สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน เปิดเสวนา THAILAND TAXONOMY 2.0

Date:

สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London: ZSL) จัดเสวนาสาธารณะหัวข้อ “Thailand Taxonomy 2.0: ช่องว่าง ข้อสะท้อน และมุมมองจากภาคประชาสังคม” ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ภายใต้โครงการ UK PACT (Partnering for Accelerated Climate Transitions) โดยร่วมมือกับพันธมิตรโครงการ ได้แก่ บริษัท ป่าสาละ จำกัด (Sal Forest) แนวร่วมทางการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand: FFT) องค์กร Madre Brava และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) โดยงานเสวนาในครั้งนี้ได้เปิดเวทีให้ตัวแทนจากภาคประชาสังคม สถาบันวิจัย และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาส ว่าด้วยการปรับใช้ Thailand Taxonomy ระยะที่สอง

งานเสวนาดังกล่าวได้จัดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมคนทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดย Thailand Taxonomy 2.0 หรือมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (มาตรฐานการจัดกลุ่มฯ) ระยะที่ 2 ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมอีก 4 ภาคเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคการผลิต และภาคการจัดการของเสีย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อวางแนวทางการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืนและน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในกว่า 20 ประเทศทั่วโลกที่พัฒนามาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ของตนเองเพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Thailand Taxonomy ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีความท้าทายด้านเกณฑ์การประเมินและการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ

ในการประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจใดเข้าข่ายว่าเป็น “กิจกรรมสีเขียว” Thailand Taxonomy ใช้ระบบจำแนกประเภทแบบ “สัญญาณไฟจราจร” ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง (ช่วงเปลี่ยนผ่าน) และสีแดง ซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยใช้หลักการสำคัญคือ Do No Significant Harm (DNSH) และ Minimum Social Safeguards (MSS)

ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ในงานเสวนาครั้งนี้ โดยได้นำเสนอภาพรวมของโครงสร้างมาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ฉบับใหม่ ความสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนระดับสากล และกลไกการดำเนินงานในประเทศไทย

ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อธิบายว่า “Thailand Taxonomy 2.0 พัฒนาขึ้นผ่านกระบวนการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพันธมิตรระหว่างประเทศ และข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมในประเทศ โดยแม้ว่าแนวทางจะตั้งอยู่บนหลักวิทยาศาสตร์ มีความโปร่งใส และสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทยได้ แต่การปรับใช้มาตรฐานสากลในบางภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามา ยังคงมีความท้าทาย เมื่อบริบทด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ฉบับนี้จึงถูกออกแบบให้เป็นเอกสารที่สามารถปรับปรุงได้ (living document) เพื่อให้ทันสมัยต่อสถานการณ์ ปลดล็อกโอกาสด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน และช่วยนำทางการเปลี่ยนผ่านจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนไปสู่กิจกรรมที่ยั่งยืน”

ต่อมา ได้เปิดเวทีพูดคุยให้ตัวแทนจากพันธมิตรโครงการ ได้แก่ ZSL, FFT, Madre Brava, TDRI และมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อ Thailand Taxonomy 2.0 โดยเฉพาะประเด็นความกังวลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ DNSH และ MSS รวมถึงความเสี่ยงในการฟอกเขียว (greenwashing) ที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรฐานใน มาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ระยะที่ 2 นี้

สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าทีมวิจัย แนวร่วมทางการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย กล่าวว่า “เราขอขอบคุณ UK PACT ที่สนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างเป็นธรรม Thailand Taxonomy ถือเป็นแนวปฏิบัติที่มีศักยภาพ แต่หากจะให้เกิดประสิทธิผลจริง จำเป็นต้องมีความโปร่งใส ตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และสะท้อนความเสี่ยงที่เกิดขึ้นบนโลกความเป็นจริง ซึ่ง ณ ตอนนี้ เรายังเห็นช่องว่าง เช่น กิจกรรมที่แม้จะผ่านเกณฑ์ แต่ยังสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในระยะต่อไป เราเสนอให้มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาท เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบในระบบโดยรวม”

วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการประเทศไทย Madre Brava กล่าวเสริมว่า “ภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังไม่ได้รับการกล่าวถึงอย่างเพียงพอในเอกสารฉบับนี้ แม้มาตรฐานการจัดกลุ่มฯ จะสื่อถึงผลกระทบจากภาคปศุสัตว์ แต่ยังมีช่องว่างสำคัญ เช่น ประเด็นห่วงโซ่อุปทานและสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เราจึงขอเสนอให้มีการนำหลักการเปลี่ยนผ่านการบริโภคโปรตีนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในมาตรฐานการจัดกลุ่มฯ เพื่อให้การผลิตอาหารในประเทศไทยสอดคล้องกับข้อตกลงปารีส”

ปุณญธร จึงสมาน นักวิจัยโครงการพลาสติก มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การบรรจุภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการจัดการของเสียไว้ใน Thailand Taxonomy 2.0 ถือเป็นก้าวสำคัญ แต่จำเป็นต้องก้าวข้ามการจำแนกตามเกณฑ์ทางเทคนิคและเสนอการปฏิรูปปัญหาเชิงระบบ การลงทุนและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกในปัจจุบันมักเน้นไปที่การจัดการของเสียโดยไม่ได้แก้ไขสาเหตุหลักของปัญหา ซึ่งก็คือการผลิตมากเกินไป นอกจากนี้ แนวทางแก้ไขที่ผิดทาง เช่น การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน จะทำให้มีความต้องการขยะมากขึ้น ลดแรงจูงใจในการลดการผลิตพลาสติกลง และก่อให้เกิดการผูกขาดคาร์บอนจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อีกทั้งยังผลิตออกมาในอัตราที่ไม่ยั่งยืน หากมาตรฐานการจัดกลุ่มฯ สามารถป้องกันและปฏิเสธการใช้แนวทางแก้ไขที่ผิดทางได้ ภาคการเงินก็จะสามารถช่วยพลิกวิกฤตขยะพลาสติกและสภาพอากาศ”

Thailand Taxonomy 2.0 และก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน

งานเสวนาปิดท้ายด้วยข้อเรียกร้องให้คณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทบทวนและเสริมความชัดเจนของเกณฑ์ DNSH และ MSS ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในระยะถัดไป พร้อมทั้งเสนอให้เดินหน้ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เมย์ โม วาฮ์ ผู้อำนวยการสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย กล่าวว่า “ZSL ภูมิใจที่ได้สนับสนุนเวทีเสวนาในครั้งนี้ ภายใต้โครงการ UK PACT ซึ่งตลอด 17 ปีที่ ZSL ได้ดำเนินงานในประเทศไทย เรามุ่งส่งเสริมการเงินที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกับพันธมิตร รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำหนดแนวทาง Thailand Taxonomy โดยเรามีความเห็นว่ามาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ของประเทศไทยสามารถก้าวไปไกลกว่าการเป็นเพียงเครื่องมือด้านการเงินสีเขียว โดยมีศักยภาพในการส่งเสริมการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยและสายพันธุ์ต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น การเสริมสร้างตัวชี้วัดด้านความหลากหลายทางชีวภาพและกลไกคุ้มครองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้”

เกี่ยวกับ UK PACT

UK PACT (Partnering for Accelerated Climate Transitions) เป็นโครงการหลักภายใต้ International Climate Finance (ICF) ของสหราชอาณาจักร โครงการนี้ได้รับการดูและและจัดสรรเงินทุนร่วมกันโดยกระทรวงการต่างประเทศ เครือจักรภพ และการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร (FCDO) และ Department for Energy Security and Net Zero (DESNZ) เงินทุนดังกล่าวมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการดำเนินการตามแผนและนโยบายที่มีอยู่ของประเทศไทยในการบรรเทาผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำด้วยการสร้างศักยภาพของภาคเอกชน สถาบันการเงิน ผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินสีเขียวและการขนส่งที่ยั่งยืน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.ukpact.co.uk

เกี่ยวกับ สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL)

สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2369 และเป็นองค์กรที่อุทิศตนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์และถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั่วโลก รวมถึงมีส่วนสนับสนุนความพยายามในการอนุรักษ์และวิจัยในกว่า 50 ประเทศ สวนสัตว์สองแห่งของสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน คือ ZSL London และ Whipsnade Zoos ยังคงช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้กับผู้คนมาโดยตลอด

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.zsl.org

เกี่ยวกับ Madre Brava

Madre Brava เป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่มีพันธกิจในการสร้างอาหารที่ยั่งยืน 100% ดีต่อสุขภาพ และราคาไม่แพงสำหรับทุกคน เราทำงานร่วมกับกลุ่มต่างๆ ในภาคประชาสังคม รัฐบาล และอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อสร้างระบบอาหารที่เหมาะสำหรับทุกคน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.madrebrava.org

เกี่ยวกับ มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (EJF)

มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (EJF) เกิดขึ้นเพื่อปกป้องธรรมชาติและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย งานของเราในการรักษาความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมมุ่งหวังที่จะปกป้องสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทร ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ สัตว์ป่า และปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ด้วยตระหนักว่าสิทธิอื่นๆ ทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับการมีสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่ปลอดภัย EJF ทำงานในระดับนานาชาติเพื่อกำหนดนโยบายและผลักดันการปฏิรูประบบที่ยั่งยืนเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและปกป้องสิทธิมนุษยชน เราศึกษาและเปิดโปงการล่วงละเมิด และสนับสนุนผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อม ชนพื้นเมือง ชุมชน และนักข่าวอิสระในแนวหน้าของความอยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม กิจกรรมของเรามุ่งหวังที่จะรักษาอนาคตที่สงบสุข เสมอภาค และยั่งยืน ทีมงานของเราทั้งนักวิจัย ทีมสร้างภาพยนตร์ และนักรณรงค์มุ่งมั่นทำงานร่วมกับพันธมิตรภาคประชาชนและผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.ejfoundation.org

เกี่ยวกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ถือเป็นสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยมีประสบการณ์ด้านการวิจัยนโยบายมากว่า 30 ปี หัวข้อวิจัยหลัก ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจมหภาค นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การวิเคราะห์ภาคเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นโยบายพลังงาน นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นโยบายทรัพยากรมนุษย์และสังคม และกฎหมาย

ความโปร่งใส การเปิดเผยผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ ควบคู่กับเสรีภาพในการแสดงออกด้วยความรับผิดชอบ คือส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรของ TDRI กิจกรรมและผลการวิจัยขององค์กรที่ได้รับการเผยแพร่มักได้รับความสนใจจากสาธารณชน ทั้งในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ อินโฟกราฟิก เสวนาสาธารณะ สื่อ และโซเชียลมีเดีย

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.tdri.or.th

เกี่ยวกับ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ป่าสาละเป็นบริษัท “ปลูกธุรกิจที่ยั่งยืน” แห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 เรามุ่งจุดประกายและดำเนินวาทกรรมสาธารณะว่าด้วยธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย ผ่านการจัดสัมมนา อบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการ การผลิตสื่อ สิ่งพิมพ์และออนไลน์ การจัดทำงานวิจัยเรื่องประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญในประเทศไทย ตลอดจนการวัดผลลัพธ์ทางสังคมและผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.salforest.com

เกี่ยวกับ แนวร่วมทางการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (FFT)

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2561 เพื่อติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจธนาคาร และผลักดันผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) อย่างแท้จริง ผ่านการนำมาตรฐาน Fair Finance Guide International (แนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ) มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ

แนวร่วมฯ ประกอบด้วยสมาชิก 5 องค์กร ได้แก่ บริษัท ป่าสาละ จำกัด, International Rivers, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (Foundation for Consumers), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Litigation and Advocacy for the Wants — EnLAW), และ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (Ecological Alert and Recovery Thailand — EARTH)

แนวร่วมฯ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย แนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance International) ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับโลกที่มีพันธมิตรและสมาชิกมากกว่า 150 องค์กร โดยมี Oxfam Novib เป็นผู้ประสานงานหลัก มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความมุ่งมั่นของธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ ในการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่: www.fairfinancethailand.org

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

“ธีระชัย” เตือนรัฐบาลอย่าซ่อนข้อมูลเจรจาสหรัฐขึ้นภาษี 36%

“ธีระชัย” เตือนรัฐบาลอย่าซ่อนข้อมูลเจรจาสหรัฐ ชี้ขึ้นภาษีนำเข้า 36% กระทบเศรษฐกิจไทยหนัก แนะรัฐเปิดข้อมูลเจรจา-ปกป้องผลประโยชน์ชาติ

เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรุนแรงจาก ภาษีสหรัฐฯ 36%

เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรุนแรงจาก ภาษีสหรัฐฯ 36% เสียเปรียบเวียดนามที่ถูกเก็บเพียง 20%

สหรัฐฯ ปรับภาษีนำเข้าใหม่ มีผล 1 ส.ค.2025

สหรัฐฯ ปรับภาษีนำเข้าใหม่ มีผล 1 ส.ค.2025 ใครขึ้น ใครลด?

บสย. ผนึก “เงินดีดี”  “ค้ำประกันสินเชื่อดิจิทัล” เต็มรูปแบบ 

บสย. ผนึก “เงินดีดี” ครั้งแรกในไทย ก้าวสู่ “ค้ำประกันสินเชื่อดิจิทัล” เต็มรูปแบบ เพิ่มศักยภาพช่วย Micro SMEs รายย่อย-อาชีพอิสระ เข้าถึงแหล่งทุน