แอร์บัส ประเมินไทยผลิต SAF ไดhกว่า 5 ล้านตันต่อปี

Date:

คุณจูลี่ คิทเชอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของแอร์บัส ซึ่งกล่าวไว้เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ในงาน Airbus Industry Outreach ที่จัดขึ้นในประเทศไทย ว่า

ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้มาเยือนกรุงเทพฯ ในวันนี้ และก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจอย่างจริงใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดในเมียนมาร์ รวมถึงประเทศใกล้เคียงอย่างประเทศไทย

เราทุกคนได้เห็นภาพจากดาวเทียม THEOS-2 ของแอร์บัสที่ถ่ายโดย GISTDA ซึ่งแสดงการเปรียบเทียบพื้นที่ในกรุงเทพฯ ก่อนและหลังเกิดแผ่นดินไหว

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของภาพถ่ายจากดาวเทียมในการประเมินภัยพิบัติ และเรารู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับประเทศไทย ในการนำเสนอแอปพลิเคชันรุ่นล่าสุดนี้

แอร์บัสรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขยายการดำเนินงานในประเทศที่สวยงามแห่งนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา

สายการบินไทยถือเป็นหนึ่งในลูกค้าที่มีความสัมพันธ์ยาวนานที่สุดกับเรา ความร่วมมือของเราเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 นอกจากนี้ เรายังได้จัดหาอากาศยานให้กับบางกอกแอร์เวย์ส ไทยแอร์เอเชีย และไทยเวียตเจ็ท อีกด้วยค่ะ อันที่จริง แอร์บัสยังได้จัดหาผลิตภัณฑ์ให้กับประเทศไทยจากทั้งในส่วนของการป้องกันประเทศ อวกาศ และเฮลิคอปเตอร์ด้วยเช่นกัน

เรายังรู้สึกยินดีที่ศูนย์บริการปฏิบัติการการบินและศูนย์บำรุงรักษาเฮลิคอปเตอร์ของเราตั้งอยู่ในประเทศไทย และเรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความแข็งแกร่งในประเทศไทยต่อไป รวมถึงการสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ ในด้านความยั่งยืน ซึ่งเรามองเห็นศักยภาพอันยิ่งใหญ่ในเรื่องนี้

วันนี้ ดิฉันจะขอนำเสนอแนวทางสู่การลดการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก จากนั้นดิฉันจะขอย้ำถึงความสำคัญของเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน และสุดท้าย ดิฉันจะพูดถึงบทบาทที่ประเทศไทยสามารถมีได้ในการเป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงเหล่านี้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้

แต่ก่อนอื่น ดิฉันขอพาทุกท่านย้อนกลับไปทบทวนว่าเหตุใดการลดการปล่อยคาร์บอนจึงสำคัญ และเหตุใดการเดินทางทางอากาศจึงมีความหมาย

การบินคือพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของโลกอุตสาหกรรมนี้สร้างงานและความเจริญรุ่งเรือง ขับเคลื่อนหนึ่งในสามของมูลค่าการค้าทั่วโลก และสนับสนุนการจ้างงานกว่า 86.5 ล้านตำแหน่งทั่วโลก

การบินได้เชื่อมโยงผู้คนจากหลากหลายพรมแดนและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน โดยเมื่อปีที่ผ่านมามีผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกมากถึง 5 พันล้านคน ดิฉันรู้สึกเสมอว่าภูมิภาคนี้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมการบิน

เฉพาะในประเทศไทย อุตสาหกรรมการบินมีการจ้างงานถึงประมาณ 133,500 คน และก่อนช่วงโควิด อุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนมากกว่า 7% ของ GDP ประเทศ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย มากกว่า 80% เดินทางมาโดยทางอากาศค่ะ สำหรับการเดินทางในระยะทางที่ห่างไกล ซึ่งมักจะต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล หลายครั้งการเดินทางทางอากาศจึงเป็นวิธีการคมนาคมทางเดียวที่มีความเป็นไปได้และเหมาะสมที่สุดในภูมิภาคนี้

การบินมีความสำคัญต่อชุมชนและผู้คนในภูมิภาคนี้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการลดการปล่อยคาร์บอนจากการบินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง่ง ด้วยการลดการปล่อยมลพิษและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจะสามารถส่งต่อพลังแห่งการเดินทางทางอากาศที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้กับคนรุ่นต่อไปได้ เช่นเดียวกับที่เรากำลังทำในปี พ.ศ. 2568

