นายเอกกมล ประสพผลสุจริต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง อาหารสัตว์น้ำ ทูน่า และอาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้าและของบริษัท เปิดเผยว่า รายได้ในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 2,716 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมาก มาอยู่ที่ 254 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งความต้องการสินค้าที่สูงขึ้นนี้ เกิดจากความนิยมในผลิตภัณฑ์แพ็คเกจแบบสุญญากาศที่พกพาสะดวกและมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ และธุรกิจทูน่าจะเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ทั้งความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และการลดลงของปริมาณผลิตภัณฑ์กุ้งและปลา แต่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงก็สามารถชดเชยรายได้ที่ลดลงในกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 แสดงถึงการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยมีรายได้รวม 5,324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.48% จากช่วงเดียวของปีก่อนที่ทำได้ 4,610 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 500 ล้านบาท และในช่วงครึ่งปีแรก 2567 บริษัทฯ มีอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.3% จาก 10.3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 9.4% สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนและความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อแบ่งสัดส่วนรายได้ตามประเภทธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรก 2567 พบว่า กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและปลาป่นมีสัดส่วนยอดขายสูงถึง 53% ของรายได้การขาย เพิ่มขึ้นจาก 44% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการขยายตัวที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะจากปริมาณการส่งออกที่สูงถึง 17,481 ตัน เพิ่มขึ้น 24.68% จากครึ่งปีแรก 2566 ซึ่งมีปริมาณ 14,020 ตัน ส่งผลให้รายได้จากกลุ่มนี้อยู่ที่ 2,832 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากครึ่งปีแรกของปีก่อน
ในส่วนของธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ครึ่งปีแรกมีปริมาณการขาย 5,052 ตัน เพิ่มขึ้น 12% และทำรายได้ 1,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของกำลังซื้อผู้บริโภคในตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ อิตาลี ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีหลังยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ ปริมาณการขายลดลงอย่างมากถึง 42% ในไตรมาส 2 และลดลง 29% ในครึ่งปีแรก เนื่องจากปริมาณการลงลูกกุ้งของเกษตรกรที่ลดลง ทำให้ปริมาณกุ้งออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ยอดขายอาหารปลาก็ลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาสูตรอาหารสัตว์น้ำเพื่อเพิ่มอัตราแลกเนื้อและการจัดการสินเชื่ออย่างรัดกุม
ด้านธุรกิจทูน่า ปริมาณการขายลดลง 29% เหลือเพียง 2,495 ตัน และมีรายได้ลดลง 30% อยู่ที่ 400 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 571 ล้านบาท แม้ว่าราคาทูน่าที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ แต่ด้วยคำสั่งซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็ช่วยให้บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการต้นทุนและรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ยังมีมติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับครึ่งปีแรก 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.4297 บาท กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับปันผล (Record Date) วันที่ 22 สิงหาคม 2567 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 6 กันยายน 2567
“แม้บริษัทจะปรับลดเป้ารายได้การขายลง แต่บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้าอัตรากำไรขั้นต้นเป็น 17-18 % จากเดิมกำหนดไว้ที่ 14-15% หลังครึ่งปีแรกปี 2567 บริษัททำได้แล้วที่ระดับ 19.3% โดยมองว่าธุรกิจส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงครึ่งปีหลังยังเป็นบวกเพราะยังมีปริมาณคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกำลังการผลิตปัจจุบันที่ 56,000 ตัน คาดยังสามารถรองรับการเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ไว้ แม้สภาพเศรษฐกิจอาจมีการชะลอตัวและอาจกระทบกับความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงกลุ่มพรีเมี่ยมด้วยปริมาณการขายของปีที่แล้วที่มีการย่อตัวลง และอาจต้องเผชิญกับราคาต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและกระทบกับอัตรากำไรขั้นต้นบ้าง” นายเอกกมล กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งครึ่งปีหลังน่าจะได้รับผลกระทบความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากมาตรการทางการค้าโดยเฉพาะตลาดในยุโรปที่ส่งหมึกแช่แข็งเป็นหลัก ส่วนตลาดสหรัฐฯ มองว่าสินค้าเพิ่มมูลค่าจะมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ขณะที่ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำด้วยความเข้มงวดการให้สินเชื่อและเร่งรัดหนี้สินเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรจึงลดเป้ารายได้ลงตามผลผลิตกุ้งและปลาที่มีปริมาณน้อย เช่นเดียวกับธุรกิจทูน่าที่ลดเป้ารายได้ลงเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรับคำสั่งซื้อทูน่าให้ดี
สำหรับแผนและงบการลงทุนปี 2567 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงไว้ที่ 535 ล้านบาท โดยจะนำไปใช้สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 431 ล้านบาท ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ 64 ล้านบาท และธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง 40 ล้านบาท