
สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จัด “การฝึกอบรมพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ภายใต้โครงการการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ๒๕๖๒ และกฎหมายลำดับรอง ครั้งที่ ๔” ขึ้นในเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๘ ณ ห้องประชุมริมน้ำ โรงแรมวังใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีการถ่ายทอดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย การจัดงานมีขึ้นระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๐๐ น.
นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม พร้อมกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในยุคดิจิทัล เนื่องจากภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ ท่านผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานีเห็นว่าการที่ สกมช. ริเริ่มโครงการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัย สามารถรองรับและปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางไซเบอร์ของประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อต่อการดำเนินงานของทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านคุณกิ่งนภา บางชวด ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ได้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า การฝึกอบรมในวันนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ๒๕๖๒ และกฎหมายลำดับรอง รวมถึงเปิดเวทีให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ นักวิชาการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญยิ่งในการปรับปรุงกฎหมายให้มีความสมบูรณ์ เข้มแข็ง และทันต่อสถานการณ์ภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป

ภายในงานมีการบรรยายและประชุมรับฟังความคิดเห็นตลอดทั้งวัน โดยช่วงเช้าประกอบด้วยการบรรยายเรื่อง “ความสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” โดย ศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์, รศ.ดร.ณัฐนนท์ ลีลาตระกูล และ รศ.ดร.สุนิสา ริมเจริญ ในช่วงบ่ายจะเป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ๒๕๖๒ และกฎหมายลำดับรอง โดย ศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์, รศ.ดร.ณัฐนนท์ ลีลาตระกูล และ รศ.ดร.สุนิสา ริมเจริญ