เรายังสามารถทำให้อุตสาหกรรมอากาศยานยังคงเป็นพลังเชิงบวกในวันนี้ โดยมั่นใจได้ว่าจะไม่สร้างภาระให้กับคนรุ่นหลัง

ปี พ.ศ. 2567 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลก และยังเป็นปีแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกทั้งปีสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเพดานระดับอุณหภูมิที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส บางส่วนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้กำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนแล้ว

ในช่วงนี้ ดิฉันมักจะถูกถามอยู่บ่อยครั้งว่า แอร์บัสจะลดความมุ่งมั่นที่มีต่อเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนลงหรือไม่ ซึ่งคำถามนี้เกิดจากการที่หลายรัฐบาลและหลายบริษัทดูเหมือนจะเปลี่ยนทิศทางในด้านนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดิฉันขอยืนยันว่า แอร์บัสจะไม่ละทิ้งพันธกิจด้านความยั่งยืนของเราอย่างแน่นอน เราจะเดินหน้าอย่างมั่นคงเช่นเดิม ความมุ่งมั่นของเราไม่เคยสั่นคลอน ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญสำหรับเป้าหมายของเรา เพื่อการบุกเบิกอุตสาหกรรมการบินและอวกาศที่ยั่งยืน เพื่อโลกที่ปลอดภัยและเป็นหนึ่งเดียวกัน

เราทราบดีว่าการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในอุตสาหกรรมนี้ เป็นเรื่องที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เรายังไม่มีคำตอบทั้งหมดสำหรับทุกคำถาม และเราไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้เพียงลำพัง ทำให้จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์

ดิฉันจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นว่าพันธมิตรของเราในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต่างก็มีความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันกับเราในฐานะประธานคณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศของอาเซียน ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินของภูมิภาคนี้

และประเทศไทยยังเป็นภาคีของโครงการชดเชยและการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภาคการบินระหว่างประเทศ (CORSIA: Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) อีกด้วย

แผนงานการลดคาร์บอน

เพียงในระยะห้าปีที่แล้ว อุตสาหกรรมการบินมักถูกมองว่าเป็น “อุตสาหกรรมที่ยากต่อการลดการปล่อยคาร์บอน” แต่ทัศนคตินั้นได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกในปัจจุบันได้รวมพลังกันเพื่อกำหนดเส้นทางที่ชัดเจน สู่การบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593

แล้วเส้นทางข้างหน้าคืออะไร? กล่าวโดยสรุปแบบที่เข้าใจได้ง่ายว่า การใช้เครื่องบินที่มีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิง การปรับปรุงการจัดการการจราจรทางอากาศและการดำเนินงาน และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels หรือ “SAF” ตามที่มักเรียกในอุตสาหกรรม) จะร่วมกันช่วยลดการปล่อยคาร์บอนส่วนใหญ่ก่อนจะถึงปี พ.ศ. 2593

อย่างไรก็ตาม จะยังคงมีการปล่อยคาร์บอนที่เรียกว่า “การปล่อยคาร์บอนส่วนที่เหลือ” (Residual Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 วิธีการกำจัดคาร์บอน (Carbon Removal) จึงเข้ามามีบทบาทสำหรับการปล่อยคาร์บอนส่วนที่เหลือนี้มีวิธีธรรมชาติในการกำจัดคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่า ประเทศไทยไม่เพียงแต่ได้ให้คำมั่นที่จะหยุดการตัดไม้ทำลายป่า แต่ยังส่งเสริมการปลูกป่าขึ้นใหม่เพื่อทดแทนเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างเครดิตคาร์บอน

นวัตกรรมทางเทคโนโลยียังมีวิธีอื่นในการกำจัดคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ เช่น เทคโนโลยี Direct Air Capture ซึ่งสามารถดักจับก๊าซ CO2 ได้โดยตรงจากชั้นบรรยากาศและกักเก็บไว้ใต้ดินได้อย่างปลอดภัย

แล้วในอนาคตอันไกลล่ะ? ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้ ไฮโดรเจนจะเข้ามามีบทบาทร่วมกับ SAF ในการเป็นเชื้อเพลิงการบินคาร์บอนต่ำสำหรับอนาคต

