ส่องผลกระทบสินค้าเกษตรไทย จากพิษสหรัฐขึ้นภาษี

Date:

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า สนค. มีการติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศในยุคทรัมป์ 2.0 

จากการที่สหรัฐฯ มีนโยบายเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นจากสินค้านำเข้า รวมถึงยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีขั้นต่ำ (De Minimis) ต่อสินค้าจีน และจีนตอบโต้กลับโดยปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงเช่นเดียวกันนั้น จะส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ข้อมูล Trademap.org ในปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าเกษตร (HS 01-24) ไปยังสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 4,759.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ไทยส่งออกเป็นมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) อาหารสุนัขหรือแมว 

(2) ข้าว (3) ปลาทูน่าปรุงแต่ง (4) น้ำผลไม้หรือน้ำผักอื่น ๆ (5) อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ (6) ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส (7) กุ้งปรุงแต่ง (เช่น ลูกชิ้นกุ้ง) (8) กุ้งแช่แข็ง (9) ผลไม้ ลูกนัตปรุงแต่ง และ (10) สับปะรดปรุงแต่ง ตามลำดับ (ตารางที่ 1) 

สนค. วิเคราะห์ผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

1. สินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อยู่อันดับต้น ๆ จึงอาจได้รับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าเพื่อทดแทนสินค้าจีน (ตารางที่ 2) เช่น 

• อาหารสุนัขและแมว (HS 2309.10) สหรัฐฯ นำเข้าเป็นมูลค่า 2,215.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 มูลค่า 845.2 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่ง 38% ของมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ และนำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 3 มูลค่า 187.6 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่ง 8% 

• ข้าว (HS 1006.30) สหรัฐฯ นำเข้าเป็นมูลค่า 1,514.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 มูลค่า 843.0 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่ง 56% ของมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ และนำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 3 มูลค่า 56.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่ง 4% 

• ปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง (HS 1604.15) สหรัฐฯ นำเข้าเป็นมูลค่า 52.1 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 มูลค่า 16.3 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่ง 31% ของมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ และนำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 3 มูลค่า 5.7 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่ง 11% 

• เนื้อปลาลิ้นหมาแบบฟิลเล (HS 0304.83) สหรัฐฯ นำเข้าเป็นมูลค่า 94 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 1 มูลค่า 62.0 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่ง 66% ของมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 2 มูลค่า 9.4 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่ง 10%  

• หน่อไม้ปรุงแต่ง (HS 2005.91) สหรัฐฯ นำเข้าเป็นมูลค่า 28.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 1 มูลค่า 16.7 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่ง 59% ของมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 2 มูลค่า 4.9 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่ง 17%  

2. สินค้าที่ไทยมีโอกาส เป็นกลุ่มสินค้าที่จีนครองส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อันดับต้น ๆ ขณะที่ไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก ซึ่งหากได้รับการผลักดันและเสริมสร้างศักยภาพทางการผลิตและการตลาดเพิ่มขึ้น อาจทำให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น (ตารางที่ 3) เช่น 

• สินค้ากลุ่มพาสต้าอื่น ๆ อาทิ เส้นหมี่ วุ้นเส้น (HS 1902.30) สหรัฐฯ นำเข้าเป็นมูลค่า 592.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 3 มูลค่า 53.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่ง 9% และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 6 มูลค่า 33.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่ง 6% 

• ปลาหมึกแช่แข็ง (HS 0307.43) สหรัฐฯ นำเข้าเป็นมูลค่า 254.3 ล้านเหรียญสหรัฐ 

โดยนำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 2 มูลค่า 40.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่ง 16% และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 6 มูลค่า 22.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่ง 9% 

• ซอสถั่วเหลือง (HS 2103.10) สหรัฐฯ นำเข้าเป็นมูลค่า 142.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 1 มูลค่า 61.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่ง 43% และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 5 มูลค่า 13.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่ง 9%

• ปลาอื่น ๆ ปรุงแต่ง (เช่น ปลาฮอร์สแมคเคอเรล) (HS 1604.19) สหรัฐฯ นำเข้าเป็นมูลค่า 142.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 3 มูลค่า 12.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่ง 9% และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 4 มูลค่า 10.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่ง 8%

