ttb analytics ชี้ตลาดโซลาร์รูฟท็อป เติบโตก้าวกระโดด

Date:

ภายหลังจากมติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เพิ่มขึ้นอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยในงวดเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม 2565 ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558 โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า อัตราค่าไฟฟ้าโดยรวมของไทยในปี 2566 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึง 5 บาทต่อหน่วย โดยสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริงที่เพิ่มสูงขึ้นมาก แนะผู้ประกอบการหันมาทำธุรกิจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs หลังค่าไฟยังมีแนวโน้มพุ่งสูงต่อเนื่องและระยะเวลาคืนทุนเร็วขึ้น ส่งผลให้ตลาดโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ในประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละ 22% หรือแตะระดับ 6.7 หมื่นล้านบาทในปี 2568

ไทยต้องพึ่งแหล่งพลังงานจากต่างชาติทดแทนกำลังการผลิตในประเทศที่ลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้

ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและเมียนมามีแนวโน้มลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของไทยทั้งหมดมาจากหลายแหล่ง (Electricity Mix) ซึ่ง 56.2% มาจากก๊าซธรรมชาติ (ส่วนใหญ่มาจากอ่าวไทยและเมียนมา) และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนอีกราว 43.8% มาจากพลังงานรูปแบบอื่น ๆ (พลังงานหมุนเวียนและนำเข้าจากต่างประเทศ) อย่างไรก็ดี ก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกที่ผลิตจากอ่าวไทยกลับทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องและลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ จากเดิมที่สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 70% ในปี 2560 ลดลงเป็น 60% ในปี 2565 และมีแนวโน้มลดลงเหลือต่ำกว่า 40% ในปี 2575 ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 0.7% ส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มเติมจากที่มีในสัญญาเพื่อรองรับความต้องการในการใช้งานในประเทศ ทำให้อีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างประเทศเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

นอกจากนี้ ราคาอ้างอิงก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำเข้าจากต่างประเทศก็มีความผันผวนสูงและอ่อนไหวต่อสถานการณ์โลก เห็นได้ชัดจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยล่าสุดราคาก๊าซธรรมชาติ (Dutch TTF) ในตลาดยุโรปปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 280 ยูโรต่อเมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 350% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 อีกทั้งอัตราค่าเงินบาทที่ผันผวนไปในทิศทางอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติอ้างอิงสูงขึ้นมาก ซึ่งแม้ว่าปัจจุบัน เอกชนหลายรายจะมีใบอนุญาตการเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวที่ต่ำกว่าโควตาจากต้นทุนการจัดเก็บก๊าซธรรมชาติที่ค่อนข้างสูง

เศรษฐกิจฟื้น-ยกเลิกมาตรการช่วยเหลือ ดันค่าไฟฟ้าปี 2566 แตะ 5 บาทต่อหน่วย

ภายหลังจากเศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ภาครัฐจึงเริ่มถอนคันเร่งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพต่าง ๆ ซึ่งก็รวมถึงการทยอยปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ส่งผลให้นับตั้งแต่ต้นปี 2565 อัตราค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและปรับเพิ่มที่ระดับ 3.79 บาทต่อหน่วยในงวดเดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม ล่าสุดจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วยในงวดเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม และมีความเป็นไปได้สูงที่ค่าไฟฟ้าจะแตะที่ 5 บาทต่อหน่วยในปี 2566 ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2564

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องราคาค่าไฟที่ปรับขึ้นแล้ว ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน โดยเฉพาะกระแสการทำงานแบบไฮบริด (Hybrid) หรือ รูปแบบการทำงานในออฟฟิศสลับ กับ Work From Home หรือ จากที่ไหนก็ได้ ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยทำให้ต้องใช้ชีวิตที่บ้านพักอาศัยในแต่ละวันมากกว่าที่ผ่านมา

คนไทยสนใจติดโซลาร์รูฟท็อป เพิ่มขึ้น 4 เท่า หลังค่าไฟฟ้าแพง หนุนคืนทุนเร็วขึ้น

แน่นอนว่า หากประชาชนต้องการควบคุมค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน หรือ เลือกใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เช่น “พลังงานแสงอาทิตย์” ก็อาจตอบโจทย์สำหรับการลงทุนในยุคค่าไฟขาขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบอื่น เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กลับเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในภาคประชาชน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีสะอาด ไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศและเสียงที่อาจก่อให้เกิดการรบกวนรอบข้าง ตลอดจนระยะเวลาการติดตั้งเพียง 2-3 วันเท่านั้น (สำหรับการติดตั้ง 5 kWh) ส่งผลให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อให้เกิดพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคาร (Solar Rooftop) มากขึ้น สะท้อนจากคำค้นหาเกี่ยวกับ “ติดตั้งโซลาร์เซลล์” ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 นี้ ที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