การลดการปล่อยคาร์บอน: เครื่องบินในวันนี้และวันพรุ่งนี้

ดิฉันขอเริ่มจากการเน้นที่ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงเป็นลำดับแรก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังคงขับเคลื่อนการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงอย่างน่าทึ่ง

จริง ๆ แล้ว การปรับปรุงประสิทธิภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันของเราในฐานะธุรกิจโดยตลอดมา ด้วยเหตุผลที่เรียบง่ายว่าเครื่องบินที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นทำให้สายการบินต่าง ๆ ซึ่งก็คือลูกค้าของเรา มีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

สายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นกำลังทดแทนเครื่องบินเก่า ด้วยเครื่องบินรุ่นใหม่เหล่านี้ เราได้กำลังวางรากฐานหรือวาง ‘ก้อนอิฐ’ ก้อนแรกในทางด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างเครื่องบินอากาศยานแห่งอนาคต

ขณะนี้ วิศวกรของเราได้กำลังวางรากฐานทางเทคโนโลยีสำหรับเครื่องบินทางเดินเดียวรุ่นใหม่ ที่เราคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2570 เราเชื่อว่าเครื่องบินรุ่นใหม่นี้จะมาพร้อมกับปีกที่ออกแบบใหม่ตามหลักอากาศพลศาสตร์ ให้ยาวขึ้น บางลง และเบากว่าในทุกรุ่นที่มีมา เพื่อให้บินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ซึ่งอาจจะมาพร้อมกับเครื่องยนต์ที่เรียกว่า “open fan” ซึ่งสามารถมองเห็นใบพัดที่หมุนอยู่ได้ชัดเจน ต่างจากเครื่องบินในปัจจุบันที่ใบพัดเหล่านี้จะถูกหุ้มไว้ภายในโครงครอบของเครื่องยนต์ เรากำลังทำงานร่วมกับ CFM ผู้ผลิตเครื่องยนต์ที่เป็นพันธมิตรของเรา เพื่อทดสอบเทคโนโลยีเครื่องยนต์ใหม่นี้บนเครื่องบินต้นแบบภายในช่วงปลายทศวรรษ 2570 นี้

เครื่องบินทางเดินเดี่ยวรุ่นใหม่นี้จะสามารถใช้เชื้อเพลิง SAF เพียงอย่างเดียวในการขับเคลื่อนได้ด้วย และนั่นจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงและลดการปล่อยมลพิษ โดยมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องบินรุ่นที่ล้ำหน้าที่สุดในปัจจุบันถึง 20-30%

พลังงานไฮโดรเจน 

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วอนาคตที่ไกลออกไปล่ะ ที่แอร์บัส เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าอากาศยานที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนจะเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของอนาคตในการลดคาร์บอนในภาคการบิน

ไฮโดรเจนถือเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพสูงที่สุดในการขับเคลื่อนเครื่องบินแบบปล่อยมลพิษต่ำ เพราะหากผลิตจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว ไฮโดรเจนจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเลย

บางท่านอาจทราบว่าเมื่อไม่นานมานี้ เราได้เลื่อนแผนการเปิดตัวเครื่องบินที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนลำแรกออกไปจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ในปี พ.ศ. 2578 โดยเราได้เริ่มต้นโครงการนี้ในปี พ.ศ. 2563 และเมื่อมองย้อนกลับไป เราอาจประเมินสถานการณ์ในแง่ดีเกินไปและเชื่อว่าจะทำให้เครื่องบินแบบนี้เกิดขึ้นได้ทันในปี พ.ศ. 2578

ความท้าทายสำคัญในขณะนี้ คือโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตและการกระจายไฮโดรเจนในระดับโลกยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าโครงการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ระหว่างการพัฒนาในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ก็ยังคงเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายหลายประการ ดังนั้นปริมาณไฮโดรเจนอาจยังมีไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานจริงในปี พ.ศ. 2578 ได้

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เราได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญหลายอย่าง ทีมงานของเราได้พัฒนาความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีไฮโดรเจนอย่างล้ำลึก อันที่จริงแล้ว ตอนนี้เราพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการตามแผนการสร้างเครื่องบินรุ่นนี้แล้ว โดยเราได้แก้ไขปัญหาที่อาจจะเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในขั้นเริ่มต้นของการพัฒนาเครื่องบินชนิดนี้ ซึ่งก็คือการเลือกเทคโนโลยีที่จะใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องบิน