• พืชผักตระกูลถั่วอื่น ๆ แช่แข็ง (HS 0710.29) สหรัฐฯ นำเข้าเป็นมูลค่า 47.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 1 มูลค่า 17.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่ง 35% และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 5 มูลค่า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่ง 4%

การรักษาส่วนแบ่งตลาดของสินค้าเกษตรไทยในสหรัฐฯ ยังมีความท้าทาย เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ในอัตราสูงถึง 36% แม้การเก็บภาษีดังกล่าวจะถูกระงับไว้เป็นเวลา 90 วัน (นับตั้งแต่ 9 เมษายน 2568) นอกจากนี้ ไทยต้องเฝ้าระวังการสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดอื่นด้วย ในกรณีเมื่อจีนถูกตั้งกำแพงภาษีและไม่สามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้เช่นเดิม จึงอาจระบายสินค้าไปตลาดอื่นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันกับสินค้าจีนในตลาดนั้น ๆ สูงขึ้น

3. สินค้าที่ต้องเฝ้าระวังการเบี่ยงเบนทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่จีนมีศักยภาพและไทยก็ปลูกได้เอง แต่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศและบางครั้งจำเป็นต้องนำเข้า ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ ผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางกลุ่มอาจได้รับประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้สำหรับแปรรูปในราคาถูกลง (ตารางที่ 4) เช่น

• กระเทียมสดหรือแช่เย็น (HS 0703.20) จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ส่งออกเป็นปริมาณ 2.35 ล้านตัน และสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 7 ของจีน (จีนส่งออกไปสหรัฐฯ 62,739 ตัน) สำหรับไทย ในปีเพาะปลูก 2566/67 มีผลผลิตกระเทียมอยู่ที่ 53,714 ตัน ขณะที่มีปริมาณการใช้ในประเทศ 106,926 ตัน ไทยจึงเป็นผู้นำเข้าสุทธิ โดยในปี 2567 ไทยนำเข้ากระเทียม 23.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณ 47,352 ตัน 

(และไทยส่งออก 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณ 856 ตัน) โดยนำเข้าจากจีนเกือบทั้งหมด สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน จึงอาจส่งผลให้กระเทียมจากจีนเข้ามาไทยมากขึ้น 

• พืชผักอื่น ๆ ที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย (HS 2005.99) จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ส่งออกเป็นปริมาณ 840,754 ตัน และสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของจีน (จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ 84,147 ตัน) สำหรับไทย สินค้ากลุ่มนี้ไทยเป็นผู้ส่งออกสุทธิ ในปี 2567 ไทยส่งออกและนำเข้าเป็นมูลค่า 76.4 และ 8.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ขณะที่จีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 สินค้ากลุ่มนี้จึงมีโอกาสนำเข้ามากขึ้นเพื่อแปรรูปและส่งออก

• พริกแห้ง หรือพริกไทยเทศแห้งทั้งเม็ด (HS 0904.21) จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย (ขณะเดียวกันจีนเป็นผู้นำเข้าอันดับ 1 ของโลก) จีนส่งออกเป็นปริมาณ 85,103 ตัน ซึ่งไทยและสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 และ 4 ของจีน มีปริมาณ 15,366 และ 6,164 ตัน ตามลำดับ สินค้ากลุ่มนี้ไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิ ในปี 2567 ไทยส่งออกและนำเข้าเป็นมูลค่า 4.0 และ 201.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ส่งออกและนำเข้าเป็นปริมาณ 893 และ 86,006 ตัน) ตามลำดับ ซึ่งปัจจุบัน ไทยนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากอินเดียมากที่สุด แต่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน อาจส่งผลให้ไทยมีการนำเข้าจากจีนเพิ่มมากขึ้น

