดการใช้ยาฆ่าแมลงได้ 9% รวมถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เพื่อปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในการเพาะปลูก

3 ภาครัฐควรบูรณการกับภาคเอกชนเพื่อช่วยพัฒนาสินค้าแปรรูปจากข้าว เนื่องจากปัจจุบันข้าวไทยส่วนใหญ่ใช้บริโภคในมื้ออาหารหลัก ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคในประเทศแต่ละปีไม่สามารถเพิ่มได้มากนัก และย่อมเกิดปัญหาในทุก ๆ ครั้งเมื่อผลผลิตข้าวที่ได้เยอะกว่าที่ต้องการ ดังนั้น การเน้นด้านงานวิจัยและพัฒนาอาหาร (Research and Development) จึงเป็นการต่อยอดให้เกิดการบริโภคเพิ่มเติมลดข้อจำกัดที่ข้าวจะถูกใช้บริโภคเพียงในมื้ออาหารได้

4 ชาวนาควรเร่งพัฒนาตนเองและเปิดรับเทคโนโลยีการเพาะปลูกใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพ และต้องพัฒนาตนเป็นผู้ประกอบการที่เชื่อว่าการทำการเกษตร คือ การทำธุรกิจที่อาจประสบภาวะขาดทุน จึงอาจไม่ใช่เรื่องที่ภาครัฐต้องมีงบประมาณช่วยเหลือทุกครั้งที่มีปัญหา ซึ่งหากชาวนาตระหนักถึงความเป็นผู้ประกอบการ การวางแผนการเพาะปลูกอาจช่วยลดภาวะการขาดทุน เช่น การหันไปจับตลาดเฉพาะกลุ่มในบางโอกาสที่คาดการณ์ว่าอุปทานส่วนเกิน เช่น การหันมาเพาะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ตอบโจทย์กระแสคนรักสุขภาพในปัจจุบัน และมีราคาขายข้าวเปลือกสูงกว่าข้าวทั่วไปที่ประมาณ 20-50% ก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

    กล่าวโดยสรุป ปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำของชาวนาไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เผชิญในทุกยุคสมัย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การแก้ไขแต่ละครั้งเป็นเหมือนยาแก้ปวดที่บรรเทาอาการเจ็บได้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งในสถานการณ์ปี 2568 นี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สถานการณ์หลายด้านสุมแรงกดดันกับชาวนาอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นที่หวังว่าวิกฤตครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จริงใจและร่วมรับผิดชอบ เพื่อให้ปัญหาที่เกิดกับชาวนาลดหายไปได้ในระยะยาว

    Share post:

    spot_img
    spot_img

    Related articles

    นายกฯ เข้าทำงาน รมว.วัฒนธรรม พรุ่งนี้วันแรก

    นายกฯ ร่วมถก ครม.นัดพิเศษ เข้านั่งทำงานรมว.วัฒนธรรม พรุ่งนี้วันแรก มอบนโยบายประชุมผู้บริหารทันที

    ธนาคารโลก หั่นจีดีพีไทยเหลือ 1.8%

    ธนาคารโลก หั่นจีดีพีไทยเหลือ 1.8% จับตาพิจารณางบประมาณปี 69 หากล่าช้า กระทบเศรษฐกิจได้

    กบข. จัด Thailand Global Investment Workshop 2025

    กบข. ร่วมกับ Institutional Investor จัด Thailand Global Investment Workshop 2025

    ออมสิน “เปิดขั้นตอน! สมัคร ‘สินเชื่อสร้างเครดิต สร้างโอกาส’

    ออมสิน "เปิดขั้นตอน! สมัคร ‘สินเชื่อสร้างเครดิต สร้างโอกาส’ พร้อมให้คุณเริ่มต้นสร้างเครดิตอย่างมั่นใจ กู้ได้เลยบนมือถือผ่าน MyMo