หลังจากที่สำรวจตัวเลือกหลาย ๆ แบบ เราได้เลือกระบบขับเคลื่อนด้วยใบพัดที่ใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงไฟฟ้า และขอให้มั่นใจได้ว่า งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนของเราจะยังคงดำเนินต่อไป

โดยสรุปแล้วสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่คือ เครื่องบินรุ่นใหม่ของเราที่มีอยู่ในปัจจุบันกำลังก่อให้เกิดความก้าวหน้าครั้งสำคัญในด้านประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง

เครื่องบินในอนาคตในช่วงปลายทศวรรษ 2573 จะเป็นเครื่องบินทางเดินเดี่ยวที่มีประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงสูงรุ่นใหม่ และเครื่องบินในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นเครื่องบินโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน

นี่คือการคาดการณ์วิวัฒนาการของฝูงบินในอนาคตของเรา

เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF)

ทั้งหมดนี้ได้อธิบายให้เห็นว่าทำไม SAF จึงจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดคาร์บอนในภาคการบิน

ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า เครื่องบินพาณิชย์จะยังคงขับเคลื่อนด้วยน้ำมันที่เคยใช้ในแบบดั้งเดิมที่เป็นนำมันก๊าด (Kerosene) หรือจะเป็นเชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า แต่สามารถทำงานได้ในแบบเดียวกัน และสามารถใช้กับโครงสร้างพื้นฐานการจัดจำหน่ายน้ำมันอากาศยานที่มีในปัจจุบันได้ ซึ่งดิฉันกำลังพูดถึงเชื้อเพลิง SAF นั่นเอง

สิ่งนี้อธิบายว่าเหตุใดปริมาณการลดการปล่อยมลพิษส่วนใหญ่ ซึ่งจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 จึงคาดว่าจะมาจากการใช้เชื้อเพลิง SAF เป็นหลัก แต่ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกันว่า SAF หมายถึงอะไร

SAF เหล่านี้ผลิตจากของที่ทิ้งแล้ว เช่น น้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว และเศษชีวมวลต่าง ๆ เช่น เศษซากจากพืชผลทางการเกษตร ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร สิ่งสำคัญคือเชื้อเพลิงเหล่านี้จะต้องได้รับการรับรองว่ามีความยั่งยืนโดย CORSIA ซึ่งเป็นโครงการชดเชยคาร์บอนในระดับนานาชาติ

ในระยะยาว เชื้อเพลิงเครื่องบินสังเคราะห์ที่มีคาร์บอนต่ำจะผลิตจากไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ซึ่งผลิตจากกระบวนการอิเล็กโทรไลซิสที่ใช้กระแสไฟฟ้ามลพิษต่ำ ร่วมกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดึงออกมาจากชั้นบรรยากาศ

เชื้อเพลิง SAF สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้โดยเฉลี่ย 80% ตลอดวงจรชีวิตของเชื้อเพลิง นับตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการใช้งาน ปัจจุบัน SAF สามารถใช้ขับเคลื่อนเครื่องบินแอร์บัสได้โดยผสมกับน้ำมันก๊าดในสัดส่วน 50% เรากำลังดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องบินของเราจะสามารถบินด้วย SAF ได้สูงสุดถึง 100% ภายในปี พ.ศ. 2573

ปัจจุบัน SAF ยังคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของเชื้อเพลิงการบินที่ใช้ทั่วโลก หากต้องการก้าวไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 เราจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวให้ได้อย่างน้อย 6% ภายในปี พ.ศ. 2573 และสูงถึง 20% ภายในปี พ.ศ. 2578

เป้าหมายเหล่านี้ได้รับการรับรองโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ซึ่งเป็นองค์กรที่กำกับดูแลภาคการบินทั่วโลก คำถามคือการใช้ SAF ได้เติบโตเร็วพอที่จะทันตามเป้าหมายเหล่านี้หรือไม่ หากตอบตามความเป็นจริงก็คือ ยังคงไม่เร็วพอในตอนนี้ ปริมาณการผลิต SAF ทั่วโลกยังเติบโตไม่เร็วเท่าที่ต้องการ แต่ได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปีที่ผ่านมา