ttb analytics ประเมินมูลค่าตลาดโซลาร์รูฟท็อปในไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 22% นับตั้งแต่ปี 2565-2568 หรือแตะที่ระดับ 6.7 หมื่นล้านบาท จากค่าแผงโซลาร์เซลล์และค่าติดตั้งที่ปรับลดลงจนทำให้ระยะเวลาคืนทุนเร็วขึ้นจากเดิมที่คืนทุนในเวลา 9-12 ปี เป็น 6-8 ปีในปัจจุบัน (ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน) ทั้งนี้ ค่าอุปกรณ์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีการปรับลดลงมากในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จาก 100 บาทต่อวัตต์ในปี 2558 เป็น 40-50 บาทต่อวัตต์ในปี 2565 และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า โดยการผลิตแผงโซลาร์เซลล์และอินเวอร์เตอร์จำนวนมากจะประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) ของบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน อีกทั้งทิศทางอัตราค่าไฟฟ้าที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ยิ่งทำให้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีอัตราคืนทุนเร็วขึ้น

นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบโซลาร์รูฟท็อป ยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐผ่านการรับซื้อไฟฟ้าตามมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in Tariff: FiT) ตั้งแต่ปี 2556 (โดยปัจจุบันอัตรารับซื้ออยู่ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี) ทำให้การผลิตไฟฟ้าประเภทนี้ยิ่งเป็นที่รู้จักในภาคประชาชนที่นอกจากจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้ทางเลือกของครัวเรือนอีกทางหนึ่ง

ชี้ตลาดโซลาร์รูฟท็อป เติบโตก้าวกระโดด แนะผู้ประกอบการหันมาลงทุนตลาดติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ในภาคครัวเรือนและ SMEs

ประเทศไทยค่อนข้างได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยไทยมีค่าเฉลี่ยความเข้มรังสีของแสงอาทิตย์สูงเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับสภาพอากาศในปัจจุบันที่แปรปรวนและร้อนอบอ้าว ส่งผลให้ไทยมีความพร้อมทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานที่จะช่วยดันให้ตลาดติดตั้งโซลาร์รููฟท็อป เติบโตได้ดีในระยะต่อไป

ปัจจุบัน การลงทุนตั้งต้นด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อผลิตแผงโซลาร์เซลล์ค่อนข้างสูง รวมถึงค่าแผงโซลาร์เซลล์ อินเวอร์เตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่นำเข้าจากจีนถูกกว่าไทย และยังครอบคลุมการรับประกันที่ยาวนาน ตลอดจนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ในระดับครัวเรือนมีการติดตั้งที่ง่ายและให้บริการหลังการขาย ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เน้นนำเข้าแผงและให้บริการติดตั้งแก่ภาคครัวเรือนหรือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กเป็นหลัก โดยต้นทุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กว่า 50% มาจากต้นทุนแปรผันที่ผู้ประกอบการสามารถควบคุมได้เอง เช่น งานติดตั้ง ค่าแรงงาน ค่าทำเรื่องขอใบอนุญาตขายไฟคืน และบริการหลังการขายอื่น ๆ ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถแสวงหาอัตรากำไรส่วนเกินที่มีความยืดหยุ่นสูงเช่นนี้ได้

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

เจาะลึก 4 เครื่องมือวางแผนมรดก

เดอะวิสดอมกสิกรไทย เจาะลึก 4 เครื่องมือวางแผนมรดก ลดภาระภาษี ส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น

กรุงศรี ออโต้ ผนึก ททท. เปิดตัวบริการบัดดี้ท่องเที่ยว

กรุงศรี ออโต้ ผนึก ททท. เปิดตัวบริการบัดดี้ท่องเที่ยวคู่ใจผู้ใช้รถใน GO Travel บนแอปพลิเคชัน GO by Krungsri Auto

กลุ่มสยามกลการ ลุยตลาดอาคารสำนักงาน

กลุ่มสยามกลการ ลุยตลาดอาคารสำนักงาน เปิดตัว “สยามปทุมวัน เฮ้าส์” อาคารสำนักงานอัจฉริยะสีเขียวใจกลางกรุงเทพฯ

ธนชาตประกันภัย รุกหนักออก ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า 

ธนชาตประกันภัย รุกหนักออก ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า คุ้มครองแบตเตอรี่เสียหายเปลี่ยนให้ใหม่ 100%