‘ตลาดหลักทรัพย์ฯ’ ผนึก ‘พรินซิเพิล’ ถกสินทรัพย์ดิจิทัลกับการลงทุน

Date:

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ บลจ.พรินซิเพิล จัดสัมมนาออนไลน์ “The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 7 สินทรัพย์ดิจิทัลกับการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ” ชูกลยุทธ์จัดพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทเพื่อการเกษียณอย่างมีคุณภาพ รับมือความผันผวนในระยะยาว ชี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปเจอแรงกดดันจากเงินเฟ้อพุ่ง เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย มองตลาดหุ้นจีนกลับมาน่าสนใจ จากปัจจัยบวกของการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนเพื่อรองรับการเกษียณในประเทศไทยมีความท้าทายมากขึ้น ทั้งจากปัจจัยสังคมผู้สูงอายุ เศรษฐกิจที่มีความผันผวน ดังนั้นผู้ลงทุนต้องปรับตัวให้ทัน เลือกการลงทุนใหม่มากขึ้น

นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันพอร์ตการลงทุนมีการจัดสรรลงในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น แต่ในปัจจุบันมีนวัตกรรมการลงทุนใหม่ ๆ ได้แก่ สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นทางเลือกการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ แต่ก็ต้องอาศัยการศึกษาและเข้าใจถึงความเสี่ยงการลงทุนด้วยเช่นกัน

นายศุภกร ตุลยธัญ CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า การลงทุนในช่วงนี้คงเผชิญกับความผันผวนต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ฯ ที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง 9.1% สุดสุดในรอบ 40 ปี ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกรกฎาคม และปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุมที่เหลือของปี จนอัตราดอกเบี้ยขยับเป็น 3.5% ภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระดับ 4.25% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูง

ส่วนกำลังซื้อของประชาชนระดับล่างเริ่มชะลอตัว เช่นเดียวกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มอ่อนแอ เป็นสัญญาณเตือนว่าสหรัฐ ฯ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ช่วงต้นปีหน้า

ทั้งนี้ ท่ามกลางตลาดที่ผันผวนและมีความเสี่ยงสูง การจัดพอร์ตลงทุนควรมีกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Asset Allocation) และการลงทุนต่อเนื่องในระยะยาวนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญกับการลงทุนเพื่อการเกษียณ จากสถิติในอดีตพบว่ายิ่งถือครองสินทรัพย์การลงทุนไว้นานก็ยิ่งช่วยลดโอกาสขาดทุนได้มากขึ้น

ทาง บลจ.พรินซิเพิล จึงได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พรินซิเพิล สมดุลตามอายุ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ที่ตอบโจทย์การจัดสินทรัพย์เพื่อการเกษียณแบบ Asset Allocation ที่มีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายสินทรัพย์ โดยมีนโยบายการลงทุน 2 แบบ ได้แก่

1) แบบ Target Date ซึ่งจะปรับพอร์ตที่ปรับความระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุอัตโนมัติ โดยวัยเริ่มทำงาน เน้นลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น วัยกลางคน เน้นหาสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง และวัยใกล้เกษียณ เน้นรักษาเงินต้น

2) แบบ Target Risk เป็นการลงทุนตามระดับความเสี่ยงของผู้ลงทุน ในลักษณะการลงทุนผ่านกองทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท อาทิ ตราสารหนี้, หุ้นไทย, หุ้นต่างประเทศ, REITs ฯลฯ จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการจัดสัดส่วนสินทรัพย์การลงทุนด้วยตัวเอง

“การทำ Asset Allocation จำเป็นมากกับการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ พบว่า 10 ปีย้อนหลัง นโยบายลงทุนแบบ Target Date ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาดหุ้นไทยที่ 5% ต่อปี แต่มีความผันผวนน้อยกว่าครึ่งนึง แสดงว่าการกำหนดสัดส่วนสินทรัพย์ในระดับที่เหมาะสมช่วยลดความผันผวนได้ในระยะยาว ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการเกษียณคิดว่ายังไม่เหมาะเนื่องจากมีความผันผวนและความเสี่ยงสูง เช่น บิตคอยน์ที่มีค่าความผันผวนมากกว่า 60 % เป็นต้น” นายศุภกร กล่าว

นายพิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฉลกดอทคอม จำกัด กล่าวว่า สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ (Bitcoin หรือสัญลักษณ์ BTC) สามารถลงทุนระยะยาวได้ แต่ไม่เหมาะกับการลงทุนเพื่อการเกษียณ เพราะมีความผันผวนสูงมาก โดยการเก็บเงินเกษียณนั้นมีเป้าหมายเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหลังจากไม่ได้ทำงานประจำ จำเป็นต้องมีการถอนเงินออกมาใช้จ่าย ดังนั้นหากมูลค่าของสินทรัพย์ลดลงมากๆ อาจถูกบังคับให้ขายขาดทุน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสสูญเสียเงินที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิต จึงมองว่าบิทคอยน์ (ไม่รวมการลงทุนในสินทรัพย์หรือเหรียญดิจิทัลสกุลอื่น) เหมาะกับการลงทุนระยะยาวเพื่อเป้าหมายในการรักษามูลค่าสินทรัพย์ เพราะบิทคอยน์มีคุณสมบัติที่ถูกออกแบบให้เป็นเงินดิจิทัลแบบไร้ตัวกลาง สามารถทำธุรกรรมโดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน ต้านทานเงินเฟ้อและป้องกันการแทรกแซงได้ดี