หลายคนมองว่า SAF เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก ในด้านหนึ่ง ดังที่ดิฉันบอกไปแล้วว่าปริมาณการผลิตนั้นยังเติบโตไม่เร็วพอ สายการบินจำนวนมากต่างเจอปัญหาในการจัดหา SAF

แต่อีกด้านหนึ่ง SAF ยังคงมีราคาสูงเกินกว่าที่สายการบินจะเข้าถึงในปริมาณมาก ๆ ได้ แล้วความจริงคืออะไรกันแน่ คำตอบนั้นมีทั้งมุมมองในระยะสั้น และระยะยาวให้พิจารณา

อุปทานและอุปสงค์ของ SAF ในปัจจุบัน

เราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องมองสองด้าน ขณะที่ความต้องการของเรามีจำกัด เนื่องจากราคาที่สูง ซึ่งหมายถึงไม่มีการผลิตในระดับขนาดใหญ่ เรายังคาดว่าในเร็ว ๆ นี้มีการจะเริ่มต้นผลิต SAF ในรูปแบบใหม่ เช่น การผลิต SAF จากแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิงอากาศยาน (alcohol-to-jet fuel) ในสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ยังมี “กระบวนการกลั่นร่วม” (co-processing) ซึ่งโรงกลั่นสามารถนำวัตถุดิบหมุนเวียนที่ได้รับการรับรองมาผสมในการกลั่นได้สูงสุด 5% ควบคู่กับกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบตามปกติ การปรับปรุงโรงกลั่นให้สามารถรองรับกระบวนการนี้ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

ความท้าทายด้านอุปสงค์ (Demand หรือ ความต้องการของตลาด)

แทนที่จะเกิดปัญหาการขาดแคลนการผลิต SAF ทั่วโลกในทันที ปัญหาที่พบกลับเป็นการที่อุปสงค์จากสายการบินยังมีไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม สายการบินและผู้ให้บริการชั้นนำจำนวนมากได้ให้คำมั่นที่จะเพิ่มการใช้ SAF ในการดำเนินงาน

สมาคมสายการบินแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Association of Asia Pacific Airlines: AAPA) ได้ตั้งเป้าการใช้ SAF ไว้ที่ 5% ภายในปี พ.ศ. 2573 อย่างไรก็ตาม สำหรับสายการบินโดยรวมแล้ว ราคา SAF ยังคงสูงเกินไป ซึ่งสูงกว่าน้ำมันแบบเดิมราวสามถึงห้าเท่า สาเหตุหลักเป็นเพราะอุตสาหกรรม SAF นั้นยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา

แต่ต้นทุนที่สูงของ SAF นั้นเป็นประเด็นสำคัญ เพราะผู้ผลิตและนักลงทุนที่มีศักยภาพต่างต้องการความมั่นใจความมั่นคงของปริมาณอุปสงค์ ซึ่งเป็นในรูปแบบของคำสัญญาจัดซื้อเป็นระยะเวลาหลายปีจากสายการบินต่าง ๆ

ผู้กำหนดนโยบายในหลายแห่งได้ดำเนินการเพื่อกระตุ้นความต้องการใช้ SAF ตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักรและยุโรป ได้มีการออกข้อบังคับที่กำหนดให้สายการบินต้องใช้ SAF ในสัดส่วนที่กำหนดสำหรับแต่ละเที่ยวบิน

เราเริ่มเห็นหลายประเทศในเอเชียเริ่มจัดทำนโยบาย SAF ระดับชาติ ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10% ภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อให้รองรับอุปสงค์ที่กำลังจะเพิ่มขึ้นหลังปี พ.ศ. 2573 การลงทุนในโครงการ SAF ใหม่ ๆ จำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันนี้แต่ในตอนนี้ ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีกรณีศึกษาทางธุรกิจที่ชัดเจนเพียงพอสำหรับ SAF ทั้งในมุมของผู้ผลิตและสายการบินหลายราย ซึ่งสิ่งนี้กำลังชะลอการเติบโตของตลาด

อย่างไรก็ตาม แอร์บัสเชื่อว่าสถานการณ์นี้สามารถเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าเราสามารถแก้ไขอุปสรรคและก้าวต่อไปได้ สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือเราต้องเร่งสร้างความก้าวหน้าให้ทันเวลา เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในปี พ.ศ. 2573 พ.ศ. 2578 และท้ายที่สุดบรรลุเป้าหมายในปี พ.ศ. 2593

