SCB มองไทยโดนสหรัฐฯ เก็บภาษีสูงกว่าคู่แข่ง

Date:

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) มองภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ไทยอาจโดนเก็บสูงกว่าคู่แข่งสำคัญ เป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทยใน 5 ประเด็นสำคัญ

1 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยอาจเผชิญความเสี่ยงจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ให้คู่แข่ง ซึ่งคู่แข่งหลักของไทยเกือบทั้งหมดถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้ในอัตราต่ำกว่า (ณ อัตราล่าสุด) โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ไทยอาจต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งสำคัญในอาเซียน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ไทยยังอาจเผชิญความเสี่ยงจากการถูกเก็บภาษีสวมสิทธิ เช่นเดียวกับเวียดนาม ซึ่งจะยิ่งเพิ่มต้นทุนการค้า และอาจเผชิญกับมาตรการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดขึ้น

2 หากไทยเจรจายอมเปิดตลาดเสรีให้สินค้าสหรัฐฯ โดยไม่มีเงื่อนไข (กรณีแย่ที่สุด) อุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ โดยเฉพาะสุกร, ไก่เนื้อ และข้าวโพด นับว่ามีความอ่อนไหวสูง เพราะต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก (แม้จะรวมค่าขนส่งมาไทยแล้ว) นอกจากนี้ ไทยยังพึ่งพาผลผลิตในประเทศเป็นหลัก และผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรายย่อย หากรัฐบาลยอมเปิดตลาดกลุ่มสินค้าเหล่านี้เพื่อแลกกับการลดภาษีตอบโต้ ผู้บริโภคในประเทศอาจได้ประโยชน์จากราคาสินค้าที่ถูกลง แต่ก็อาจเผชิญความเสี่ยงความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตและผู้เล่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตในประเทศอาจได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า

3 อุปสงค์ในประเทศจะยิ่งแผ่วลงในครึ่งหลังของปี อาจเห็นการลงทุนภาคเอกชนหดตัว และการบริโภคจะชะลอตัวแรงขึ้นโดยเฉพาะไตรมาส 4 แผนการลงทุนอาจชะลอออกไป ผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีนำเข้าสหรัฐฯ และอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ เก็บไทยที่อาจสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะหากคู่แข่งสำคัญถูกตั้งกำแพงภาษีสหรัฐฯ ต่ำกว่า การลงทุนจากต่างประเทศอาจถูกดึงดูดไปประเทศคู่แข่งแทนได้ นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ-จีนมีข้อตกลงเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราต่ำลงมากจากที่เคยสูงกว่า 100% ในช่วง 1-2 เดือนก่อน อาจทำให้ปัจจัยดึงดูดให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาส่งออกจากไทยไม่มากเช่นเดิม นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงต่อเนื่อง และจะชะลอลงแรงขึ้นในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เต็มที่ อาจทำให้การจ้างงานลดลงตามมา ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศที่จะซบเซาลง ท่ามกลางความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวอยู่ก่อนแล้ว

4 โอกาสมากขึ้นที่จะเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่จะแย่ลงกว่าที่ กนง. เคยประเมินไว้ แต่หากการเจรจาสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จ เศรษฐกิจไทยจะยิ่งเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้น อาจมีโอกาสเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่า 2 ครั้งในปีนี้

5 ภาครัฐควรประเมินผลดีและผลเสียของการเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ ให้ถี่ถ้วนรอบด้าน การเจรจาขอลดภาษีต้องคำนึงถึงความสมดุลเป็นหลัก ทั้งประโยชน์ที่จะได้รับจากอัตราภาษีตอบโต้ที่ลดลง และผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับจากสินค้าภายนอกประเทศที่เข้ามาแข่งขันได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจพิจารณาเปิดตลาดสินค้าบางรายการแบบมีเงื่อนไข โดยไม่ใช่การเปิดตลาดแบบเสรี พร้อมเตรียมเยียวยาผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงการให้สภาพคล่องระยะสั้น การหาตลาดใหม่ และการเร่งยกระดับขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศให้สามารถแข่งขันได้

    Share post:

    spot_img
    spot_img

    Related articles

    กรุงเทพประกันภัย จับมือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ร่วมจัดกิจกรรม

    กรุงเทพประกันภัย จับมือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ร่วมจัดกิจกรรม BKI อาสาพัฒนาบ้านพักคนชรา

    SCB 10X ลงทุนใน Pokee AI 

    SCB 10X ลงทุนใน Pokee AI เพื่อขับเคลื่อนอนาคตของการทำงานอัตโนมัติด้วย AI

    อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ เซ็นสัญญา มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย.

    อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ เซ็นสัญญา มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย. โฮลดิ้ง เสริมแกร่งศักยภาพนิคม พร้อมพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าครบวงจร

    Bybit เผยนักลงทุนคริปโตยุคใหม่ เลือกแพลตฟอร์มที่รับผิดชอบสังคม

    Bybit เผยผลสำรวจนักลงทุนคริปโตยุคใหม่กว่า 50% เลือกแพลตฟอร์มที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม