การบินไทย กำไรไตรมาส 13,661 ล้านบาท

Date:

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ประกาศผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2568 โดยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 51,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 45,955 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.3% มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เท่ากับ 83.3% ใกล้เคียงกับปีก่อน ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องมาจากปริมาณความต้องการการเดินทางของผู้โดยสารที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทฯ ได้มีการขยายฝูงบิน เพิ่มความถี่เที่ยวบิน ส่งผลให้ปริมาณการผลิต (Available Seat Kilometers-ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.1% โดยมีปริมาณขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Seat Kilometers-RPK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.8% จากจำนวนผู้โดยสารรวม 4.33 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.6% 

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 37,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,084 ล้านบาท (8.8%) จากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการให้บริการที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะลดลงประมาณ 1.7% จากปีก่อน อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจ  โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 13,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,586 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไร (EBIT Margin) 26.5%

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,481 ล้านบาท มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย 339 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 และขาดทุนจากการวัดมูลค่าจากตราสารอนุพันธ์ อย่างไรก็ตาม มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ  ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 9,839 ล้านบาท และมี EBITDA หลักหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 12,728 ล้านบาท

โดยบริษัทฯ มีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ทำการบินในไตรมาสที่ 1 รวมทั้งสิ้น 78 ลำ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 5 ลำ  มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 13.7 ชั่วโมงต่อวัน และมีแผนทยอยรับมอบเครื่องบินรุ่นใหม่ Airbus A321 Neo เพื่อเสริมศักยภาพฝูงบินให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยเครื่องบินรุ่นใหม่จะมาพร้อมระบบความบันเทิงส่วนตัวในทุกที่นั่ง และบริการ Wi-Fi ฟรี สำหรับสมาชิก Royal Orchid Plus ทุกระดับสถานะ เพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้โดยสารให้ดียิ่งขึ้นภายในปี 2568 นี้

นอกจากนี้ ในส่วนของการยกระดับประสบการณ์ลูกค้า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ทยอยติดตั้งระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง In-flight Connectivity (IFC) บนเครื่องบินแบบแอร์บัส A330-300 ซึ่งเริ่มให้บริการแล้วบนเครื่องบิน 2 ลำแรก ผู้โดยสารสามารถแชทและส่งข้อความได้แบบไม่จำกัดโดยไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนบริการอินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบเปิดให้ใช้งานฟรีสำหรับสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์ Royal Orchid Plus ตามระดับสมาชิกตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 เปรียบเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 297,753 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,245 ล้านบาท (1.8%) โดยเป็นเงินสดรวมตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำ และหุ้นกู้ ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 124,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,858 ล้านบาท และหนี้สินรวม 242,314 ล้านบาท ลดลง 4,605 ล้านบาท (1.9%) ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 55,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,850 ล้านบาท (21.6%) โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Interest Bearing Debt to Equity) เท่ากับ 4.37 เท่า และ 2.23 เท่า ตามลำดับ ซึ่งดีขึ้นอย่างมากจากก่อนเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ณ สิ้นปี 2562 ที่ 20.66 เท่า และ 12.52 เท่า ตามลำดับ อันเป็นผลมาจากการปฏิรูปธุรกิจและการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีมติอนุมัติการลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ของหุ้นของบริษัทฯ จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1.30 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชี และเมื่อรวมกับกำไรจากการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ส่งผลให้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 บริษัทฯ มีกำไรสะสมตามงบการเงินเฉพาะกิจการ 9,555 ล้านบาท เป็นผลให้ในอนาคตบริษัทฯ อาจสามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลได้

และเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีมติอนุมัติให้จดทะเบียนเลิกกิจการบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (สายการบินไทยสมายล์) ภายหลังดำเนินการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบินสำเร็จลุล่วงตามแผนอย่างดียิ่ง โดยบริษัทฯ รับโอนเครื่องบินแบบแอร์บัส A320 เข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทฯ ครบถ้วน และสายการบินไทยสมายล์หยุดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา ส่งผลให้ผลประกอบการในเส้นทางบินที่ใช้เครื่องบินแบบดังกล่าวทำการบินมีกำไรจากเดิมที่ขาดทุนภายใต้การดำเนินการโดยสายการบินไทยสมายล์ อันมีปัจจัยสำคัญจากปริมาณการผลิต (ASK) จำนวนผู้โดยสาร อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ผลตอบแทนต่อหน่วย (Yield) รายได้จากการบรรทุกผู้โดยสาร สินค้า และไปรษณีย์ภัณฑ์ ที่เพิ่มสูงขึ้นจากความสามารถในการพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบินและโอกาสหารายได้จากการขายแบบเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางบินที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงจากอัตราการใช้เครื่องบินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับความคืบหน้าในการออกจากการฟื้นฟูกิจการ ภายหลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ และได้ดำเนินการจดทะเบียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกรรมการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ส่งผลให้  บริษัทฯ ดำเนินการตามผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการครบถ้วนแล้ว จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยศาลล้มละลายกลางกำหนดนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 4 มิถุนายน 2568 เวลา 9.00 น. ทั้งนี้ บริษัทฯ จะแจ้ง ความคืบหน้าในขั้นตอนถัดไปให้ทราบต่อไป

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

เคทีซี เดินหน้าโครงการปันความรู้ เสริมศักยภาพพนักงาน

เคทีซี เดินหน้าโครงการปันความรู้ เสริมศักยภาพพนักงานพร้อมยกระดับการบริการ

เคทีซีปันน้ำใจกว่า 28 ล้านบาท ให้กับน้องๆ มูลนิธิเด็กโสสะฯ

เคทีซีรวมพลังสมาชิกปันน้ำใจกว่า 28 ล้านบาท ร่วมสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับน้องๆ มูลนิธิเด็กโสสะฯ

เคทีซี มอบทุนสนับสนุนมูลนิธิศุภนิมิตฯ กว่า 29 ล้านบาท

เคทีซี รวมพลังสมาชิกบัตรเครดิตส่งต่อโอกาส มอบทุนสนับสนุนมูลนิธิศุภนิมิตฯ กว่า 29 ล้านบาท

เคทีซีเผยยอดเช่ารถคึกคัก

เคทีซีเผยยอดเช่ารถคึกคัก เส้นทางเมืองรองได้รับความนิยมมากขึ้น