• ชาเขียวอื่น ๆ ไม่หมัก (HS 0902.20) จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ส่งออกเป็นปริมาณ 202,641 ตัน สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 6 ของจีน (จีนส่งออกไปสหรัฐฯ 4,583 ตัน) และจีนเป็นแหล่งนำเข้าชาเขียวที่สำคัญของสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 (รองจากญี่ปุ่น) สำหรับไทย สินค้ากลุ่มนี้ไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิ ในปี 2567 ไทยส่งออกและนำเข้าเป็นมูลค่า 2.6 และ 7.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ส่งออกและนำเข้าเป็นปริมาณ 456 และ 6,301 ตัน) ตามลำดับ ซึ่งปัจจุบัน ในเชิงมูลค่าไทยนำเข้าชาเขียวจากญี่ปุ่นมากที่สุด แต่ในเชิงปริมาณไทยนำเข้าจากจีนมากที่สุด ซึ่งสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน อาจส่งผลให้สินค้ากลุ่มนี้จากจีนเข้ามาไทยมากขึ้น

• หอมหัวใหญ่แห้งหรือผง (HS 0712.20) จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 4 ของโลก (รองจากอินเดีย สหรัฐฯ และอียิปต์) จีนส่งออกเป็นปริมาณ 15,064 ตัน ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของจีน (จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ 2,363 ตัน) สำหรับไทย สินค้ากลุ่มนี้ไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิ ในปี 2567 ไทยส่งออกและนำเข้าเป็นมูลค่า 0.9 และ 6.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ส่งออกและนำเข้าเป็นปริมาณ 810 และ 1,652 ตัน) ตามลำดับ 

ซึ่งปัจจุบัน ไทยนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากสหรัฐฯ มากที่สุด (942 ตัน) รองลงมา คือ จีน (485 ตัน) ซึ่งสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน อาจส่งผลให้สินค้ากลุ่มนี้จากจีนเข้ามาไทยมากขึ้น

นายพูนพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า อัตราภาษีระหว่างสหรัฐฯ-จีน ยังคงมีความไม่แน่นอน รวมถึงอัตราภาษีระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ด้วย ซึ่ง สนค. ยังคงติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าและมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ 2.0 อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าไทย นอกจากนี้ หน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ มีการวางแผนดำเนินการ

ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ ป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้า กำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเกษตร

อย่างใกล้ชิดให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับด้านคุณภาพและมาตรฐาน เฝ้าระวังผลกระทบต่อสินค้าเกษตรภายในประเทศเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิตภายในประเทศ บังคับใช้กฎระเบียบด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้า เร่งแก้ไขประเด็นที่คาดว่าสหรัฐฯ อาจนำมาใช้อ้างเป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้า เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีและกระจายตลาดส่งออก ตลอดจนรักษาสมดุลความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ พร้อมทั้งพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันในทางการค้า เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

‘อิ๊งค์’ หน้าซีดไข้กลับ

‘อิ๊งค์’ หน้าซีดไข้กลับ ระหว่างมอบ เรียกทีมพยาบาลตรวจด่วน บอก ‘ยังไหวค่ะ’

ธนาคารกรุงเทพ กระตุ้นผู้ประกอบการไทยลุยเศรษฐกิจสีเขียว

ธนาคารกรุงเทพ ชวนผู้บริหารชั้นนำร่วมกระตุ้นผู้ประกอบการไทยลุยเศรษฐกิจสีเขียว-คาร์บอนต่ำ เตือนใครช้าเสี่ยงหลุดเกม

LH Bank เปิดให้บริการ “สาขาอมตะซิตี้ ชลบุรี”

LH Bank เปิดให้บริการ “สาขาอมตะซิตี้ ชลบุรี” Business Branch ตอบโจทย์ธุรกิจแบบครบวงจร หนุนการเติบโตของกลุ่มลูกค้าในเขตเศรษฐกิจ EEC

TISCO ESU วิเคราะห์นโยบาย 100 วัน “ทรัมป์” 

TISCO ESU วิเคราะห์นโยบาย 100 วัน “ทรัมป์” ชี้ “NATO-IMF-ภาษี-ดอลลาร์” 4 เสาหลักพลิกโฉมเศรษฐกิจโลก