ดร. นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปัจจุบันตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ แบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1) คริปโทเคอร์เรนซี ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน อาทิ บิทคอยน์, สเตเบิ้ลคอยน์ ฯลฯ โดยการออกเสนอขายคริปโทฯ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจสำนักงาน ก.ล.ต. กำกับดูแลในเรื่องการออกเสนอขาย แต่จะกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

2) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนและการลงทุนคล้ายหลักทรัพย์ การเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้นักลงทุนครั้งแรกนั้น เรียกว่า ICO หรือ Initial Coin Offering ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมเปิดเผย White Paper หรือที่เรียกว่า ไฟลิ่งและหนังสือชี้ชวน และมี ICO Portal ซึ่งเปรียบเสมือนที่ปรึกษาทางการเงิน ทำหน้าที่ตรวจสอบและกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ออกและโครงการที่จะระดมทุน และทำหน้าที่ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าว โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการตามที่กำหนด แต่จะแตกต่างจากกรณีของหลักทรัพย์ เช่น กรณี IPO หุ้น ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้น แต่ ICO ผู้ลงทุนจะไม่มีสิทธิในตัวบริษัทผู้ออก โดยจะได้รับผลตอบแทนที่ผูกกับโครงการนั้น ๆ ปัจจุบันมีการพัฒนาการออก ICO จากเดิมที่อาจเป็นเพียงโครงการที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นการนำทรัพย์สินมาเป็นสินทรัพย์อ้างอิง (Asset-backed ICO) เพื่อสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนจากกระแสรายรับที่เกิดจากทรัพย์สินนั้น เช่น Real Estate-backed ICO ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลที่ระดมเงินเพื่อไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และนำไปปล่อยเช่าสร้างรายได้ และนำผลประโยชน์มาแบ่งปันให้แก่ผู้ลงทุน (คล้าย REITs)

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความเสี่ยง สำนักงาน ก.ล.ต. จึงกำหนดให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนใน ICO ได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อการเสนอขายแต่ละครั้ง

3) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิในการแลกสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่น ๆ เช่น Digital Voucher, Native Token, Governance Token เป็นต้น

ซึ่งในกรณีที่ผู้ถือยังไม่สามารถใช้สิทธิได้ทันทีหรือเป็นโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จพร้อมใช้งาน จะต้องได้รับอนุญาตให้เสนอขายจากสำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยไฟลิ่งและหนังสือชี้ชวน และเสนอขายผ่าน ICO Portal แต่ถ้าเป็น Utility Token ที่พร้อมใช้งาน ซึ่งผู้ถือสามารถใช้สิทธิได้ทันทีแล้ว จะได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับอนุญาตให้เสนอขายจากสำนักงาน ก.ล.ต.

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ได้รับความเห็นชอบเป็น ICO Portal จากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว 7 ราย มีการออก ICO แล้ว 2 โครงการ ได้แก่ Real Estate-backed ICO และ ICO ที่เป็นการลงทุนในโปรเจคภาพยนตร์ รวมถึงมี ICO อีกกว่า 10 โครงการที่อยู่ระหว่างการหารือ ส่วนในด้านการเปิดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ตามกฎเกณฑ์ปัจจุบันยังไม่สามารถลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการทบทวน ซึ่งในอนาคตหากจะเปิดให้ลงทุนได้นั้น จะต้องพิจารณาระดับที่เหมาะสมตามความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทด้วย

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

EXIM BANK พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ตลาดการค้าโลก

EXIM BANK จับมือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและพันธมิตร มอบของขวัญปีใหม่สำหรับผู้ส่งออกสินค้าฮาลาล

EXIM BANK จัดงาน EXIM: Excellence in Trust for Sustainability

EXIM BANK จัดงาน EXIM: Excellence in Trust for Sustainability ตอกย้ำความมุ่งมั่นในแนวคิด ESG สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

EXIM BANK ออกมาตรการของขวัญปีใหม่ 2568 

EXIM BANK ออกมาตรการของขวัญพิเศษปีใหม่ 2568 สร้าง “ชีวิตดี มีความสุข ดีต่อใจ” ผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าโลก

บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค อานิสงส์ออเดอร์ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค อานิสงส์ออเดอร์ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร-ออสเวลไลฟ์ ทะลัก หนุนโค้งสุดท้ายผลงานพุ่งทะยาน แตะ175 – 200 ล้านบาท