
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้บรรยายในหัวข้อ ‘นโยบายภาครัฐ อนาคตพลังงานทดแทน’ แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ GreenNext Episode 04 พลังงานทดแทนอนาคต เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2568
โดยโครงการดังกล่าวเป็นการจัดร่วมกันระหว่างเครือข่ายเยาวชนฮักสิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน องค์กรภาคกลุ่มเด็กและเยาวชน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เครือข่ายเด็กและเยาวชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับประเทศไทย มีสิ่งที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขหลายประการ โดยเฉพาะการทำให้สิทธิในการดำรงชีวิตของประชาชนเป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ใช่ต้องไปขออนุญาตภาครัฐไปหมดทุกอย่าง หรือที่เรียกว่าระบบกำกับดูแล ซึ่งจะตัดวงจรของการทุจริต ตัดวงจรของการรอเวลาในการอนุญาต ซึ่งเหมาะสมกับอะไรที่ไม่กระทบกับผลประโยชน์ส่วนรวม และควรจะปรับปรุงหลาย ๆ อย่างด้วย
ในเรื่องของพลังงานก็เช่นเดียวกัน การจะลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประเทศได้ คือการทำให้คนเข้าถึงการผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง คือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แต่วันนี้ไม่มีกฎหมายเรื่องนี้โดยตรงทำให้ทุกหน่วยงานอ้างว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนเอง
ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็บอกว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นการทำโรงงานอุตสาหกรรมเพราะเป็นการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นบ้านเรือนที่จะติดตั้งต้องขออนุญาตเป็นโรงงานและขอใบอนุญาตก่อน และหน่วยงานอื่น ๆ ก็อ้างเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะต้องการตรวจสอบโครงสร้างก่อนติดตั้งจากภาครัฐ ทั้ง ๆ ที่เจ้าของบ้านสามารถหาวิศวกรมาเพื่อรับรองโครงสร้างได้เอง ทำให้การขออนุญาตการติดตั้งโซลาร์เซลล์หนึ่งครั้งต้องรอเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี
วันนี้เราจึงต้องมีกฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์โดยตรงและไม่ต้องขอใบอนุญาตเป็นโรงงาน กฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่จะเปลี่ยนรูปแบบจากระบบควบคุมเป็นระบบการกำกับดูแลเพื่อทำให้ง่ายและไม่ต้องมีการขออนุญาตอีกต่อไป ซึ่งในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติได้มีการเสนอกฎหมายฉบับนี้เข้าในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว สำหรับในส่วนที่จะเสนอในนามคณะรัฐมนตรีนั้น ขณะนี้กฏหมายของกระทรวงพลังงานกำลังรอการบรรจุวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี
นอกจากระบบกฎหมายแล้ว เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในภาษีเงินได้ และยังจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์จากทั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) หรือกองทุนส่งเสริมทุนส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานให้เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ที่จะเป็นการส่งเสริมให้คนสามารถเข้าถึงการผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตนเองด้วย
นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า สำหรับพลังงานทดแทนคือพลังงานที่จะนำมาใช้แทนพลังงานที่ใช้ในปัจจุบันที่เป็นพลังงานฟอสซิล ถ้าต้องการให้ได้สิ่งแวดล้อมที่ดี จะต้องเลิกใช้พลังงานฟอสซิลทั้งหมด ซึ่งเป็นที่มาว่าจะต้องหาวัตถุดิบประเภทอื่นมาใช้ผลิตพลังงาน เช่น แดด ลม น้ำ ขยะ เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบจากฟอสซิล คือ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซ
สำหรับการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุด สำหรับไฟฟ้าแรกเริ่มเดิมทีผลิตจากถ่านหินเป็นหลัก และในปัจจุบันก็มีการใช้ในหลายประเทศเพราะเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถหาได้ในประเทศ และมีราคาถูก ในอดีตในประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นหลัก ทำให้ค่าไฟถูก แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการปรับเปลี่ยนจากถ่านหินเป็นก๊าซซึ่งถึงแม้แม้จะเป็นพลังงานฟอสซิลแต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าถ่านหิน แต่การใช้ก๊าซธรรมชาติแทนถ่านหินนั้นก็ต้องแลกด้วยค่าไฟที่แพงมากขึ้น เนื่องจากก๊าซธรรมชาติไม่ได้หาง่ายเหมือนถ่านหิน ต้นทุนการผลิตแพงกว่าถ่านหิน
นี่คือหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟมีราคาแพงขึ้น อีกเหตุผลหนึ่งคือและการให้เอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้ามากเพราะมีการบวกกำไรของภาคเอกชนเข้าไปอีกด้วย
ต่อมานายพีระพันธุ์ ได้กล่าวถึงแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า หรือ PDP ซึ่งแผนนี้จะเป็นกรอบในการกำหนดว่าจะมีการผลิตไฟฟ้าแบบไหนอย่างไร คือมีที่มาจากแหล่งไหนในสัดส่วนเท่าใด ที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นไปที่การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติอย่างเดียว ซึ่งตนเห็นว่าต้องปรับไปใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น
นายพีระพันธุ์เห็นว่าแผนพลังไฟฟ้าจะต้องตั้งเป้าหมายคือ เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนควบคู่กับความมั่นคงทางพลังงานต้องสำรวจพลังงานทดแทนในประเทศว่าสามารถใช้พลังงานทดแทนใดในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้บ้างและเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำ หรือลม และแสงอาทิตย์ที่ประเทศไทยมีมากที่สุด และอีกหนึ่งพลังงานทดแทนที่น่าสนใจ คือ พลังงานชีวมวล เป็นการเผา ขยะมูลฝอย รวมถึงพวกเศษไม้หรือวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร หรือก๊าซที่ผลิตจากมูลสัตว์ ที่กล่าวมาทั้งหมดคือ PDP ควรที่จะสำรวจพลังงานทดแทนทั้งหมดของไทยว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณเท่าใด เพื่อจะสามารถลดปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซลง เมื่อประสบความสำเร็จคือจะทำให้พลังงานไฟฟ้ามีสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างพลังงานทดแทนกับก๊าซและจะทำให้สัดส่วนสีเขียวมากยิ่งขึ้น
“ดีใจที่มีน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ที่สนใจบ้านเมือง ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน แต่ขอให้ใช้เหตุและผลในการทำงาน เพราะประเทศจะเดินไปได้ไม่ใช่ด้วยอารมณ์แต่ด้วยเหตุและผล โดยเฉพาะการทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมที่แท้จริงไม่ใช่ทำงานไปและคิดถึงผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับด้วย นอกจากนี้จะต้องรับฟังความเห็นข้อมูลอย่างรอบด้าน หมั่นหาความรู้ และที่สำคัญที่สุดคืออย่าลืมความเป็นไทย” นายพีระพันธุ์กล่าวในตอนท้าย