บทบาทของผู้กำหนดนโยบาย

นโยบายที่มีประสิทธิภาพจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง และเราก็ได้เริ่มเห็นนโยบายลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเราได้พูดถึงความสำคัญของการตั้งเป้าหมาย และนโยบายที่ช่วยให้นักลงทุนมองเห็นทิศทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้นแล้ว

เมื่อเกิดการปฏิบัติขึ้นจริง นโยบายเหล่านี้ควรจะเป็นแรงส่งสำคัญที่ช่วยกระตุ้นความต้องการใช้ SAF ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และนำความมั่นคงทางพลังงาน ตัวเลือกในการใช้พลังงาน ดึงดูดการลงทุน รวมทั้งสร้างงานให้เกิดขึ้น

ผู้ผลิตในภูมิภาคเอเชียจะได้รับประโยชน์จากตลาดการส่งออกที่ขยายตัวในญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ รวมถึงสหรัฐอเมริกาและยุโรป ผู้กำหนดนโยบายยังสามารถดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนอุปทานของ SAF ได้ ทางเลือกหนึ่งคือการนำกลไกเกี่ยวกับการประกันรายรับมาใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านรายได้ให้กับผู้ผลิต

เรื่องเหล่านี้ค่อนข้างซับซ้อนที่จะอธิบาย แต่โดยหลักแล้วคือการประกันราคา SAF ให้แก่ผู้ผลิต พร้อมกับสร้างความชัดเจนสำหรับอนาคต ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ในระยะห้าถึงเจ็ดปี ความแน่นอนลักษณะนี้ทำให้ผู้ผลิตมีความมั่นใจที่จะลงทุน ซึ่งกลไกนี้พิสูจน์แล้วว่าได้ผลในหลายภาคอุตสาหกรรม และขณะนี้บางประเทศก็กำลังพิจารณาการใช้แนวทางนี้กับ SAF

โดยภาพรวมแล้ว ดิฉันขอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการที่รัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับดูแลต่าง ๆ เดินหน้าจัดทำมาตรฐานและข้อบังคับสำหรับ SAF ที่สอดคล้องกันในระดับโลก

ศูนย์กลางด้านการบินที่สำคัญหลายแห่งทั่วโลกได้กำลังพิจารณาวิธีการกำกับดูแลเกี่ยวกับ SAF ทางแอร์บัสเราสนับสนุนให้หน่วยงานเหล่านั้นพัฒนากรอบแนวทางที่สอดคล้องกับระเบียบต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในทั่วโลก เช่นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาด้านความยั่งยืนของเชื้อเพลิง เป็นต้น

ตอนนี้ เรามองเห็นแนวทางด้านกฎระเบียบที่แตกต่างกันในสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป สหราชอาณาจักร และทั่วทั้งเอเชีย แนวทางที่สอดคล้องกันในระดับโลกจะช่วยวางรากฐานที่มั่นคงและเป็นธรรมให้กับตลาด SAF ซึ่งจำเป็นสำหรับการดึงดูดการลงทุนให้เพิ่มสูงขึ้น

บทบาทของอุตสาหกรรม

สำหรับอุตสาหกรรมการบิน เราต้องเดินหน้าทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดนี้ แอร์บัสได้กำลังทำงานร่วมกับสายการบิน ผู้ผลิตส่วนประกอบต่าง ๆ ผู้ผลิตเชื้อเพลิง และรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงเหล่านี้

เราเป็นพันธมิตรที่มีกิจกรรมต่อเนื่องในโครงการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศที่มีชื่อว่า “ACT-SAF” ซึ่งมุ่งสร้างขีดความสามารถและสนับสนุนการฝึกอบรมเกี่ยวกับ SAF ในทุกภูมิภาค และเรายังสนับสนุนแนวทางที่เรียกว่า “Book and Claim” (หรือการจองและอ้างสิทธิ์) สำหรับ SAF ด้วยเช่นกัน

SAF อาจเข้าถึงได้ยากสำหรับผู้ให้บริการ โดยเฉพาะในกรณีที่สนามบินขนาดเล็กไม่มีแหล่งสำหรับจัดหาเชื้อเพลิงได้โดยตรง ระบบ Book and Claim ช่วยสายการบิน สามารถจองและชำระเงินสำหรับปริมาณ SAF ที่ใช้จากเครื่องบินที่ใดก็ได้ในโลก และอ้างสิทธิ์การลดการปล่อยคาร์บอนให้กับสายการบินของตัวเองได้

นี่คือจุดที่โครงการ “Book and Claim Demonstrator” ของแอร์บัสเข้ามามีบทบาท ภายใต้ความร่วมมือของเรากับองค์กรว่าด้วยวัสดุชีวภาพที่ยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Biomaterials: RSB) เราจะสนับสนุนการซื้อ การบริหารจัดการ และการขายหน่วยแลกเปลี่ยนในระบบ Book and Claim ให้กับลูกค้าของเรา

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของเราเพื่อเพิ่มการใช้งาน SAF กับผู้ให้บริการการบิน สำหรับภาพรวมของสถานการณ์ตลาด SAF ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคนั้น แม้ตลาดจะเติบโตช้ากว่าที่คาดหวังไว้ในขณะนี้

แต่ในระยะยาว ทิศทางก็มีความชัดเจน โดยมีนโยบาย ความร่วมมือ และโครงการริเริ่มของอุตสาหกรรมจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการวางแผนหรือเริ่มดำเนินการแล้ว สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าความต้องการใน SAF จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว และจะมีอุปทานการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ราคาลดลงได้ โดยใจความสำคัญของเรื่องนี้นั้นชัดเจน ผู้ผลิต SAF ทั้งในระดับโลกและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่ดีมากในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

มีการประมาณว่า วัตถุดิบที่มีศักยภาพสำหรับการผลิต SAF ราว 40% ของทั้งโลกนั้นอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สิ่งนี้ยังสามารถสร้างประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้างได้อีกด้วย การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า อุตสาหกรรม SAF อาจสร้างการจ้างงานได้มากถึงราว 14 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งยังไม่นับรวมถึงงานกว่า 86 ล้านตำแหน่งที่อุตสาหกรรมการบินได้ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนนั้นมีศักยภาพด้านวัตถุดิบรวมกันสำหรับการผลิต SAF อาจจะมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการสูงสุดก่อนเกิดวิกฤตโควิด ประเทศเหล่านี้มีการใช้เชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานรวมกันประมาณ 22 ล้านตัน มีการประเมินว่าประเทศเหล่านี้สามารถผลิต SAF ได้มากถึง 26 ล้านตันต่อปี ดังนั้น การพูดถึงการพึ่งพาตนเองในระดับภูมิภาค หรือโอกาสในการส่งออกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด

SAF ในประเทศไทย

ประเทศไทยมีภาคพลังงานที่ประสบความสำเร็จและมีความมั่นคง ครอบคลุมทั้งพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ด้วยภาคเกษตรกรรมที่แข็งแกร่งประเทศไทยจึงมีศักยภาพอย่างยิ่งในการเป็นผู้ผลิต SAF โดยสามารถใช้วัตถุดิบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกากน้ำตาล เศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว แกลบ ซังและใบข้าวโพด ตลอดจนมูลสัตว์

ขณะนี้ได้มีโครงการหลายแห่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อผลิต SAF จากน้ำมันพืชใช้แล้ว ตัวอย่างเช่นโครงการที่ทางบางจากได้ประกาศไว้ และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ได้เริ่มการเริ่มต้นการผลิต SAF โดยกระบวนการกลั่นร่วม 

หากมองไปในอนาคต เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงอากาศจากแอลกอฮอล์หรือเอทานอล (Alcohol-to-Jet Fuel) ก็นับว่ามีศักยภาพสูงในประเทศไทยเช่นกัน ยุทธศาสตร์ในการเพิ่มจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าบนถนนในประเทศไทย จะช่วยลดความต้องการใช้เอทานอลในภาคการขนส่งทางถนน ซึ่งทำให้มีเอทานอลส่วนเกินมาใช้สำหรับ SAF มากขึ้น

เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นอุตสาหกรรมเอทานอลของประเทศไทยพิจารณาถึงการผลิต SAF ยิ่งไปกว่านั้น การได้เห็นแนวทางความร่วมมือในอุตสาหกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างมาก เพราะแนวคิดลักษณะนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment) สำหรับวัตถุดิบใหม่ ๆ ทางแอร์บัสมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้ทำงานร่วมกับทางรัฐบาลและผู้ผลิต SAF ในประเทศไทย เพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมนี้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามดิฉันขอเน้นย้ำถึงความท้าทายที่สำคัญสองประการ ประการแรก คือการสนับสนุนเทคโนโลยี SAF ใหม่ ๆ ให้สามารถก้าวผ่านช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาไปได้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านการลงทุน

เรายังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนโครงการ SAF ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่ผ่านมา เราได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อร่วมกันศึกษาศักยภาพในการผลิต SAF จากเศษวัสดุของเหลือทางการเกษตร และเราก็พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการผลักดันให้วัตถุดิบชนิดอื่น ๆ สามารถนำมาใช้ในการผลิต SAF ในประเทศไทยเช่นกัน

เรื่องนี้นำไปสู่ความท้าทายประการที่สองของอุตสาหกรรม SAF ในประเทศไทย นั่นคือ การศึกษาทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับวัตถุดิบหลากหลายประเภทที่มีอยู่ในประเทศ ทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ และความยั่งยืนในระยะยาว

เราทุกคนคงเคยได้ยินตัวเลขซึ่งแสดงถึงศักยภาพของ SAF มาแล้วมากมาย สิ่งที่แอร์บัสได้เรียนรู้คือ การเข้าใจเพียงด้านศักยภาพในการผลิตของวัตถุดิบแต่ละประเภทนั้นยังไม่เพียงพอ เรายังจำเป็นต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของวัตถุดิบ ความสามารถในการจัดหา รวมไปถึงต้นทุนในการจัดเก็บและขนส่งด้วย ประเทศไทยได้เริ่มต้นก้าวสำคัญในเรื่องนี้แล้ว โดยได้รวบรวมข้อมูลและแผนที่แหล่งวัตถุดิบในประเทศอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการพัฒนาต่อไป โดยผู้กำหนดนโยบายจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรม SAF ของประเทศไทยให้เติบโตอย่างเป็นรูปธรรม ความสำเร็จของอุตสาหกรรมนี้จะต้องอาศัยการประสานงานในระดับสูง ระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ดิฉันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นผู้กำหนดนโยบายจำนวนมากมาร่วมงานในวันนี้ และได้ทราบถึงการหารือที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับ SAF ในประเทศไทย

ดิฉันสนับสนุนให้ทุกท่านเดินหน้าร่วมมือกันต่อไป ผ่านคณะทำงานด้าน SAF ในอนาคต

การเผยแพร่แผนกลยุทธ์ SAF ระดับชาติอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายการผสม SAF จำนวน 1% ภายในปี พ.ศ. 2569 จะช่วยสร้างความชัดเจนที่จำเป็นสำหรับผู้ผลิตและนักลงทุนที่มีศักยภาพ

บทสรุป

โดยสรุปแล้ว ดิฉันมีความเชื่อมั่นอย่างมากต่อแนวโน้มของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิต SAF

ดิฉันขอขอบคุณรัฐบาลไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ได้ร่วมกันสร้างพื้นฐานที่มั่นคงให้แก่อุตสาหกรรม SAF ในประเทศ โดยประเทศไทยมีความได้เปรียบจากการมีวัตถุดิบสำหรับการผลิต SAF จำนวนมาก และมีวิสัยทัศน์ระยะยาวที่ชัดเจน

ดิฉันมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิต SAF ให้กับโลกได้

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมมือกับภาครัฐ ผู้ผลิต และสายการบินต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อร่วมกันสร้างอุตสาหกรรม SAF ให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืนต่อไปในอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

นักท่องเที่ยวกลุ่ม High Spending สร้างรายได้ 1.74 ล้านล้าน

นักท่องเที่ยวกลุ่ม High Spending ช่วยพยุงรายได้ภาคท่องเที่ยวทดแทนจีนที่หายไป สร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจไทย 1.74 ล้านล้านบาท 

สนามบินสมุย คว้ารางวัล Top 10

บางกอกแอร์เวย์ส และสนามบินสมุย คว้ารางวัล Top 10 สุดยอดสายการบินและสนามบินแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

OR ร่วมกับ บางกอกแอร์เวย์ส นำร่องใช้น้ำมัน SAF

OR ร่วมกับ บางกอกแอร์เวย์ส นำร่องใช้น้ำมัน SAF ที่ผลิตในไทยเป็นครั้งแรก ยกระดับการบินสู่ความยั่งยืน

เงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 68 ลดลง 0.25%

เงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 68 ลดลง 0.25% ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน